Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รูปแบบของตลาด

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
1,090 Views

  Favorite

รูปแบบของตลาด

      นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตลาดคงยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน สถานที่ที่ใช้จัดวางสินค้าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรือนที่พักอาศัย หมายความว่า ที่พักอาศัยเป็นที่ขายของด้วยโดยตั้งแคร่วางขายสินค้าหน้าบ้านและมีฝาทำเป็นแผงกั้นไว้สำหรับปิด - เปิด 
      ตลาดบกที่เป็นตลาดสดจะตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้งซึ่งอาจเป็นลานวัดหรือลานกลางหมู่บ้าน  ตลาดแบบนี้มีลักษณะเป็นแผงติดพื้นดินโดยใช้ใบตองปูรองสินค้าไว้ ส่วนตลาดน้ำส่วนใหญ่ใช้เรือและแพ เป็นที่จัดวางสินค้า พวกพ่อค้าแม่ค้าจะพายเรือไปตามแม่น้ำลำคลอง คลองแยกและคลองซอยต่าง ๆ เพื่อเร่ขายสินค้า ส่วนที่เป็นเรือนแพส่วนมากจะจอดริมตลิ่งใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ขายสินค้าไปในตัวทั้งตลาดบกและตลาดน้ำจะมีเป็นย่าน ๆ ไป   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมืองไทยเริ่มมีการปรับตัวให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกมีการสร้างถนนและขุดคลองขึ้นใหม่หลายสายเพื่อขยายอาณาเขตของเมืองให้กว้างออกไป ถนนที่ตัดใหม่ในสมัยนั้น ได้แก่ ถนนตรง ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ส่วนคลองที่ขุดในรัชกาลนี้ คือ คลองถนนตรง คลองสีลม คลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ คลองดำเนินสะดวก คลองบางลี่ คลองวัดขุน และคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อเมืองขยายออกไปทางใดชุมชนก็มักจะตามไปด้วยเสมอ อาคารบ้านเรือนและร้านค้าที่สร้างขึ้นในระยะนี้มีรูปแบบการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือ เป็นตึกแถว ๑ หรือ ๒ ชั้น ที่มีหลังคาสูงเสมอกัน

 

ตลาด

 

ตลาด

 

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ประเทศไทยได้รับการพัฒนาและปรับปรุงประเทศหลายด้านเพื่อให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ การซ่อมแซมและตัดถนนใหม่ทั้งในและนอกเขตพระนครก็เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญเช่นกัน อาคารร้านค้าของเอกชนที่เกิดขึ้นใหม่ตามสองฟากถนนต้องสร้างขึ้นตามรูปแบบที่ราชการกำหนดโดยพระราชทานเงินทุนพระคลังข้างที่ให้เป็นค่าก่อสร้างก่อนและทางราชการจะเก็บเงินค่าเช่าไปจนกว่าจะครบเงินทุนโดยไม่คิดกำไรและดอกเบี้ยเมื่อครบทุนแล้วจึงคืนสิทธิให้แก่เจ้าของเดิม  ถนนที่มีอาคารร้านค้าเช่นนี้ ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก สามเสน ราชวิถี มหาไชย มหาราช ดินสอ อุณากรรณ จักรเพชร ตรีเพชร ตีทอง พาหุรัด ราชวงศ์ ทรงวาด ข้าวสาร ตะนาว 

 

ตลาด

 

ตลาด


      อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา สังคมไทยเกิดชุมชนที่เป็นย่านตลาดถาวรตามที่ต่าง ๆ ในระดับอำเภอเกือบทั่วประเทศชุมชนที่เป็นย่านตลาดมีผู้คนหลากหลายอาชีพมารวมกัน กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคมสินค้าที่นำมาขายจึงไม่เพียงแต่เป็นของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงของสวยงามซึ่งไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกด้วย นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา บ้านเมืองมีความเจริญขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ตลาดและย่านการค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามเส้นทางคมนาคมทางบกเป็นหลักและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมทางกายภาพเศรษฐกิจและสังคม 

 

ตลาด


      ปัจจุบันเมืองและชุมชนมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิตลักษณะของอาคารบ้านเรือน วิธีการผลิต การขายสินค้า ส่งผลให้ตลาดมีลักษณะรูปแบบต่าง ๆ กัน เริ่มจากตลาดสดขนาดเล็ก ๆ ในหมู่บ้านมาเป็นตลาดระดับกลางหรือตลาดระดับชุมชนริมถนนสายสำคัญ ๆ ที่มีกิจการต่าง ๆ มากขึ้น คือ ประกอบด้วยอาคารตลาดสด ตึกแถว อาคารพาณิชย์ และหาบเร่แผงลอย สินค้า และการบริการ ก็มีหลากหลายมากขึ้นตลาดในลักษณะนี้ ได้แก่ ตลาดพงษ์เพชร ตลาดบางกะปิ ตลาดสะพานควาย ตลาดคลองเตย เป็นต้น  ตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาด ๒ แบบ ข้างต้น คือ ตลาดระดับ ๔ มุมเมือง หมายถึง ตลาดที่เป็นศูนย์กลางของพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น ที่รังสิตจังหวัดปทุมธานี ที่มหาชัยจังหวัดสมุทรสาคร ตลาดสี่มุมเมืองนี้มิได้หมายความว่า มีตลาดอยู่ทั้ง ๔ ทิศของเมืองแต่มีนัยว่าเป็นตลาดที่แบ่งเป็นส่วน ๆ เป็นทิศเป็นทางกันได้  มักประกอบด้วยตลาดสดหลาย ๆ ตลาดตึกแถวอาคารพาณิชย์นับเป็นร้อย ๆ ห้อง ตลอดจนหาบเร่แผงลอยจำนวนมาก การค้าขายและการบริการมีตลอดทั้งวันในระดับที่มากกว่าตลาดระดับกลาง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow