Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คุณค่าของจารึกวัดพระเชตุพน

Posted By Plookpedia | 21 มิ.ย. 60
1,154 Views

  Favorite

คุณค่าของจารึกวัดพระเชตุพน 

      ๑. เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาอันบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของชาวสยามประเทศมิเพียงแต่จะต้องจำกัดว่าเป็นของชาวรัตนโกสินทร์เท่านั้น หากย้อนกลับไปถึงอยุธยาซึ่งเป็นต้นเค้าที่บ่งบอกถึงมาตรฐานการศึกษาของคนไทยแต่โบราณ วิชาการนั้นอาจแบ่งได้ดังนี้ 

  • สาขาวิชาอักษรศาสตร์ ได้แก่ การแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานของร้อยกรองที่คนไทยพึงรู้และแต่งได้ ส่วนร้อยกรองในระดับสูงก็ คือ โคลงกลบท โคลงกลบทอักษร กลอนกลบท และกลอนกลอักษร ในด้านร้อยแก้วก็มีวรรณคดีที่มีคติสอนใจทั้งทางโลกและทางธรรม
  • สาขาแพทยศาสตร์ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นแพทยศาสตร์โบรา ว่าด้วยตำรายาแก้โรคและตำราหมอนวด  ความรู้เหล่านี้ได้ผ่านการเลือกสรรและตรวจสอบเป็นอย่างดีเพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ การใช้ภาพเขียนหรือสาธิตประกอบรวมทั้งรูปหล่อของฤาษีล้วนแต่เป็นการเสริมความเข้าใจของผู้ศึกษา กล่าวกันว่าแม้กระทั่งพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคก็มีการนำมาปลูกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ

 

ต้นไม้ที่มีสรรพคุณรักษาโรคในตำรายาไทย
ต้นไม้ที่มีสรรพคุณรักษาโรคในตำรายาไทย

 

  • สาขาช่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งศิลปะช่างในแขนงอื่น ๆ เช่น การหล่อ การปั้น การสลัก ล้วนแต่เป็นศิลปะชั้นครูทั้งสิ้น

 

ตุ๊กตาหินฝรั่งซึ่งเป็นอับเฉามาจากเมืองจีน
ตุ๊กตาหินฝรั่งซึ่งเป็นอับเฉามาจากเมืองจีน

 

      ๒. เป็นสถานศึกษาของปวงชนชาวไทย แต่เดิมการศึกษาของชาวไทยจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ผู้ใกล้ชิดกับราชสำนักไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางอีกทั้งเนื้อหาของสรรพวิชาทั้งปวงได้บันทึกไว้ในสมุดไทยหรือใบลาน  แต่เนื่องจากการเผยแพร่สมุดไทยหรือใบลานในยุคที่การพิมพ์ยังไม่เกิดขึ้นก็ คือ การคัดลอก ซึ่งเป็นวิธีที่จำกัดการเผยแพร่ความรู้ประกอบกับพื้นอุปนิสัยของคนไทยโบราณ มักหวงแหนความรู้ซึ่งถือว่าได้สะสมถ่ายทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษผู้มีโอกาสเรียนรู้ก็จะเป็นบุคคลในราชสกุลเท่านั้นด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร  ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะให้วัดพระเชตุพนเป็นสถานศึกษารวมของมหาชนซึ่งในสมัยหลังเรียกว่า มหาวิทยาลัยนั้น นับเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการศึกษาของไทย 
      ๓. เป็นหลักฐานที่แสดงมาตรฐานการศึกษาและโลกทัศน์ของชาวไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการแสดงถึงความชาญฉลาดความรอบรู้ในวิชาการ รวมทั้งความรู้ในเรื่องชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามามีสัมพันธไมตรีกับคนไทยในสมัยนั้น เช่น โคลงภาพคนต่างภาษา 
      ๔. ภาษาและอักขรวิธีที่ปรากฏในจารึกแต่ละหลักเป็นหลักฐานที่แม่นยำชัดเจนที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาภาษาไทย ทั้งการสะกดคำ เครื่องหมาย ภาษาที่ใช้ รวมทั้งลายจารึกหรือนัยหนึ่งลายมือที่งดงามประณีตบ่งบอกถึงความเป็นผู้มีวัฒนธรรมและการศึกษาอย่างสูง 
      ๕. เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยในด้านการศึกษาเพราะการศึกษาย่อมก่อเกิดให้ประชาชนได้มีพัฒนาการในด้านสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถ ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญประเทศใดที่มีประชาชนที่มีคุณภาพประเทศนั้นก็จะเจริญ  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้บ่งบอกให้เราทราบว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในการติดต่อและมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยและได้นำความเจริญทางด้านหนังสือและเทคโนโลยีมาเผยแพร่ให้แก่ชาวไทยซึ่งการที่จะรู้ “เท่าทัน” ชาวต่างชาติได้นั้นก็คงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่าการเตรียมประชาชนในประเทศให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพร้อมที่จะเลือกสรรภูมิความรู้ที่เหมาะสมกับประเทศมาใช้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow