Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เนื้อหาของจารึกวัดพระเชตุพน

Posted By Plookpedia | 21 มิ.ย. 60
3,323 Views

  Favorite

เนื้อหาของจารึกวัดพระเชตุพน

      เนื้อหาของจารึกวัดพระเชตุพนแบ่งได้เป็น ๕ หมวด ดังนี้

หมวดพระพุทธศาสนา 

ว่าด้วย 

  • เรื่องราวของพระสาวกเอตทัคคะ (หรือผู้เป็นเลิศ) ๔๑ องค์ จารึกเหล่านี้ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถ เนื้อหาอธิบายถึงประวัติของพระเถระแต่ละรูปตั้งแต่ถือกำเนิดมามูลเหตุที่ออกบวชและคุณสมบัติพิเศษของพระเถระแต่ละองค์ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเถระที่เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังเช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระปิณโฑลภารทวาชะ และพระอนุรุทธ
  • เรื่องราวของพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์ จารึกอยู่ที่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ (เรียกเป็นสามัญว่า วิหารพระนอน) เนื้อหาเป็นไปในทำนองเรื่องของพระสาวก ตัวอย่างพระสาวิกา เช่น พระมหาประชาบดีโคตมี พระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี และพระปฏาจาราเถรี
  • เรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน จารึกอยู่ที่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
  • อรรถกถาชาดก คือ เรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีตที่ได้บำเพ็ญบารมี ๕๔๗ พระชาติ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจารึกนี้อยู่ที่บริเวณคอสองของผนังในศาลาราย ๑๖ หลัง อรรถกถาชาดกสำนวนนี้อาจถือได้ว่าเป็นฉบับย่อฉบับแรกสุดที่คงเหลือมาถึงปัจจุบันใช้กำกับใต้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องชาดกเพื่อเป็นสื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจ  ในปัจจุบันภาพจิตรกรรมเลือนหายหมดสิ้น และศาลารายถูกรื้อลงจารึกจึงไม่สมบูรณ์
  • อสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐ จารึกอยู่ที่พระวิหารทิศตะวันออก เนื้อเรื่องว่าด้วยอสุภ ๑๐ และความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ญาณ ๑๐

 

เนื้อหาของจารึกวัดพระเชตุพน

 

หมวดวรรณคดีร้อยกรอง 

ว่าด้วย 

  • โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์จารึกอยู่ใต้ภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ ๑๕๒ ภาพ ซึ่งติดที่พนักรอบพระอุโบสถ เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่ทศกัณฐ์ลักนางสีดาจนถึงพระลักษมณ์ทำศึกกับมูลพลัมซึ่งเป็นอสูรตนสำคัญที่มาช่วยทศกัณฐ์รบกับฝ่ายพระราม  ในปัจจุบันโคลงภาพอักษรเลือนลางมากแต่ภาพจำหลักยังปรากฏครบถ้วน
  • โคลงโลกนิติ มีจำนวน ๔๒๐ บท เป็นพระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระเดชาดิศร กวีที่มีชื่อเสียงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกไว้ที่ผนังด้านนอกศาลาทิศพระมณฑป โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีคำสอนที่มีชื่อเสียงของไทย เนื้อหาที่สอนอาจจัดเป็นหัวข้อต่าง ๆ เช่น คุณค่าของ ความรู้ คนดี-คนชั่ว คนฉลาด-คนโง่ พระราชา อำมาตย์ บุรุษ-สตรี และมิตร คำสอนในโลกนิติมีเนื้อหาที่ทันสมัย ให้คติสอนใจ จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  ในปัจจุบันจารึกยังมีอยู่เว้นแต่ด้านตะวันออกซึ่งได้รื้อลงในรัชกาลที่ ๔
  • กฤษณาสอนน้องคำฉันท์เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสจารึกอยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ เรื่องกฤษณาสอนน้องเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาอาศัยชื่อตัวละครจากเรื่องมหาภารตะ คือ นางเทราปที แต่ในฉบับไทยแปลงเป็นนางกฤษณา นางกฤษณามีสวามี ๕ คน แต่ได้ปรนนิบัติสวามีทั้ง ๕ ด้วยความจงรักภักดี และมีจริยาวัตรที่งดงามจึงผูกจิตสวามีได้โดยไม่ต้องอาศัยเวทมนตร์  กล่าวสั้น ๆ คำสอนของนางกฤษณาก็ คือ แบบฉบับของสตรีไทยที่พึงเป็นคำฉันท์บางบทได้รับการอ้างถึงบ่อยครั้ง
  • ฉันท์พาลีสอนน้อง สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส  จารึกอยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้ ฉันท์พาลีสอนน้องเป็นวรรณกรรมคำสอนข้าราชการถึงแนวทางปฏิบัติในการรับราชการใกล้ชิดพระราชาและปลูกฝังความจงรักภักดี  เรื่องพาลีสอนน้องเป็นคำสอนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยผู้แต่งใช้โครงเรื่อง จากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพาลีถูกศรพระรามใกล้จะสิ้นชีวิตได้เรียกสุครีพซึ่งเป็นน้องและองคตซึ่งเป็นบุตรมาสั่งสอน เนื้อหาคำสอนมาจากวสติวัตรซึ่งเป็นคำสอนในอรรถกถาชาดกเรื่อง        วิธุรบัณฑิตชาดก (ลำดับที่ ๕๔๕)
  • สุภาษิตพระร่วงเป็นสุภาษิตโบราณโดยอาจมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จารึกอยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศเหนือเข้าใจว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสคงจะทรงดัดแปลงแก้ไขจากสุภาษิตของเก่าพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ถึงแม้สุภาษิตพระร่วงจะเป็นสุภาษิตสั้น ๆ แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะมีเนื้อหาคมคาย กะทัดรัดให้แง่คิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า  โดยเริ่มจากวัยต้นของชีวิต วัยเรียน และในช่วงรับราชการ เนื้อหาคำสอนของสุภาษิตพระร่วงจะเน้นที่ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรู้จักที่ควรไม่ควรและการรู้จักประมาณตน
  • ฉันท์อัษฎาพานรเป็นงานนิพนธ์สั้น ๆ ที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่งจารึกอยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้  เนื้อเรื่องของฉันท์อัษฎาพานรมีความพิเศษต่างกับวรรณคดีเรื่องอื่นของไทย คือ กล่าวถึงพระราชาถูกขับจากเมืองเพราะความโง่เขลา แต่เมื่อได้รับฟังโอวาทของวานร ๘ ตัว ซึ่งก็คือ เทวดา แปลงตัวมาพระราชาก็กลับมีปัญญาฉลาดเฉลียวและได้กลับไปครองราชสมบัติดังเดิม
  • โคลงภาพคนต่างภาษาจารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัด  เพื่ออธิบาย ลักษณะ อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย อันได้แก่ ชาวสิงหฬ ไทย กะเหรี่ยง แอฟริกา ดอดชิ (หรือดัช) เดนมาร์ก อิตาเลียน ฝรั่งเศส ยิบเซ็ดอ่าน (กาญจนาคพันธุ์สันนิษฐานว่า คืออียิปต์) สะระกาฉวน (กาญจนาคพันธุ์สันนิษฐานว่า อิสลามที่อยู่ทางอินเดียใต้   อาจเป็นพวกสะระกาฉวน) ญี่ปุ่น อาหรับ หรุ่มโต้ระกี (ชาวตุรกี) แขกปะถ่าน แขกจุเหลี่ย หรูชปี-ตะสบาก (ชาวรัสเซีย) หรูช (ตาตา) มอญ กระแซ เงี้ยว พม่า ฮินดู มลายู พราหมณ์ฮินดู พราหมณ์รามเหศร์ จาม ยวน หุ้ยหุ้ย (ชาวตุรกี) เกาหลี ญวน จีน เขมร และลิ่วขิ่ว (เกาะที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่น)
  • อาธิไท้โพธิบาทว์เป็นงานนิพนธ์สั้น ๆ ที่ไม่ทราบนามผู้แต่งซึ่งเรื่องมีความหมายว่า “อุบาทว์ที่เกิดจากเทวดาภายในตน” เนื้อเรื่องกล่าวถึงอุบาทว์ที่เกิดขึ้นจากเทวดาโพธิบาทว์ ๘ องค์ ได้แก่ พระอินทร์ พระเพลิง พระยม พระนารายณ์ พระวรุณ พระพาย พระโสม และพระไพสพ และยังกล่าวถึงวิธีการบวงสรวงสังเวยมนตร์สำหรับบูชาแก้อุบาทว์  อาธิไท้โพธิบาทว์เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทยที่มีมาช้านานโดยเฉพาะสมัยอยุธยาตอนปลายและได้สืบทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์  การที่ได้จารึกเรื่องนี้ไว้ที่ศาลารายหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคงมิได้หมายความว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในเรื่องนี้หากแต่เป็นการอนุรักษ์ความเชื่อเก่าซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของบุรพชน

 

หมวดวรรณคดีร้อยกรอง
บริเวณศาลารายหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้

 

หมวดวรรณคดีร้อยแก้ว 

  • เรื่องรามเกียรติ์  ศิลาจารึกเรื่องรามเกียรติ์นี้ได้จารึกประกอบภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ไว้ที่ผนังศาลาทิศพระมณฑป ทั้ง ๔ หลัง แต่ปัจจุบันจารึกหลุดหายเป็นจำนวนมากเหลือเพียง ๑๓ แผ่นเท่านั้น เนื้อเรื่องคงเริ่มตั้งแต่กำเนิดของเทวดาและอสุรวงศ์มาจนถึงพระชนกไถได้นางสีดาจึงพากันกลับเข้าเมืองมิถิลาในศิลาจารึกหลักที่ ๕๕ ซึ่งเป็นหลักสุดท้ายได้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระเชตุพนกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ดังนี้

“ว่าพระชนกดาบศคิดจะลาพรตจึงภานายโสมผู้ศิษย์ออกไปบริเวณพระไทรย ขุดหาพระราชบุตรีซึ่งฝังไว้ไม่ภพพระดาบศจึ่งให้นายโสมเข้าไปในเมืองมิถิลา บอกอำมาตย์ให้จัดคู่โคและกระบือออกมาจะไถหานางกุมารีซึ่งฝังไว้ เรื่องรามเกียรติ์ที่จะต่อไปจงไปดูที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านประตูข้างเหนือโน้นเถิด” 

  • มหาวงษ์ มหาวงษ์เป็นพงศาวดารที่ว่าด้วยเรื่องของพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่การตั้งศากยวงศ์ พระพุทธเจ้าปรินิพพาน และเหตุการณ์หลังจากนั้น ผนวกกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปและความเป็นมาของราชวงศ์กษัตริย์องค์สำคัญ ๆ ของลังกา โดยเฉพาะผู้ที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าทุษฐคามิณี คัมภีร์มหาวงษ์เป็นคัมภีร์สำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในอินเดียและลังกา โดยเฉพาะลังกาซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาหลังจากการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ในอินเดีย

      ในประเทศไทยคัมภีร์มหาวงษ์ก็เข้ามาเป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้แปลคัมภีร์นี้เป็นภาษาไทย ๓๘ ปริเฉท เนื้อเรื่องของมหาวงษ์ที่จารึกไว้นั้นย่อมาจากฉบับแปลในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงกำเนิดของสีหะภาหุผู้สร้างเมืองสีหะปุระ (ลังกา) จนถึงเรื่องของพระเจ้าอภัยทุฐผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จารึกมีทั้งหมด ๓๒ แผ่น ประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ 

  • นิทานสิบสองเหลี่ยม นิทานเรื่องนี้จารึกไว้ที่คอสองเฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก (ปัจจุบันศาลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด) นิทานสิบสองเหลี่ยมเป็นเรื่องว่าด้วยพระเจ้ามามูนแห่งเมืองบัดดาดได้ไปนมัสการพระมณฑปที่ไว้พระศพของพระเจ้าเนาวสว่านผู้ทรงธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ  ภายในพระมณฑปมีจารึกอักษรในแผ่นทองเป็นข้อบัญญัติและนิทานสุภาษิตอยู่รอบทั้ง ๑๒ เหลี่ยม เรียกกันว่า นิทานอิหร่านราชธรรม อันเป็นนิทานว่าด้วยพระกรณียกิจที่ชอบธรรมซึ่งพระราชาในอดีตได้บำเพ็ญมาส่งผลให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง

      ถึงแม้จารึกเรื่องนิทานอิหร่านราชธรรมจะมีเหลือเพียงไม่กี่แผ่น (ผู้สนใจอาจศึกษาได้จากฉบับเต็มที่มีชื่อว่า นิทานอิหร่านราชธรรมฉบับหอสมุดแห่งชาติ) แต่ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงธรรมะของผู้ครองแผ่นดิน

 

หมวดวรรณคดีร้อยแก้ว
ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ ที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์

 

หมวดอักษรศาสตร์

      ในบรรดาผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการจารึกสรรพวิชาลงในจารึกวัดพระเชตุพนนั้นก็ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นรัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์         พระนิพนธ์ในพระองค์ได้รับการยกย่องว่า เป็นเลิศทางวรรณศิลป์  ไพเราะด้วยภาษาที่ถูกต้องตามแบบแผน อีกทั้งฉันทลักษณ์ที่ใช้ก็เป็นแบบฉบับที่เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้หมวดอักษรศาสตร์และหมวดวรรณคดีนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรับเป็นธุระในการเลือกสรรเรื่องที่จะจารึก ซึ่งได้แก่ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ๕๐ แบบ และกลบท การที่ทรงเลือกฉันท์และกลบทมาเป็นแบบอย่างนั้นก็เพื่อที่จะได้ทะนุบำรุงความรู้ทางอักษรศาสตร์ให้เฟื่องฟูมิให้มีสภาพถดถอย  ดังความที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภไว้ว่า 


    ด้วยก่อนเก่าเหล่าลูกตระกูลปราชญ์
    ทั้งเชื้อชาติชนผู้ดีมียศศักดิ์
    ย่อมหัดฝึกสึกสาข้างอาลักษณ์
    ล้วนรู้หลักพากย์พจน์กลบทกลอน
    ทุกวันนี้มีแต่พาลสันดานหยาบ
    ประพฤทบาปไปเสียสิ้นแผ่นดินกระฉ่อน
    จะหาปราชญ์เจียนจะขาดพระนคร
    จึงขอพรพุทธาไตรญาคุณ
    (คัดลอกตามต้นฉบับ)

 

  • ฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์เป็นชื่อของคำประพันธ์ประเภทหนึ่งซึ่งกำหนดจำนวนของคำแต่ละพยางค์ประกอบด้วยสระที่มีเสียงสั้น (ลหุ) และสระเสียงยาว (ครุ) ฉันท์ตามคัมภีร์วุตโตทัยมีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์ ในชั้นแรกแต่งเป็นภาษาสันสกฤตในสมัยหลังพระสังฆรักขิตเถระได้แปลเป็นภาษาบาลี  เมื่อไทยรับอิทธิพลทางด้านอักษรศาสตร์จากอินเดียฉันท์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไทยรับเอาแบบอย่างมาด้วย ในสมัยอยุธยาเข้าใจว่าพระมหาราชครูคงเป็นบุคคลแรกที่ดัดแปลงฉันท์ภาษาบาลีมาแต่งเป็นฉันท์ในภาษาไทย คือ เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์ที่พระมหาราชครูแปลงมี ๖ ประเภท

ในสมัยรัตนโกสินทร์สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงแปลงฉันท์วรรณพฤติต่อจากโบราณาจารย์อีก ๔๔ ฉันท์ เพื่อเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์ ๕๐ ฉันท์ ดังความที่พระองค์ได้ทรงปรารภไว้เบื้องต้นว่า 


    ตูผู้ผนวชเสนอนามยศ     กรมนุชิตชิโนรส     รจิตประดิษฐ์แสดงสาร
    พฤตโตไทยฉันทตำนาน     แปลเปลี่ยนโวหาร     มคธคัมภีร์ภาษา
    แปลเป็นสยามพากย์พจนา     ต่อเติมโบรา-     ณะแบบบัญญัติฉัฏฐฉันท์


      ฉันท์วรรณพฤติ ๔๔ ฉันท์ ที่ทรงนิพนธ์นี้นอกจากจะมีความไพเราะเป็นเลิศแล้ว  ยังถือเป็นต้นแบบของการแต่งฉันท์ซึ่งเป็นคำประพันธ์ชั้นสูงที่ได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์ราชบัณฑิตว่าต้องใช้ฝีมือในการประพันธ์ หากแต่เนื้อเรื่องในแต่ละตอนที่ทรงเลือกสรรมานั้นเป็นพระพุทโธวาทที่สั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนหลีกเลี่ยงสาเหตุของความประพฤติที่ไม่สมควร เช่น โทษของการดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูมหรสพ การเป็นนักเลง อาจกล่าวได้ว่างานพระนิพนธ์มีความสมบูรณ์ทั้งรสคำและรสความมีคุณค่าเปี่ยมล้นทางวรรณศิลป์และข้อคิดเตือนใจ 

 

หมวดอักษรศาสตร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส


      นอกจากนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแปลงฉันท์มาตราพฤติที่มีอยู่ ๒๗ ฉันท์ ออกเป็นฉันท์ไทยอีก ๘ ฉันท์ ดังความที่ว่า 

 


    อีกมาตราพฤติเพียรนิพนธ์     อัษฎาพิธดล     ตำหรับแต่ปางไม่มี
    สฤษฎิไว้ในโลกเฉลิมศรี     อยุทธเยศธานี     ทำนุกพระเกียรติกระษัตรา
    จงยืนอยู่ชั่วกลปา     วสานสืบสา     ธุชนเชี่ยวเฉลียวเชลง

 

  • เพลงยาวกลบทและกลอักษรว่าด้วยการแต่งกลอนกลบทและกลอนกลอักษรซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงในการแต่งคำประพันธ์ กลอนกลบท คือ กลอนซึ่งเพิ่มเติมลักษณะพิเศษในการเล่นคำ สัมผัส หรือวรรณยุกต์ ให้แปลกจากบัญญัติเดิมโดยจินตนาการของผู้แต่ง ส่วนกลอนกลอักษร คือ กลอนที่มีวิธีการเขียนยักเยื้องไปต่าง ๆ ผู้ที่อ่านกลอนกลอักษรได้ต้องเข้าใจชั้นเชิงของผู้แต่งจึงจะสามารถอ่านได้ถูกต้อง เพลงยาวกลบทมี ๔๐ บท ส่วนเพลงยาวกลอักษรมีจำนวนน้อยกว่า คือ มีเพียง ๑๐ บท กลบท และกลอักษรหลายบทมีลักษณะตรงกับในกลบท เรื่องศิริวิบุลยกิตต์ วรรณกรรมในรัชกาลที่ ๑ ผู้นิพนธ์ประกอบไปด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นไกรสรวิชิต หลวงลิขิตปรีชา หลวงนายชาญภูเบศร์ จ่าจิตร์นุกูล ขุนธนสิทธิ์ เพลงยาวนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง  ผู้นิพนธ์จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างเลิศในการสร้างสรรค์ งานนิพนธ์ ซึ่งงดงามและไพเราะทางด้านวรรณศิลป์เช่นนี้และที่ควรสังเกตก็ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการพระราชนิพนธ์ถึง ๑๖ บท

หมวดเวชศาสตร์

      ตำรายาว่าด้วยตำรายาที่มีสรรพคุณแก้โรคทั้งปวง แต่ก่อนที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวยาก็มีการอธิบายว่าด้วยลักษณะของโรค เช่น ไข้ (ซึ่งในจารึกว่า ไข้วิปริต) ๑๘ ประการ ลักษณะตานซาง ลักษณะและการเกิดของซาง ลักษณะและการเกิดของลมในร่างกายซึ่งโบราณถือว่าเป็นสมุหฐานสำคัญของการเกิดโรคมี ๑๘ ประการ ริดสีดวง ๑๘ ประการ ลักษณะของกระษัยโรค ๑๘ ประการ ลักษณะของเกลื้อนกลากและคุดทะราดยาน้ำมันต่าง ๆ จากนั้นก็จะให้วิธีแก้ คือ ตัวยา ดังเช่น  

“ในที่นี้จะกล่าวแต่เกลื้อนอันบังเกิดแต่ กองอาโปธาตุ วาโยธาตุนั้นก่อนเป็นปฐม คือ เกิดเสโทเป็นต้นเหตุ เมื่อแรกขึ้นมีสีอันขาวเป็นนวลและวงแว่นเล็กก็มี แว่นใหญ่ก็มี ผุดเป็นแห่ง ๆ เรี่ยรายไปตามผิวเนื้อ ถ้าเสโทตกมากและเกลื้อนนั้นก็ผุดขึ้นมามากแล้วกระทำให้คันเป็นกำลังจึงได้ชื่อว่าเกลื้อนนวลแตงจำพวก ๑ และเกลื้อนบังเกิดแต่กองวาโยธาตุนั้น เกิดแต่อังควาตให้เป็นเหตุเมื่อแรกขึ้นมีสีอันขาวพร้อย ๆ เป็นช่อ ๆ กระทำให้คันยิบไปดังตัวไรจึงได้ชื่อว่าเกลื้อนดอกหมากจำพวก ๑  อันเกลื้อน ๒ จำพวกนี้ สรรพยาแก้ได้ดุจกันตามอาจารย์กล่าวไว้นี้ขนานหนึ่งเอาใบลำโพงแดงใบชุมเห็ดเทศเอาสิ่งละ ๑ ส่วน ขมิ้นอ้อย ๒ ส่วน สานหยวก ๓ ส่วน ทำเป็นจุณเอาสุราเป็นกระสายบดทำแท่งไว้ละลายน้ำมะนาว แก้เกลื้อนนวลแตง และเกลื้อนดอกหมากให้หายสิ้น วิเศษนัก”
      ในตอนท้ายของตำรายามีความกล่าวไว้ว่า 
    “- สรรพยา ๓ ขนานนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า หมื่นเวชาแพทยาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะได้ใช้แล้ว” 
    “- สรรพยา ๓ ขนานนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า หลวงทิพย์รักษาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะได้ใช้แล้ว” 
    “- สรรพยา ๔ ขนานนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า ขุนราชโอสถทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะได้ใช้แล้ว” 

      ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่าส่วนผสมและสรรพคุณของยาตำรับนี้เคยทดลองใช้มาแล้วและไม่มีการปิดบังตัวยา เพราะแต่เดิมมานั้นการสงวนวิชาซึ่งจำกัดแต่เฉพาะหมู่เหล่าเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่คนไทยมีเรื่องเล่ากันว่า ผู้มอบตำรายานั้นถึงกับต้องแสดงความซื่อสัตย์ไม่ปกปิดข้อมูลด้วยการสาบานก่อน 

 

หมวดเวชศาสตร์


      มีข้อสังเกตว่าตำรายาบางตำราได้อ้างแหล่งที่มาด้วย เช่น อ้างว่าได้มาจากฤาษีบางรูป เช่น “สิทธิการิยะจะกล่าวลักษณะกำเนิดแห่งลมอันจะบังเกิดแก่บุคคลทั้งหลายในโลกนี้  อันพระมหาฤษีเจ้าสำแดงไว้ในคัมภีร์ฉันทวาตปฏิสนธิ ๔๖ จำพวกนั้น” (ศาลา ๔), “จึงพระฤาษีธรรมเทวดาให้แต่งยานี้แก้” (ศาลา ๔), “ลำดับนี้จะกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ว่าด้วยลักษณะไข้วิปริตปฐมเหตุอันบังเกิดในอหิวาตกภัยมีประเภท ๑๐ ประการ อันพระดาบสทั้ง ๔ พระองค์ เธอรจนาลงไว้แล้วให้นามบัญญัติชื่อว่า คัมภีร์ตักกสิลา” (ศาลา ๔) ทั้งนี้คงเป็นการเพิ่มความสำคัญของตำรายา 

  • โคลงภาพฤาษีดัดตน นอกเหนือจากตำรายาซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จารึกเป็นโอสถทานแล้ว รูปภาพฤาษีดัดตน ๘๐ รูป ซึ่งหล่อด้วย ดีบุก และสังกะสี ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างสุขพลานามัยของชาวราษฎรให้แข็งแรง ท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่านั้น ส่วนใหญ่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะเลือดลมเดินไม่สะดวก เช่น ท่าแก้เข่าขัด แก้เอว แก้ซ่นเท้า แก้ลมปวดศีรษะ แก้ลมในขา ในโคลงบรรยายภาพฤาษีดัดตนนั้นผู้แต่งจะเลือกสรรฤาษีต่าง ๆ ๘๐ รูป มาเป็นผู้แสดงท่า
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow