Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ในด้านอุตสาหกรรม

Posted By Plookpedia | 20 มิ.ย. 60
3,396 Views

  Favorite

การใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ในด้านอุตสาหกรรม

      ได้มีการพัฒนาและนำเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายและสามารถจำแนกออกเป็น ๓ แบบ ตามวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ดังนี้ 

๑. อุตสาหกรรมด้านพลังงาน 

      ก. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตเรือสินค้า เรือเดินสมุทร เรือตัดน้ำแข็ง เรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ 
      ข. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 

๒. อุตสาหกรรมการฉายรังสี 

      การใช้รังสีพลังงานสูงมาฉายรังสีวัสดุเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทางชีววิทยา และทางกายภาพ เพื่อประโยชน์ในด้านการปรับปรุงคุณภาพของวัสดุ การกำจัดจุลินทรีย์บางชนิดในอาหารโดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้ 
ก. การฉายรังสีอาหาร 
      ประเทศไทยมีศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยเปิดเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ ใช้ไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ มีกัมมันตภาพรังสีตอนเริ่มต้น ๔๔,๐๐๐ คูรี สามารถให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรที่สำคัญ คือ เครื่องเทศ สมุนไพร ผลไม้ กุ้งแช่แข็ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม แหนม ถั่วเขียว และมะขามหวาน

 

สัญลักษณ์แสดงอาหาร ที่ผ่านการฉายรังสีแล้ว
สัญลักษณ์แสดงอาหารที่ผ่านการฉายรังสีแล้ว 

 
ข. อุตสาหกรรมการปลอดเชื้อจุลินทรีย์ 
      รังสีแกมมาจากไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ ได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการปลอดเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้แก่ เวชภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และเนื้อเยื่อ โดยมีจำนวนมากกว่า ๑๔๐ โรงงาน      ใน ๔๐ ประเทศ สำหรับประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมปลอดเชื้อจำนวน ๕ แห่ง 
ค. อุตสาหกรรมพอลิเมอร์ 
รังสีแกมมาหรืออิเล็กตรอนสามารถไปช่วยเร่งการเกิดปฏิกิริยาในการผลิตสารพวกพอลิเมอร์ต่าง ๆ เช่น 

  • การฉายรังสีไม้เนื้ออ่อนที่ถูกอัดด้วยสารมอนอเมอร์จะทำให้กลายเป็นสารพอลิเมอร์ที่มีความแข็งมากขึ้นใช้สำหรับทำพื้นปาร์เกต์หรือท่อนไม้ที่ต้องการให้มีความแข็งสูง
  • การฉายรังสีเพื่อไปช่วยให้มอนอเมอร์จับตัวกับพอลิเมอร์เรียกว่า การต่อกิ่ง (grafting) เช่น การนำน้ำยางธรรมชาติมาฉายรังสีเพื่อทำกาวให้เหนียวขึ้นหรือทำยางพลาสติก
  • การฉายรังสีเพื่อไปทำให้พอลิเมอร์จับตัวกันเป็นร่างแหสามมิติและส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนต่อความร้อน เช่น ใช้ในการผลิตฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกและโฟม
  • การฉายรังสีน้ำยางธรรมชาติที่ผสมกับสารเคมีเพื่อให้มีการจับตัวกันของพอลิเมอร์เป็นแผ่นยาง (rubber vulcanization)

๓. การตรวจวัดและควบคุมโดยเทคนิคนิวเคลียร์ในโรงงานอุตสาหกรรม 

      การใช้วัสดุกัมมันตรังสีและเทคนิคทางรังสีซึ่งเรียกว่า “เทคนิคนิวเคลียร์” มาใช้ประโยชน์ในระบบตรวจวัดและควบคุมต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม  ปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย มีตัวอย่างคือ 

  • การใช้รังสีแกมมาวัดระดับของไหลหรือสารเคมีในกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์
  • การใช้รังสีแกมมาวัดระดับเศษไม้ในหม้อนึ่งเพื่อการผลิตไม้อัดแผ่นเรียบ
  • การใช้รังสีแกมมาวัดความหนาแน่นของน้ำปูนกับเส้นใยหินเพื่อการผลิตกระดาษและกระเบื้อง
  • การใช้รังสีแกมมาวัดและควบคุมความหนาแน่นของเนื้อยางที่เคลือบบนแผ่นผ้าใบเพื่อการผลิตยางรถยนต์
  • การใช้รังสีแกมมาวัดและควบคุมความหนาของแผ่นเหล็ก
  • การใช้รังสีบีตาวัดและควบคุมน้ำหนักของกระดาษในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ
  • การใช้รังสีเอกซ์วัดหาปริมาณตะกั่วและกำมะถันในการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
  • การใช้รังสีนิวตรอนในการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ดิน
  • การใช้รังสีแกมมาตรวจสอบรอยเชื่อมโลหะ การหารอยรั่วและรอยร้าวของวัสดุ
  • การใช้รังสีแกมมาวัดหาปริมาณเถ้าในถ่านหินบนสายพานลำเลียง

 

โรงกลั่นน้ำมัน
โรงกลั่นน้ำมันซึ่งนำ "เทคนิคนิวเคลียร์" มาใช้ประโยชน์ในระบบตรวจวัดและควบคุมการทำงานต่าง ๆ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow