Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร และแนวพระราชดำริในการแก้ไข

Posted By Plookpedia | 15 มี.ค. 60
3,985 Views

  Favorite

 

การเกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร และแนวพระราชดำริในการแก้ไข

กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากปากอ่าวไทยเท่าใดนัก ดังนั้น ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพมหานคร จึงอยู่ในอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลหนุน

สภาพของกรุงเทพมหานครในอดีต ประกอบด้วยลำคลอง หนอง บึง และพื้นที่ว่างจำนวนมาก ปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือเกิดอุทกภัยจนถึงขั้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหาย จึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ครั้นต่อมาความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปราศจากการวางผังเมืองให้ถูกต้อง ไม่มีการวางแผนการใช้ที่ดิน และการจัดการด้านสาธารณูปโภคให้เหมาะสม ประกอบกับไม่มีมาตรการในการระบายน้ำ ออกจากพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนขาดระบบการป้องกันน้ำท่วมเขตชุมชนที่มีประสิทธิภาพ เมื่อ ร่วมกับปัญหาการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ โดยปราศจากการควบคุม จนเป็นเหตุให้แผ่นดินทรุดเป็นแอ่งในบริเวณกว้างด้วยแล้ว จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และน้ำขังพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครอย่างรุนแรงมากกว่าแต่ก่อน

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการปิดทำพบชั่วคราวที่คลองแสนแสบเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓

 

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้แก่ 

๑) ฝนซึ่งตกหนักจนระบายน้ำฝนออกจากถนนและบริเวณบ้านเรือนไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมขัง 
๒) น้ำจากพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานครตามคลองต่างๆ ทำให้เกิดน้ำบ่าตลิ่งเข้าไปท่วมพื้นที่ในเขตชุมชน ซึ่งมีระดับต่ำ 
๓) น้ำที่ไหลลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามี ปริมาณมาก ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่ง มีระดับสูงไหลเข้าไปตามคลองต่างๆ เข้าไปท่วม ในเขตพื้นที่ชุมชน 
๔) น้ำทะเลหนุน เป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำ เจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นๆ เพราะไม่สามารถระบายน้ำจำนวนมาก ที่ไหลลงมาตามแม่น้ำ ลงสู่อ่าวไทย ได้สะดวก 
๕) ระบบระบายน้ำซึ่งประกอบด้วยท่อ ระบายน้ำและคลองระบายน้ำในเขตชุมชนต่างๆ ไม่สามารถระบายน้ำฝนจำนวนมาก ออกไปจากพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
๖) แผ่นดินทรุด เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณ ต่างๆ เป็นแอ่งมีระดับต่ำเมื่อฝนตกจึงทำให้ เกิดน้ำท่วมขังนาน เพราะระบายน้ำออกไปได้ ยาก 

ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาก ได้เกิดน้ำท่วม ใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล รวม ๔ ครั้งด้วยกัน คือ ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ พ.ศ. ๒๕๒๑ พ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๖ ทำให้ ประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพมหานครได้รับความเดือดร้อน จากอุทกภัยในแต่ละครั้งเป็นอย่างมาก ซึ่ง นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏแก่กรุงเทพ- มหานครมาก่อนเลย 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานครเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการต่างๆ เฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดาโหฐาน เพื่อพระราชทานพระราชดำริในการหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑลทางฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้บังเกิดผลสมบูรณ์ยิ่ง ดังนี้

๑) ให้เร่งระบายน้ำทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครในฤดูน้ำหลาก ออกสู่อ่าวไทย โดยผ่านตามคลองต่างๆ และในขณะเดียวกันให้ควบคุมปริมาณน้ำจากพื้นที่ด้านทิศตะวันออก ที่จะไหลเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครให้เหลือน้อยลงด้วย

๒) จัดให้มีเขตพื้นที่สีเขียว ในเขตพื้นที่ปริมณฑลทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งพื้นที่สีเขียวดังกล่าวนี้ จะสามารถแปรสภาพเป็นทางระบายน้ำฉุกเฉิน ออกสู่อ่าวไทยได้เมื่อต้องการ

๓) สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตชุมชนของกรุงเทพมหานครให้สมบูรณ์

๔) สร้างสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตามความเหมาะสม

๕) ขยายทางน้ำ หรือเปิดทางน้ำในจุดที่ผ่านทางหลวง หรือรถไฟ เพื่อให้สามารถระบายน้ำจำนวนมากผ่านไปได้อย่างสะดวก

หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันศึกษา ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างละเอียด แล้วทำการก่อสร้างระบบการแก้ไขป้องกันน้ำท่วมดังกล่าว เพื่อสนองพระราชดำริในระยะต่อมา จนถึงปัจจุบัน แต่ละหน่วยราชการได้ดำเนินการเสร็จตามโครงการ ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหาการเกิดน้ำท่วม ในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ตามที่ต้องการ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow