Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ธนาคารข้าว

Posted By Plookpedia | 15 ก.พ. 60
10,531 Views

  Favorite

ธนาคารข้าว
 
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของประชาชน ทั้งหมดอาศัยอยู่ในชนบท และประชาชนเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความเป็นอยู่โดยอาศัยอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ถ้าหากจะคิดถึงพื้นที่ในชนบท ซึ่งมีอยู่ถึง ๕๑๘,๒๖๒.๖ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๙๓.๗ ของพื้นที่ทั้งหมดแล้ว พื้นที่ในการประกอบอาชีพของประชาชนมีอย่างเพียงพอ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้ เพราะระบบการชลประทานของเรายังไม่ดีพอ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก ผลิตผลจึงขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ปีใดที่ธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย ย่อมเกิดผลกระทบต่อการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาการผลิต เนื่องจาก ผลกระทบทางธรรมชาติตลอดเวลา ทำให้ชาวชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา ขาดแคลนข้าวบริโภค และหรือต้องซื้อข้าวบริโภค ในราคาสูง ในส่วนที่สามารถผลิตได้มีปริมาณเพียงพอ ก็ประสบปัญหาการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ปัญหาเหล่านี้ ถมทับชาวชนบท ซึ่งยากจนอยู่แล้ว ให้ยากจนลงไปอีก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปรารภว่า "ขณะนี้ราษฎรต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาสูงทั้งๆ ที่ ข้าวเปลือกมีราคาต่ำ เนื่องจาก พ่อค้าคนกลางแสวงหากำไรเกินควร บางท้องที่ ชาวนาขาดแคลนข้าวบริโภค ในบางฤดูกาล" จึงมีพระราชประสงค์ ให้พิจารณาจัดตั้งธนาคารข้าวของราษฎรขึ้น โดยทั่วไป

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ และที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง โดยให้ปรับปรุงโครงสร้างฉางข้าว ของบ้านท่าส้มป่อย ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งดำเนินโครงการ "กลุ่มออมข้าว ช่วยเหลือคนจน" มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ หลัง จากที่ได้ปรับปรุงโครงสร้างเสร็จแล้ว กรมการพัฒนาชุมชนได้สั่งการให้จังหวัดต่างๆ ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๐

 

 

ข้าว ผลิตผลสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ประสบปัญหาในการผลิต และการซื้อขายตลอดมา


วัตถุประสงค์ 

๑. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้สำนึกใน การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน 
๒. เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนผู้ ยากจนให้ได้กู้ยืมข้าวไปใช้บริโภคและทำพันธุ์ใน ฤดูทำนา 
๓. เพื่อให้ธนาคารเป็นแหล่งกลางในการ รวบรวมข้าวไว้ขายในราคายุติธรรม 
๔. เพื่อให้ผู้มีฐานะดีช่วยเหลืออนุเคราะห์ ผู้ยากจน 

วิธีการดำเนินการ 

การดำเนินงานธนาคารข้าวถือเป็นกิจกรรม ที่มีลักษณะเป็นการให้การสงเคราะห์แก่ประชาชน และเป็นกิจกรรมที่ประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ ในลักษณะชุมชนช่วยชุมชน โดยทางราชการเป็นผู้คอยเสนอแนะแนวทาง ในการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 

๑. การจัดตั้งธนาคารข้าว จัดตั้งในท้องที่ ที่ขาดแคลนข้าวบริโภค ประชาชนยากจน ต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาแพง หรือกู้ยืมจากนายทุน โดยเสียดอกเบี้ยแพง

๒. ข้าวกองทุนของธนาคารเก็บไว้ที่ยุ้งหรือฉาง ที่สร้างขึ้นเป็นส่วนกลาง ถ้าไม่มีฉางกลาง จะฝากไว้ตามยุ้งหรือฉาง ของผู้นำ หรือผู้มีจิตศรัทธาให้ยืมใช้ก็ได้

ฉางข้าว

 

 

๓. ให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแกนกลางในการดำเนินงาน ถ้าท้องที่ใดไม่มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต แต่มีการจัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นแล้ว ให้คณะกรรมการสภาตำบลรับผิดชอบ หากภายหลังได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้น ให้กิจกรรมธนาคารข้าว ขึ้นอยู่กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
๔. ผลกำไร (ดอกเบี้ย) ที่เกิดจากการดำเนินงานธนาคารข้าว ให้นำเข้าเป็นกองทุนดำเนินกิจกรรมธนาคารเท่านั้น

๕. ธนาคารข้าวให้การสงเคราะห์และให้ บริการในลักษณะ ให้เปล่า ให้โดยแลกแรงงาน ให้ยืม และให้กู้ ดังนี้ 

การให้เปล่า 

เป็นการสงเคราะห์แก่ ประชาชนผู้ทุพพลภาพ หรือผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถ ช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากนี้ยังให้การสงเคราะห์ แก่ผู้ประสบภัยต่างๆ อย่างร้ายแรง และมีความ จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบให้ความช่วยเหลือเพื่อ ให้สามารถยังชีพอยู่ได้ เช่น ผู้ประสบวาตภัย อุทกภัย เป็นต้น

การให้โดยแลกแรงงาน 

เป็นการ สงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้เหมือนกลุ่มแรก แต่บุคคล เหล่านี้ยังมีกำลังกายพอที่จะช่วยเก็บกวาดทำความสะอาด บริเวณสถานที่ตั้งธนาคารข้าว หรือช่วยขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง หรือทำงานสาธารณประโยชน์ อื่นๆ ให้กับหมู่บ้านได้ การพิจารณาว่าควรจะให้การสงเคราะห์โดยวิธีนี้แก่ผู้ใด ขึ้นอยู่กับคณะ กรรมการจัดการธนาคารข้าว

การให้ยืม 

เป็นการให้บริการสำหรับ ผู้มีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าสองพวกแรกที่กล่าว มาแล้ว การให้บริการในลักษณะนี้ ผู้ขอรับบริการต้องส่งใช้คืนข้าวที่ยืมไป แต่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย 

การให้กู้ 

เป็นการให้บริการแก่ผู้ที่มี ฐานะดี แต่ขาดแคลนข้าวบริโภคหรือข้าวทำพันธุ์ ในบางฤดูกาล การให้บริการในลักษณะนี้ เสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารข้าวด้วย ดังนั้น ผู้ที่ขอรับ บริการจะต้องมีขีดความสามารถสูงกว่าสามพวกแรก เพราะจะต้องส่งใช้คืนข้าวที่กู้ไป พร้อมทั้งดอกเบี้ย

 

 

ธนาคารข้าว องค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาในการผลิตและซื้อขายข้าวของเกษตรกร

 

 

๖. ทุนดำเนินงาน เนื่องจากธนาคารข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์แก่ประชาชน ผู้ยากไร้เป็นอันดับแรก และให้บริการแก่ประชาชนผู้ที่ขาดแคลนเป็นบางฤดูกาลเป็นอันดับต่อมา โดยวิธีการให้ประชาชนรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น การหาข้าวกองทุน หรือทุนดำเนินงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดหาให้มีปริมาณเพียงพอ เพื่อให้การช่วยเหลือสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ เหล่านั้นเป็นไปอย่างทั่วถึง จึงมีวิธีหาทุน ดังนี้ 

๑) รับบริจาคข้าวหรือเงินจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ข้าราชการและองค์การต่างๆ
๒) จัดทำบุญทอดผ้าป่าข้าวเปลือกตาม ประเพณีโบราณที่เคยปฏิบัติกันมา 
๓) จัดทำโครงการของบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การสาธารณกุศลต่างๆ 
๔) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ให้ยืมเงินบางส่วน โดยไม่คิดดอกเบี้ย เป็นทุนสำรองซื้อข้าว และเมื่อดำเนินการไปแล้ว มีทุนเพียงพอ ก็ใช้เงินสำรองคืนแก่กลุ่มออมทรัพย์ฯ หรือกลุ่มออมทรัพย์ฯ จะใช้เงินทุนสาธารณะบริจาคให้ธนาคารข้าวก็ได้ 
๕) นำผลประโยชน์ที่เกิดจากการให้ กู้ข้าวมาใช้เป็นทุนดำเนินการ 
๖) รับบริจาคทาน (ซะกาต) จากชาวมุสลิม

 

ธนาคารข้าวและยุ้งฉาง บ้านโคกนาดี กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณจังหวัดสกลนคร

 

ผลการดำเนินงานโครงการธนาคารข้าว 

กรมการพัฒนาชุมชนได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบประจำตำบล (พัฒนากร) ทำความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่องของธนาคารข้าว ซึ่ง ปัจจุบันมีธนาคารข้าวที่กรมการพัฒนาชุมชนรับผิดชอบจำนวน ๔,๓๒๐ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๕๗ จังหวัด โดยแยกรายละเอียดได้ดังนี้ 

๑. ธนาคารข้าวในเขตพื้นที่ปกติทั่วไป ที่ จัดตั้งขึ้นตามความต้องการของประชาชน จำนวน ๓,๓๕๕ แห่ง 
๒. ธนาคารข้าวในเขตพื้นที่ยากจน ๓๘ จังหวัด โดยใช้งบประมาณของโครงการเงินกู้ ญี่ปุ่น จำนวน ๗๖๖ แห่ง 
๓. ธนาคารข้าวในเขตพื้นที่ป้องกันตนเอง ชายแดน (ปชด.) ไทย-ลาว, ไทย-กัมพูชา จัดตั้งขึ้นตามหลักยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทางการทหาร เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน ใช้งบประมาณที่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุน จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับศูนย์ อำนวยการร่วม (ศอร.) กองบัญชาการทหารสูงสุด ดำเนินการใน ๙ จังหวัด จำนวน ๕๔ แห่ง 
๔. ธนาคารข้าวในเขตพื้นที่หมู่บ้านอาสา พัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) โดยใช้งบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน ๑๔๕ แห่ง ดำเนินการใน ๕๒ จังหวัด

 

หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) บ้านโคกนาดี กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร

 

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ยังได้ร่วมดำเนินการโครงการธนาคารข้าว กับหน่วยงานอื่นอีก เช่น โครงการธนาคารข้าว ของตำรวจตระเวนชายแดน (ต.ช.ด.) และกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) และอื่นๆ

ความคาดหวังเมื่อดำเนินการเกี่ยวกับธนาคารข้าว

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการธนาคารข้าว สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี หลายท้องที่ได้เชิญชวนประชาชนบริจาคข้าวหรือเงิน เพื่อนำไปจัดกิจกรรมธนาคารข้าว เนื่องในโอกาสวันสำคัญ กรมการพัฒนาชุมชนหวังว่า โครงการธนาคารข้าว จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภคของราษฎร ซึ่งจะทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินที่ประชาชนผู้ขาดแคลนเหล่านั้น ไปกู้ยืมเงินหรือข้าว มาบริโภค โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงอีกด้วย

 

ธนาคารโค-กระบือ

ปัจจุบันเกษตรกรยากจนในชนบทประมาณ ร้อยละ ๒๐ ต้องประสบปัญหาเรื่องขาดโค-กระบือ เพื่อใช้งานในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องเสียค่าเช่าโค-กระบือ ในอัตราสูง คิดเป็นผลิตผลข้าว ไม่น้อยกว่า ๕๐-๑๐๐ ถัง ต่อโค-กระบือ ๑ ตัว ในหนึ่งฤดูการทำนา นอกจากนี้ เกษตรกรยากจนเหล่านี้ ก็ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของโค-กระบือได้เลย เนื่องจากราคาสูง และต้องใช้เงินสดในการซื้อ ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโครงการ ธนาคารโค-กระบือขึ้น เพื่อให้เกษตรกรยากจนได้พ้นจากสภาพปัญหาดังกล่าว

"...ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวม โคและกระบือโดยมีบัญชีควบคุมดูแลรักษา แจก- จ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลก ที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบัน มีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุ่นแรง ในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่า มีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคกระบือมาเลี้ยง เพื่อใช้แรงงาน

ธนาคารโคและกระบือพอจะอนุโลมใช้ได้ เหมือนกับธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งที่มีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคหรือกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม ใครจะสมทบ ธนาคารโคและกระบือก็ไม่จำเป็นต้องนำโคหรือกระบือไปมอบให้ อาจบริจาคในรูปของเงิน..."

พระบรมราโชวาทซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันพืชมงคล ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ เพื่อให้เกิดประสิทธิผล

วัตถุประสงค์ 

๑. เพื่อให้เกษตรกรยากจนเป็นเจ้าของ ลูกโค-กระบือ ซึ่งเกิดจากแม่โค-กระบือที่ให้ยืม เพื่อการผลิตลูกและใช้งาน โดยแบ่งครึ่งจำนวนลูกโค-กระบือกับธนาคาร 

 

กระบือ ปัจจัยในการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการทำนา ของเกษตรกร

 

๒. เพื่อให้เกิดระบบธนาคารโค-กระบือ อย่างแท้จริง ลูกโค-กระบือที่เกิดใหม่ จะเป็นของหมู่บ้าน โดยมอบให้คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) หรือ อพป. เป็นผู้บริหารงานการจัดสรร และคัดเลือกเกษตรกรที่สมควรให้ยืม เพื่อการผลิตต่อไป ซึ่งเป็นการใช้โค-กระบืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผล

๓. เพื่อเป็นแกนกลางและเป็นแบบอย่าง ให้องค์กรเอกชนดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

วิธีดำเนินการ 

๑. การจัดหาโค-กระบือให้ยืมเพื่อการผลิตและใช้งาน 

โครงการจะจัดหาแม่โค-กระบือ ให้แก่เกษตรกรยากจนยืมครอบครัวละ ๑ ตัว โดยผู้ยืมจะต้องแบ่งลูกโค-กระบือที่เกิดมาคนละครึ่ง กับธนาคารโค-กระบือ ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้บริหารธนาคาร ทั้งนี้โดยราษฎรในหมู่บ้าน มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของธนาคาร โดยลูกตัวที่ ๑ จะเป็นของธนาคาร และลูกตัวที่ ๒ จะเป็นของราษฎรผู้ยืม ทั้งนี้ แม่โค-กระบือยังเป็นของโครงการฯ อยู่ เมื่อลูกตัวที่ ๒ โตพอที่จะใช้งานได้แล้ว ธนาคารจะนำแม่โค-กระบือคืน เพื่อนำไปให้ราษฎรรายอื่นยืมต่อไป โดยการยืมนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากปศุสัตว์อำเภอ เพื่อทำสัญญาการยืมกับโครงการฯ ส่วนลูกโค-กระบือที่เป็นของธนาคาร ทางคณะกรรมการ กม. หรือ อพป. จะเป็นผู้พิจารณาว่า จะให้ราษฎรผู้ใดยืม ทั้งนี้โดยให้ปศุสัตว์อำเภอร่วมให้ความเห็นชอบด้วย

๒. การคัดเลือกเกษตรกรผู้ยืมโค-กระบือ

พิจารณาจาก 

๒.๑ ระดับรายได้สุทธิต่อปี คือ จัดกลุ่มเกษตรกร ที่มีรายได้ที่หักค่าใช้จ่าย ในการประกอบอาชีพแล้ว ที่อยู่ในจำนวนใกล้เคียงกัน ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 

๒.๒ การเช่าที่ดิน และโค-กระบือ เกษตรกรผู้ใดที่เช่าทั้งที่ดิน และโค-กระบือ จะได้รับการพิจารณาก่อนคนที่เช่าเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้จะพิจารณาระดับรายได้ด้วย 

คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือก เกษตรกรยากจนที่มีรายได้ต่ำ จำเป็นต้องเช่าโค- กระบือ มีความประพฤติดี และขยันขันแข็ง จะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกก่อน แล้วจะลดหลั่นลงมา โดยดูจากรายได้และการเช่าปัจจัยการผลิต นอก จากนั้นในหมู่บ้านใดที่มีวัด จะได้เชิญพระภิกษุ- สงฆ์หรือเจ้าอาวาสมาร่วมในการพิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลด้วย เพื่อให้ได้บุคคลที่เชื่อถือได้ และมีความรู้สึกผูกพันกับวัด ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ ดำเนินการไปอย่างได้ผล

 

โค ปัจจัยในการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำนาของเกษตรกร การจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ เพื่อให้เกษตรกรที่ยากจนยืม เพื่อการผลิตและใช้งาน นับเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีทุนหรือมีปัจจัยอย่างหนึ่ง ในการดำเนินงาน

 

๓. การจัดหาโค-กระบือ 

เมื่อกรมปศุสัตว์ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว จะพิจารณาจัดสรรเงินให้จังหวัดต่างๆ เพื่อจัดซื้อโค-กระบือ สำหรับใช้ตามโครงการ ในการจัดซื้อ ควรให้เกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือกให้ยืมโค-กระบือ เป็นผู้ร่วมในการจัดหา และควรที่จะจัดซื้อในท้องที่ ที่จะดำเนินโครงการ ถ้าจำเป็นต้องซื้อในท้องถิ่นอื่น ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ ถือเป็นงบประมาณดำเนินการ 

๔. การทำสัญญา 

ทางจังหวัดจะมอบอำนาจให้อำเภอทำสัญญาแทน โดยมีประธานสภาตำบล ประธานกรรมการหมู่บ้านเป็นพยาน และให้ใช้เอกสาร ตามที่โครงการนี้ได้กำหนดไว้ โดยผู้ยืมโค-กระบือจะต้องมีผู้ค้ำประกัน หรือผู้รับรอง ในกรณีที่หาไม่ได้ คณะกรรมการจะเป็นผู้หาให้ 

๕. การดำเนินการเกี่ยวกับการยืมโค-กระบือเพื่อการผลิต

เมื่อลูกโค-กระบือของธนาคารฯ มีอายุ ๑๘ เดือน ให้ดำเนินการ ดังนี้ 

๑) หากลูกโค-กระบือของธนาคารฯ เป็นตัวเมีย ให้คณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณา คัดเลือกเกษตรกรยากจนตามข้อ ๒ และนำโค-กระบือไปให้ผู้ได้รับการคัดเลือกยืม เพื่อการผลิตและใช้งานต่อไป ทั้งนี้ต้องรายงานเสนอให้ปศุสัตว์อำเภอเห็นชอบด้วย อนึ่ง ถ้าคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นว่า จะสามารถหาผู้ยืมลูกโค-กระบือได้ ก่อนที่ลูกโค-กระบือจะมีอายุถึง ๑๘ เดือน ก็สามารถดำเนินการได้ 

๒) หากลูกโค-กระบือของธนาคาร เป็นตัวผู้ ให้ กม. พิจารณาแลกเปลี่ยนเป็นตัวเมียกับเกษตรกรที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ ให้จำหน่าย และรวบรวมเงินไว้เป็นทุน สำหรับซื้อโค-กระบือตัวเมีย เพื่อใช้ในการดำเนินงาน 

๓) เมื่อลูกโค-กระบือตัวที่ ๒ อายุ ครบ ๑๘ เดือน ผู้ยืมจะได้รับลูกโค-กระบือตัวนี้ และทางโครงการฯ จะนำแม่โค-กระบือไปให้ราษฎรยากจนรายอื่นยืม เพื่อการผลิตต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow