Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประโยชน์ของการฟื้นฟูสภาพ

Posted By Plookpedia | 20 มิ.ย. 60
1,183 Views

  Favorite

ประโยชน์ของการฟื้นฟูสภาพ 

      ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะถดถอยของสมรรถภาพทางกายตามวัยอยู่แล้วเมื่อมีภาวะโรคเรื้อรังต่าง ๆ จะยิ่งส่งผลให้การถดถอยนั้นเกิดเร็วและรุนแรงขึ้น ดังนั้นการฟื้นฟูสภาพจึงมีประโยชน์เพื่อคงสมรรถภาพหรือความสามารถทางกายต่างๆของผู้สูงอายุให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้เป็นการคงไว้ซึ่งระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ 

๑. การฟื้นฟูสภาพในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพค่อนข้างดี 

สอนวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกาย ดังนี้

  • ชนิดของการออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ คือ การว่ายน้ำ แต่ถ้าไม่สะดวกอาจใช้การเดินเร็ว ๆ หรือการขี่จักรยานก็ได้ การรำมวยจีนจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเอ็นและข้อต่อต่าง ๆ ได้ดี อาจเลือกตามความชอบ ความถนัด ความสะดวก รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพร่างกายเป็นสำคัญ

 

การออกกำลังกายผู้สูงอายุ

 

  • ขนาดของการออกกำลังกายต้องหนักเพียงพอที่จะทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานมากกว่าในภาวะปกติอาจพิจารณาได้จากการเต้นของชีพจรที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติโดยทั่วไปควรออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อยพอประมาณแต่ยังสามารถพูดประโยคสั้น ๆ ได้ 
  • ระยะเวลาในการออกกำลังกายเริ่มจากน้อยไปมาก คือ ประมาณ ๕ - ๑๐ นาทีก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาเป็น ๒๐ - ๓๐ นาทีต่อครั้ง หรืออาจแบ่งเป็น ๑๕ นาที ๒ ครั้งต่อวันก็ได้ 
  • ความถี่ของการออกกำลังกายอย่างน้อยควรทำ ๓ ครั้งต่อสัปดาห์  โดยในระยะแรกอาจเริ่มจาก ๔ - ๕ ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • ก่อนออกกำลังกายควรมีระยะอบอุ่นร่างกาย (warm up) นานประมาณ ๕ - ๑๐ นาที เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายจะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อยอก เอ็นอักเสบหรือปวดข้อได้ 
  • หลังออกกำลังกายต้องมีระยะผ่อนคลาย (cool down) เสมอ เพื่อป้องกันการเป็นลมหน้ามืดหรือหัวใจวายซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายไม่ถูกวิธี

๒. การฟื้นฟูสภาพในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ 

      ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุกลุ่มนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายหลายระบบซึ่งมักเป็นเรื้อรังและเป็นต้นเหตุให้ผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  ยิ่งนอนนานจะยิ่งมีผลทำให้สมรรถภาพลดลงและยังอาจจะพบภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนาน อันได้แก่ การเกิดแผลกดทับ ข้อยึดติด กล้ามเนื้อลีบลิ่มเลือดอุดตัน รวมทั้งเกิดการติดเชื้อในร่างกายได้ง่ายขึ้นซึ่งส่งผลให้สมรรถภาพหรือความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันลดลงนั่นเอง

วิธีการฟื้นฟูสภาพ  

๑. การใช้เครื่องมือทางฟิสิกส์ 
      การใช้ความร้อน ได้แก่ กระเป๋าน้ำร้อน กระเป๋าไฟฟ้า ขวดใส่น้ำร้อน ความร้อนช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดลดอาการปวดและการอักเสบ ช่วยคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันโดยรอบข้อจึงนำมาใช้ลดอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อหรือแก้ข้อยึดติด เป็นต้น 
      ผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดข้อเข่า สะโพก หรือหลัง การออกกำลังกายในน้ำจะช่วยลดอาการปวดได้ดีมาก เนื่องจากน้ำมีแรงลอยตัวทำให้ข้อไม่ต้องรับน้ำหนักตัวมากนักและยังสามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี 
      ผู้สูงอายุที่มีอาการปวดจากการที่กระดูกคอหรือหลังเสื่อม การใช้เครื่องดึงคอ - ดึงหลังคอ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยลดอาการปวดได้ดี ส่วนการนวดกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการปวดในกรณีกล้ามเนื้อหดเกร็งแต่ไม่ช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ

 

การฟื้นฟูผู้สูงอายุ

 
๒. การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาที่ใช้บ่อยๆ 
ได้แก่ 

  • การออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้ข้อติดใช้ในกรณีกล้ามเนื้อโดยรอบข้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
  • การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใช้ในกรณีกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง  โดยการเกร็งกล้ามเนื้อ เช่น การยกตุ้มน้ำหนักหรือใช้ถุงทรายถ่วง เป็นต้น
  • การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อใช้ในกรณีกล้ามเนื้อล้าง่ายใช้งานไม่ได้นาน หลักการ คือ ต้องบริหารบ่อย ๆ ครั้ง โดยเริ่มจากน้อยไปมากอย่าหักโหม 

๓. การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ 
      ได้แก่ ไม้เท้าหรือคอกช่วยเดินเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงในการยืนและเดิน รวมทั้งลดแรงกระทำต่อข้อเข่าและสะโพก เฝือกอ่อนพยุงคอหรือหลัง ในกรณีที่มีอาการปวดคอหรือหลัง หรือการใช้สนับเข่าช่วยให้ข้อเข่ากระชับลดอาการปวดข้อเข่าทำให้เดินได้ดีขึ้น เป็นต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้เนื่องจากมีอาการปวดข้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาก ๆ หรือเดินได้แต่ไม่มั่นคงมีโอกาสเสี่ยงต่อการล้มและเกิดกระดูกหักหรือบางรายเดินแล้วเหนื่อยมากเนื่องจากมีโรคหัวใจขาดเลือดร่วมด้วยอาจจำเป็นต้องใช้รถเข็น

 

การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ

 

การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ


๔. คำแนะนำในการปฏิบัติตัว 
      ขึ้นอยู่กับโรคหรือพยาธิสภาพที่ผู้สูงอายุเป็นโดยแพทย์จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมกับโรคนั้น ๆ เช่น แนะนำการใช้ข้อเข่าในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมหรือในผู้ป่วยที่ปวดหลัง แพทย์จะช่วยแนะนำการปฏิบัติตนในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการก้มหรือเงยที่ไม่จำเป็น วิธีการยกของท่าทางการนั่งหรือนอน รวมทั้งวิธีการลุกจากท่านอนที่ถูกต้อง เป็นต้น

ตัวอย่างการฟื้นฟูสภาพในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม 

      ผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมจะพบว่ามีปัญหาปวดเข่านั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขึ้นลงบันไดลำบาก นั่งเก้าอี้เตี้ยแล้วลุกยาก เหล่านี้ล้วนจำกัดความสามารถในการใช้เข่าของผู้สูงอายุอย่างมาก การฟื้นฟูสภาพประกอบด้วย 
      ๑) การใช้ความร้อนประคบเพื่อลดอาการปวดเข่าช่วยคลายกล้ามเนื้อโดยรอบเข่า 
      ๒) การบริหารกล้ามเนื้อหน้าขาให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า 
      ๓) การใช้สนับเข่าช่วยให้ข้อเข่ากระชับมากขึ้นซึ่งจะลดอาการปวดได้ดีในระยะแรก  แต่ถ้าใช้นาน ๆ กล้ามเนื้อหน้าขาจะลีบเนื่องจากการไม่ได้ใช้งานนาน ๆ ดังนั้นควรมีการบริหารกล้ามเนื้อเข่าร่วมด้วยเสมอ 
      ๔) การใช้ไม้เท้าช่วยเดินให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าข้างที่ปวดมาก ประโยชน์ของไม้เท้า คือ ลดแรงกระทำต่อข้อเข่าและลดอาการปวดเข่าในบางรายมีอาการปวด ๒ ข้าง และโรคมีความรุนแรงมากอาจต้องพิจารณาใช้คอกช่วยเดินซึ่งจะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่าและช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเดินได้มากกว่าการใช้ไม้เท้า 
      ๕) การแนะนำการใช้ข้อเข่าในชีวิตประจำวัน เช่น เลี่ยงการงอเข่า พับเข่า นั่งยอง ๆ หรือขัดสมาธิ เลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่ไม่จำเป็นซึ่งอิริยาบถเหล่านี้จะเพิ่มแรงเครียดในข้อเข่าทำให้ข้อเสื่อมได้เร็วขึ้นและจะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้นด้วย

 

การฟื้นฟูผู้สูงอายุ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow