Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์

Posted By Plookpedia | 19 มิ.ย. 60
1,337 Views

  Favorite

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์

ข้อดี 

      ๑. สามารถปลูกพืชในพื้นที่ที่การเกษตรแบบธรรมดาหรือแบบทั่วไปทำไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ เช่น พื้นที่ที่เป็นหิน ภูเขาสูงชันหรือเป็นทะเลทราย หรือที่ดินเพาะปลูกมีปัญหา เช่น ดินเค็มจัด เปรี้ยวจัด หรือเป็นที่สะสมของโรคพืชและแมลงศัตรูพืช 
      ๒. ใช้น้ำและปุ๋ยน้อยกว่าการปลูกพืชในดิน เพราะน้ำและปุ๋ยไม่สูญเสียจากการไหลทิ้งการซึมลึกและการแก่งแย่งจากวัชพืช นอกจากนี้เทคนิคส่วนใหญ่สามารถนำปุ๋ยกลับมาใช้หมุนเวียนได้อีก 
      ๓. ใช้แรงงานน้อยกว่าการเพาะปลูกแบบธรรมดาไม่ว่าจะเป็นการเพาะเมล็ด การเก็บเกี่ยว การกำจัดวัชพืช การจัดเตรียมแปลงปลูก 
      ๔. สามารถปลูกพืชในปริมาณที่มีความหนาแน่นสูงกว่าการเพาะปลูกแบบธรรมดาเพราะมีการให้สารละลายธาตุอาหารที่เพียงพอพืชไม่ต้องแย่งน้ำและธาตุอาหาร การปลูกพืชสามารถกระทำได้ทันทีหลังเก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องรอคอยการเตรียมแปลงปลูกหรือการตากดิน 
      ๕. สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของราก เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง ความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารพืชได้ดีกว่าการปลูกในดิน พืชจะสามารถดูดกินธาตุอาหารในรูปไอออน หรือโมเลกุลเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ได้พืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง 

 

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์

 

ข้อเสีย 

      ๑. การลงทุนจะสูงกว่าการปลูกพืชในดินมาก เพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูงต้องใช้น้ำที่สะอาดและมีความบริสุทธิ์สูงกว่าการปลูกพืชในดินและต้องใช้โรงเรือนที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้จึงจะให้ผลดีโดยเฉพาะในการปลูกพืชปลอดสารพิษ 
      ๒. ต้องใช้ประสบการณ์ ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดมากกว่าการปลูกพืชในดินโดยเฉพาะเทคนิคการปลูกพืชในน้ำที่เป็นระบบปิด (closed system) ซึ่งน้ำมีการไหลหมุนเวียนถึงแม้จะมีการควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอนก็ตาม 
      ๓. การขัดข้องของกระแสไฟฟ้า การชำรุดของเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้า หากแก้ไขไม่ทันก็จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการตายของพืชได้ 
      ๔. มีความเสี่ยงต่อโรคในน้ำค่อนข้างมาก เพราะน้ำนำพาการกระจายของโรคพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดกับรากซึ่งยากต่อการรักษา 
      ๕. ไม่สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้และยังทำให้พืชขาดจุลินทรีย์ในดินบางชนิดที่อยู่รอบ ๆ รากพืช อาทิไรโซเบียม (rhizobium) ในปมรากถั่วที่สามารถดึงไนโตรเจนจากอากาศมาให้พืชใช้โดยตรง ตลอดจนจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อพืช เช่น actinomycetes blue green algae และ photosynthetic bacteria เป็นต้น

 

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์

 

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์

 


 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow