Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การให้สินเชื่อทางการเกษตรของธนาคารพาณิชย์

Posted By Plookpedia | 12 มิ.ย. 60
7,906 Views

  Favorite

การให้สินเชื่อทางการเกษตรของธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ ได้เข้ามามีบทบาท ในการให้สินเชื่อทางการเกษตร มาเป็นเวลานานแล้ว ดังเช่นจากสถิติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ปรากฏว่า สหกรณ์ที่ได้จัดตั้งขึ้นทั้งสิ้น ๖๐ สมาคม ได้ขอกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ มาเป็นทุนดำเนินงานทั้งสิ้น ๓๐๓,๖๖๘.๗๗ บาท ต่อมาได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ สหกรณ์จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์อีก

ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ธนาคารพาณิชย์ได้เข้ามามีบทบาทในการอำนวยสินเชื่อการเกษตรใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ มีวิธีการแตกต่างไปจากครั้งก่อน คือ เป็นการให้สินเชื่อแผนใหม่ชนิดมี การให้คำแนะนำและกำกับดูแล ซึ่งวิธีการให้สินเชื่อแบบใหม่นี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็น ผู้เริ่มต้นขึ้น และในขณะนั้นเป็นธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว ที่ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรด้วยวิธีนี้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้มีแผนงานธุรกิจเศรษฐกิจชนบทขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเร่งรัดพัฒนาอาชีพของเกษตรกร ด้วยการชักนำเกษตรกร ให้รวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่ม เพื่อเป็นศูนย์อำนวนการทั้งด้านวิชาการ ด้านสินเชื่อ และด้านธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นหนัก ในด้านสินเชื่อการเกษตร ทาง รพช. จึงได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ให้ช่วยอำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกร ที่อยู่ในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การดำเนินงานปรากฏว่า ไม่บรรลุผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเกษตรกรมีหนี้ค้างชำระอยู่มาก โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์จึงลดการให้สินเชื่อลง และจะไม่ยอมให้เพิ่มอีกจนกว่าจะได้มีการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้หมดเสียก่อน

การให้สินเชื่อการเกษตรของธนาคารพาณิชย์นั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความต้องการ สินเชื่อของเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว ปรากฏว่า สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้แก่เกษตรกร โดยตรงนั้น สนองความต้องการของเกษตรกร ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในทำนองเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปริมาณสินเชื่อที่ธนาคาร พาณิชย์ให้แก่ภาคเกษตรกรรมกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาค เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งหมด ก็ปรากฏว่าเป็นจำนวน เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นเอง (พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๗) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก และไม่สอดคล้อง กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีรากฐาน มาจากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาการเป็นหนี้สิน และความยากจนของเกษตรกร อันเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ต่อการพัฒนาการเกษตร ทั้งนี้ เพราะการขาดแคลนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทำให้เกษตรกรต้องหันไปพึ่งผู้ให้กู้เอกชน ซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก และพยายามหาทาง เอาเปรียบเกษตรกรอยู่ตลอดเวลา 

วัตถุประสงค์ 

๑. เพื่อเป็นการลดภาระของเกษตรกร ที่ จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เมื่อมาเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ ก็จะได้เสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ 

๒. เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ เกษตรกร ในการลงทุนพัฒนาการเกษตรของตนเอง และสามารถนำเทคนิคการผลิตใหม่ๆ มาใช้อย่างได้ผล 

เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีนโยบายที่จะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ อำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอแก่ความต้องการ จึงได้มอบหมายให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดย กำหนดเป็นเป้าหมายสินเชื่อการเกษตรขึ้นและให้ ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเป็นปีๆ ไป โดยเริ่ม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ ทั้งนี้ ในการดำเนินการ ยอมให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ใน ๒ ลักษณะ คือ

(ก) ให้กู้โดยตรงแก่เกษตรกร 
(ข) นำฝากที่ ธกส. เพื่อนำไปให้เกษตรกรกู้ต่อ 

เพื่อเป็นการ ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์อำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรมากขึ้น 

การดำเนินงานในปัจจุบัน

จากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาดังกล่าว ได้มีส่วนช่วยให้ปริมาณสินเชื่อ การเกษตรจากสถาบันการเงินในระบบเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มจาก ก่อนมีนโยบายดังกล่าวคือ จาก ๘๓๓.๐ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็น ๗๘,๔๓๙.๔ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ (รวมส่วนที่ฝาก ธกส. ด้วย) อย่างไรก็ตาม สินเชื่อการเกษตรในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ธนาคารพาณิชย์ทำได้เกินเป้าหมาย ที่กำหนดเฉพาะในส่วนของการปล่อยกู้ แก่ธุรกิจการเกษตรเท่านั้น แต่ในส่วนที่ปล่อยกู้แก่เกษตรกรโดยตรง ยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอด ทำให้วงเงินส่วนที่ปล่อยกู้ไม่ได้ตามเป้า และต้องนำไปฝากที่ ธกส. ทำให้ ธกส. มียอด เงินฝากสูงขึ้นตลอด ซึ่งในระยะหลัง ธกส. ไม่ยินดีที่จะรับเงินในส่วนนี้ เนื่องจากมีนโยบายที่จะแสวงหาเงินทุน จากแหล่งที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และจะพยายามระดมเงินฝากจากประชาชนเอง ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ปรับนโยบายสินเชื่อการเกษตรใหม่ เป็นสินเชื่อสู่ชนบท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การอำนวยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ มีคุณภาพ และนำไปปฏิบัติได้ และให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจชนบท รวมทั้ง เพื่อหาทางเปิดกว้างข้อจำกัดของสินเชื่อการเกษตร ที่เหลือปล่อยกู้ไม่ออก และ ธกส. รับฝากต่อไปไม่ไหว โดยบังคับให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการให้ สินเชื่อแก่ภาคเกษตรกรรมจากร้อยละ ๑๓ ของ ยอดเงินฝากคงค้างในปีก่อนหน้านั้น (โดยร้อยละ ๑๑ ให้กับเกษตรกรโดยตรง ที่เหลือร้อยละ ๒ ให้กับธุรกิจการเกษตร) เป็นร้อยละ ๒๐ ของยอดเงินฝากคงค้าง ในปีก่อนหน้านั้น (ร้อยละ ๑๔ ให้กับเกษตรกรโดยตรงและอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในชนบท ที่เหลือร้อยละ ๖ ให้กับธุรกิจการเกษตร) ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้อง ปล่อยสินเชื่อสู่ชนบทใน พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นจำนวน ๑๒๑,๕๔๕.๐ ล้านบาท แยกเป็นส่วนสำหรับ เกษตรกรโดยตรงและอุตสาหกรรมขนาดย่อมใน ส่วนภูมิภาค ๘๕,๐๘๑.๕ ล้านบาท และเป็นส่วนสำหรับธุรกิจการเกษตร (รวมโรงสีข้าว) ๓๖,๔๕๓.๕ ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยส่วนใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาราคาพืชไร่ตกต่ำ โดยเฉพาะข้าว และเป็นการแก้ปัญหาเป็นปีๆ ไป ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคาร พาณิชย์ ๕,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับการเพิ่มการรับ ซื้อข้าว และ ๓,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับการเพิ่มการ รับซื้อข้าวโพด ปอ และปาล์มน้ำมัน ในด้านข้าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคิดอัตราดอกเบี้ยจาก ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ ๑ ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ร้อยละ ๓ ต่อปี ซึ่งเดิมคิด ร้อยละ ๕ ต่อปี และให้เพิ่มวงเงินปล่อยกู้จากร้อยละ ๖๐ ของมูลค่าข้าว ที่รับซื้อไว้ เป็นร้อยละ ๘๐ สำหรับพืชไร่ ธนาคารแห่งประเทศไทยคิด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ ร้อยละ ๕ ต่อปี และเพิ่มวงเงิน ปล่อยกู้ในสัดส่วนเช่นเดียวกับข้าว

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่ให้บริการสินเชื่อทางการเกษตรแก่เกษตรกร

 

 

การอำนวยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แก่ภาคเกษตรกรรม 

ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีอิสระที่จะดำเนินกิจการอำนวยสินเชื่อแก่ภาคเกษตรกรรมตาม แนวทางของตนเอง จะมีการดำเนินการในรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แต่ในหลักการใหญ่ๆ แล้ว จะมีหลักการดำเนินการคล้ายคลึงกัน ซึ่งสามารถแยกพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

๑. วงเงินสินเชื่อ 

ธนาคารพาณิชย์จะให้ สินเชื่อโดยพิจารณาจากหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นสำคัญ ปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยกู้ต่อรายจะแปรผันตามมูลค่า ของหลักทรัพย์ค้ำประกัน เกษตรกร ที่มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยหรือไม่มีเลยหรือต้องเช่าที่ ธนาคารพาณิชย์จะให้สินเชื่อในรูปกลุ่ม ซึ่งจะได้สินเชื่อในวงเงินเพียง ๓,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาทต่อราย และการให้สินเชื่อลักษณะนี้มีน้อยมาก 

๒. หลักประกัน 

กรณีการให้สินเชื่อประเภทรายบุคคล ธนาคารจะให้เกษตรกรจำนองหลักทรัพย์ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างที่ติดอยู่กับ ที่ดิน และหรือเงินฝากเป็นประกันไว้แก่ธนาคาร หรืออาจให้บุคคลที่ธนาคารเชื่อถือเป็นผู้ค้ำประกัน ก็ได้ สำหรับประเภทกลุ่มธนาคาร จะให้สมาชิกในกลุ่มค้ำประกันร่วมกัน และหรือต้องทำสัญญา เงินกู้ระยะสั้นไว้กับธนาคาร โดยยินยอมมอบผลิตผล อันเกิดจากการกู้เงิน เป็นหลักประกันแก่ธนาคารด้วย 

๓. อัตราดอกเบี้ย 

ธนาคารแห่งประเทศไทยให้อิสระกับธนาคารพาณิชย์ในการกำหนด อัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้แก่ภาคเกษตรกรรม โดยสมาคมธนาคารไทยจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูง ให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งถือปฏิบัติ ซึ่งธนาคารชั้นนำจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยขั้นสูงร้อยละ ๑-๑.๕ ต่อปี 

๔. การจัดบริการแก่เกษตรกร 

การกำกับ และการควบคุมการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร ธนาคารจะให้บริการต่างๆ แก่เกษตรกร เช่น การ ให้ความรู้ทางด้านการผลิต ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและข่าวสาร การตลาด การประสาน- งานกับหน่วยงานราชการเพื่อขอรับบริการด้าน สาธารณูปโภค การให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบ สหกรณ์การเกษตร สำหรับด้านการกำกับและ ควบคุมการให้สินเชื่อ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การให้สินเชื่อแก่เกษตรกร เป็นไปตามวัตถุประสงค์มากที่สุด โดยการส่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้า ภายหลังจากที่ได้รับสินเชื่อแล้วเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติดังกล่าว กระทำกันอยู่ไม่กี่ธนาคาร เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่ทางด้านนี้ไม่เพียงพอ และการขยายการดำเนินงานออกไปมาก จะทำให้ต้นทุนการปล่อยกู้ของธนาคารสูงขึ้น 

๕. การประสานงานหรือร่วมโครงการกับสถาบันอื่น

นอกจากธนาคารจะปล่อยสินเชื่อ การเกษตรโดยอิสระเองแล้ว ยังมีการร่วมดำเนิน งานกับหน่วยงานราชการและหรือเอกชนในรูป ของโครงการอีกด้วย โดยทางราชการจะทำหน้าที่ จัดหาที่ดินพร้อมทั้งบริการสาธารณูปโภค เอกชน ทำหน้าที่ปรับปรุงที่ดิน ก่อสร้างโรงเรือน ตลอดจน อบรมเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือก สำหรับธนาคาร พาณิชย์จะทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อ และควบคุม การดำเนินงาน 

เมื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อการเกษตร ของสถาบันการเงินในระบบแล้วพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีบทบาทอย่างสำคัญ ในการอำนวย สินเชื่อให้แก่ภาคเกษตรกรรม โดยใน พ.ศ. ๒๕๒๙ สินเชื่อการเกษตรจากสถาบันการเงินในระบบ จำนวน ๙๒,๔๕๒.๗ ล้านบาท เป็นสินเชื่อจาก ระบบธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ธุรกิจการเกษตร และเกษตรกรโดยตรง โดยไม่รวมส่วนที่นำไป ฝาก ธกส. มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๗,๓๒๖.๖ ล้านบาท (ร้อยละ ๗๒.๘) ที่เหลือ ๒๕,๑๒๖.๑ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๗.๒) เป็นสินเชื่อจาก ธกส. ซึ่งรวมเงิน ที่ธนาคารพาณิชย์นำไปฝาก ธกส. ด้วย อย่างไร ก็ตาม สินเชื่อที่ระบบธนาคารพาณิชย์ให้แก่ภาคเกษตรกรรม ยังมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ระบบธนาคารปล่อยกู้ทั้งหมด แต่สัดส่วน ดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ ๓.๔ ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นร้อยละ ๗.๔ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘

 

ธนาคารพาณิชย์ องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยสินเชื่อให้แก่ภาคเกษตรกรรม

 

เมื่อพิจารณาการปล่อยกู้ของระบบธนาคาร พาณิชย์ตามประเภทของสินค้าพบว่าส่วนใหญ่ จะปล่อยกู้ให้กับการผลิตพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง ตามลำดับ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ปล่อยกู้ให้กับพืช ๒๖,๕๔๗ ล้านบาท (ร้อยละ ๗๐.๑) เลี้ยงสัตว์ ๗,๗๒๐ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๐.๓) และประมง ๓,๖๒๘ ล้านบาท (ร้อยละ ๙.๖) และเมื่อพิ- จารณาตามประเภทของผู้กู้พบว่า ส่วนใหญ่ปล่อยกู้ ให้กับผู้กู้รายบุคคล นิติบุคคลอื่นๆ สหกรณ์การ เกษตร และกลุ่มเกษตรกร ตามลำดับ โดย พ.ศ. ๒๕๒๘ ปล่อยให้แก่ผู้กู้รายบุคคล ๓๒,๗๔๖ ล้านบาท (ร้อยละ ๘๖.๔) นิติบุคคลอื่นๆ ๔,๘๐๘ ล้านบาท (ร้อยละ ๑๒.๗) สหกรณ์การเกษตร ๒๐๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๐.๕) และกลุ่มเกษตรกร ๑๓๗ ล้านบาท (ร้อยละ ๐.๔) การที่ธนาคาร พาณิชย์นิยมการปล่อยกู้แก่ผู้กู้รายบุคคลมากกว่า เพราะว่า การพิจารณาคำขอกู้และการติดตาม กำกับการใช้เงินกู้ทำได้ง่ายกว่า โดยการพิจารณา คำขอกู้ก็จะดูจากหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งการ ปล่อยกู้ผ่านกลุ่มเกษตรกรมีความเสี่ยงสูงเพราะ ใช้เกษตรกรสมาชิกค้ำประกัน ผลคือทำให้เกษตรกร รายเล็กที่ไม่มีที่ดินทำกินค้ำประกันการกู้ จะไม่ได้รับสินเชื่อ หรือได้น้อยกว่าที่ต้องการ สรุปแล้วสินเชื่อ จากระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ ระยะสั้นตามฤดูกาลผลิตหนึ่งๆ และยังเน้นที่การ ผลิตข้าวเป็นสำคัญ 

การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในทาง การเกษตรนี้ เราพอจะมองเห็นได้ว่าหน่วยงาน ที่ตั้งขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ที่น่ายินดี และมีการ ดำเนินการอย่างเป็นหลักเป็นฐาน โดยในการ ดำเนินการแต่ละขั้นตอนมีความมุ่งหวังที่จะปิดกั้น ช่องโหว่ของปัญหาทุกๆ ปัญหา ผลที่ได้นั้น ปรากฏเป็นการช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหา ด้วยมิอาจที่จะแก้ปัญหาให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง 

ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ ให้พิจารณาจัดตั้งธนาคารข้าวของราษฎรขึ้นนั้น ทรงมุ่งเน้นแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภค และปัญหาราคาข้าวที่ไม่ยุติธรรม การจัดตั้งมีวิธีดำเนินการที่รัดกุม สามารถแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นโดยตรงได้ แต่เมื่อได้ดำเนินการแล้ว ได้เกิดปัจจัยที่ก่อตัวขึ้นเป็นปัญหาใหม่อีก อย่างไรก็ตาม พระราชดำริในองค์พระประมุขของชาติ และความคิดริเริ่มของบุคคลผู้มองเห็นปัญหาอย่างแท้จริง ก็ได้เกิดเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ในการแก้ปัญหาหลัก ในทางการเกษตรได้อย่างตรงจุด และแนวคิดของหน่วยงานที่น่าชื่นชมนี้ ก็จะเป็นแนวทางในการพัฒนาการแก้ปัญหาทางการเกษตรต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow