Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สมัยอยุธยา

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
2,363 Views

  Favorite

สมัยอยุธยา 

      ในสมัยอยุธยา ตลาดยังอยู่ตามชุมชนเช่นเดิมแต่รูปแบบของตลาดมีเพิ่มมากขึ้น คือ มีทั้งตลาดบก ตลาดน้ำ และตลาดนัด นอกจากนี้ยังเกิดย่านตลาดซึ่งหมายถึงสถานที่หรือทำเลที่มีการค้าขาย ทั้งแบบถาวรและแบบชั่วคราว คือ มีทั้งการค้าขายทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นและตลาดที่ขายเฉพาะช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น นอกจากนี้ในย่านตลาดยังมีการสร้างโรงเรือนที่ใช้เป็นสถานที่ค้าขายและพักอาศัยด้วย ย่านตลาดนี้มักตั้งอยู่ในที่ที่มีการคมนาคมติดต่อสื่อสารสะดวก ร้านค้าในย่านตลาดจะขายสินค้าต่าง ๆ กันไป ทำให้เกิดสังคมที่มีลักษณะการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย ย่านตลาดนี้มีทั้งที่เป็นตลาดบกและตลาดน้ำ ย่านตลาดบกที่สำคัญในสมัยอยุธยา เช่น ย่านป่าขนมเป็นแหล่งทำขนมขาย มีขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปันนี ย่านป่าเตียบเป็นแหล่งทำตะลุ่ม ตะลุ่มกระจก ตะลุ่มมุก ตะลุ่มเขียนทอง พานกำมะลอและพานหมาก ย่านป่าถ่าน ขายผลไม้ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น ตลาดตีทองขายทองคำเปลว ตลาดป่าชมภูขายผ้า ตลาดแฝดขายเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ไหมลาวและไหมเขมร ตลาดน้อยตรงข้ามวัดพนัญเชิงขายไก่และเป็ด 

 

ตลาดน้ำในสมัยอยุธยา
ตลาดน้ำในสมัยอยุธยา


      สำหรับตลาดน้ำหรือตลาดที่ค้าขายในน้ำที่ใช้เรือแพเป็นพาหนะต่างร้านค้าก็เริ่มมีมากขึ้น  ในสมัยอยุธยาในสมัยนี้มีตลาดน้ำหลายแห่งเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำการคมนาคมจึงต้องอาศัยทางน้ำเป็นสำคัญ  แหล่งชุมชนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมักอยู่ริมแม่น้ำการค้าขายจึงต้องอาศัยทางน้ำด้วยเช่นกัน ตลาดน้ำ ในสมัยอยุธยาที่ปรากฏในพงศาวดาร ได้แก่ ตลาดบางกะจะหน้าป้อมเพชร ตลาดปากคลองคูจามใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ตลาดคูไม้ร้องริมคลองเมืองฝั่งเหนือ และตลาดคลองวังเดิม ส่วนตลาดนัดซึ่งจัดให้มีขึ้นเฉพาะวันที่กำหนด ก็คงมีอยู่ด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow