Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัจจัยภายใน

Posted By Plookpedia | 19 มิ.ย. 60
8,767 Views

  Favorite

ปัจจัยภายใน 

อายุพืช 

      ไม้ผลยืนต้นหลายชนิดที่ขยายพันธุ์มาจากการเพาะเมล็ดมักใช้เวลาหลายปีก่อนที่จะเริ่มออกดอกครั้งแรกได้ เช่น มะม่วงอาจใช้เวลาถึง ๖ ปี มังคุดอาจใช้เวลาถึง ๑๐ ปี ส่วนมะพร้าวน้ำหอมอาจเริ่มออกดอกครั้งแรกได้เมื่ออายุ ๓ ปี  อย่างไรก็ตามไม้ผลเหล่านี้บางชนิดสามารถขยายพันธุ์โดยใช้ชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เมล็ด เช่น มะม่วงอาจขยายพันธุ์โดยการติดตาหรือทาบกิ่ง การขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เมล็ดนี้ทำให้อายุเริ่มการออกดอกครั้งแรกลดลง เช่น ในกรณีของมะม่วงอาจใช้เวลาเพียงแค่ ๒ - ๓ ปี เท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มออกดอกครั้งแรกซึ่งเร็วกว่ามะม่วงที่เกิดจากการเพาะเมล็ดที่ต้องใช้เวลานานถึง ๖ ปี  เมื่อไม้ผลยืนต้นเหล่านี้เริ่มออกดอกครั้งแรกได้แล้วก็จะสามารถออกดอกเป็นปกติได้ในปีต่อ ๆ ไปในช่วงเวลาเดิมของทุกปี

 

การทาบกิ่งมะม่วง
การทาบกิ่งมะม่วง

 

สายพันธุ์ 

      ไม้ผลแต่ละชนิดมักมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงในประเทศไทยมีสายพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า ๒๐๐ สายพันธุ์  แต่ที่เรารู้จักกันดีมีไม่กี่สายพันธุ์ เช่น อกร่อง น้ำดอกไม้ เขียวเสวย แก้ว แรด มะม่วงสายพันธุ์เหล่านี้มีความสามารถในการออกดอกได้ยากง่ายแตกต่างกันไป เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ออกดอกได้ง่ายกว่ามะม่วงเขียวเสวย โดยทั่วไปไม้ผลหลายชนิดมีการออกดอกได้ในบางช่วงฤดูกาลที่จำเพาะในรอบปี แต่มีบางชนิดที่มีสายพันธุ์ซึ่งสามารถที่จะออกดอกได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล เช่น มะม่วงบางสายพันธุ์มีความสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษใด ๆเข้าช่วย ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย มะม่วงพิมเสนมันทะวาย โชคอนันต์ เป็นต้น คำว่า “ทะวาย” เป็นคำที่ต่อท้ายชื่อไม้ผลสายพันธุ์เดิมที่โดยปกติแล้วมีการออกดอกเป็นฤดูกาลเหมือนไม้ผลทั่ว ๆ ไป  แต่เมื่อพบว่าสายพันธุ์เหล่านั้นมีการกลายพันธุ์หรือเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งสามารถออกดอกได้โดยไม่จำกัดฤดูกาลจึงเรียกสายพันธุ์ที่ได้ใหม่นั้นตามชื่อสายพันธุ์เดิมและต่อท้ายด้วยคำว่า ทะวาย เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ซึ่งเดิมไม่สามารถออกดอกนอกฤดูกาลได้ ต่อมามีการกลายพันธุ์โดยที่มีลักษณะต่าง ๆ เหมือนต้นเดิม แต่สามารถออกดอกได้โดยไม่จำกัดฤดูกาลจึงเรียกสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย ส่วนมะม่วงสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาและมีลักษณะที่ออกดอกได้โดยไม่จำกัดฤดูกาลอาจไม่จำเป็นต้องเติมคำว่า “ทะวาย” ต่อท้าย เช่น มะม่วงโชคอนันต์ เป็นต้น

 

มะม่วงโชคอนันต์
มะม่วงโชคอนันต์

 

ฮอร์โมนในต้น 

      การเจริญเติบโตของต้นไม้ตั้งแต่เกิดจนตายมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีบางชนิดในพืช สารเคมีประเภทนี้เรียกโดยรวมว่า ฮอร์โมนพืช (plant hormones) หรือสารควบคุมชีวภาพของพืช (plant bioregulators) เป็นสารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นในปริมาณน้อยมาก แต่มีผลควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  ในพืชไม้ผลยืนต้นหลายชนิดจะออกดอกได้เมื่อฮอร์โมนชนิดหนึ่งคือ จิบเบอเรลลิน (gibberellins) มีปริมาณลดต่ำลงแต่จะมีการเติบโตทางด้านกิ่งใบหากมีสารจิบเบอเรลลินเพิ่มมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงของระดับสารจิบเบอเรลลินในต้นไม้มักเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์และปัจจัยภายนอก เช่น อุณหภูมิและความชื้นในดิน  ดังนั้นการควบคุมปัจจัยภายนอกบางอย่างจึงมีผลกระตุ้นหรือยับยั้งการออกดอกของไม้ผลเหล่านี้ได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow