Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะทางเวชกรรม

Posted By Plookpedia | 04 เม.ย. 60
3,726 Views

  Favorite

ลักษณะทางเวชกรรม

โรคไข้หวัดใหญ่ 

มีระยะฟักตัวสั้น ๑-๒ วัน อาการป่วยมักไม่รุนแรง มีตั้งแต่อาการคล้ายไข้หวัดอ่อนๆ จนถึงอาการไข้หวัดรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะโรค มักหายได้เองถ้ามีการพักผ่อนเต็มที่ และมักมีไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน ๓๘-๔๐ องศาเซลเซียส ไข้อาจสูง ได้มากกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บคอ คอแดง ไอแห้งๆ เจ็บหน้าอกเวลาไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล อาจมีอาการเสียงแหบตามมา เสียงปอดปกติ นอกจากในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดลม อาการทั่วไปอาจรุนแรงถึงขั้นนอนซม โดยอาการจะเป็นมาก ประมาณ ๒-๔ วัน แล้วค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ผู้ป่วยบางรายอาจหนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และเบื่ออาหาร นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดกระบอกตา และตาแดงได้

ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุอาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อยโดยไม่มีอาการทางระบบการหายใจ อาจพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

๑. ไข้สูงมาก เพ้อ ชัก หมดสติ พบในเด็กและผู้สูงอายุ
๒. หลอดลมอักเสบเฉียบพลันพบในผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป
๓. ปอดอักเสบขั้นปฐมภูมิพบในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคปอดเรื้อรัง และปอดอักเสบขั้นทุติยภูมิ โดยติดเชื้อ สแตฟีย์โลค็อกคัสออเรียส (staphylococcus aureus) หรือสเตร็ปโตค็อกคัสนิวโมนิอี (streptococcus pneumoniae)
๔. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
๕. โรคเบาหวานกำเริบ
๖. เสียชีวิตเฉียบพลันพบในผู้สูงอายุ (โรคนี้จึงมักเรียกว่า เพื่อนผู้สูงอายุ)

นอกจากนี้อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง ถึงแม้ว่าอาการทางระบบการหายใจจะหายเป็นปกติแล้วก็ตาม การแพร่เชื้อ อยู่ในช่วง ๑ วันก่อนมีอาการ จนถึง ๓-๗ วันหลังจากมีอาการ

โรคไข้หวัดใหญ่นก

ในประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไข้สูง มีอาการทางระบบการหายใจ โดยเฉพาะอาการปอดอักเสบ บางรายมีท้องร่วงร่วมด้วย

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ๒๐๐๙

ลักษณะทางเวชกรรมเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในบุคคล ๒ กลุ่ม คือ 

กลุ่มที่ ๑ เป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีความไวในการรับโรคสูง หรือมีภูมิต้านทานโรคพื้นฐานบกพร่อง ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคมะเร็งระยะสุดท้าย ภาวะอ้วนลงพุง และผู้ที่ปอดทำงานจำกัด อาทิ หญิงที่มีครรภ์แก่ 

กลุ่มที่ ๒ เป็นเด็ก และวัยหนุ่มสาว สันนิษฐานว่าเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ปอดแล้ว ไวรัสไปกระตุ้นเซลล์ในร่างกาย ให้สร้างสารเซลล์กระตุ้นการอักเสบออกมามาก ทำให้อวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะปอด เกิดปฏิกิริยาอักเสบเฉียบพลันรุนแรง จนเสียชีวิตได้ 

ดังนั้น ในผู้ป่วยกลุ่มที่ ๒ จึงมีการดำเนินโรค แตกต่างจากผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่มักพบอาการรุนแรง ในผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก ซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow