Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
1,364 Views

  Favorite

แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน

การบริหารราชการแผ่นดินมี ๒ แนวทางคือ 
      ๑. รัฐมนตรีแต่ละคนแยกกันปฏิบัติภารกิจไปตามสายงานของตนในกระทรวงที่ตนรับผิดชอบ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ดูแลกิจการภายในกระทรวง ดูแลการอนุมัติงบประมาณโครงการ การแต่งตั้งโยกย้าย และกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายในสายงานการแพทย์สาธารณสุข สุขภาพอนามัย 
      ๒. ในกิจการบางเรื่องรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งไม่อาจอนุญาต อนุมัติ หรือเห็นชอบได้เอง จำเป็นต้องเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกันตามที่กฎหมายมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบอย่างใดอย่างหนึ่งกำหนดไว้ในกรณีเช่นนี้ต้องจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(๑) วันเวลาประชุม 
      ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีกำหนด ปกติจะนัดประชุมทุกวันอังคารเวลาเช้าเป็นต้นไปเพื่อสะดวกแก่การที่รัฐมนตรีต้องไปร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ วันพฤหัสบดี และร่วมประชุมวุฒิสภาในวันศุกร์
(๒) สถานที่ประชุม 
       ปกติจะนัดประชุมในทำเนียบรัฐบาลปัจจุบันประชุมที่อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  แต่คณะรัฐมนตรีอาจนัดประชุมนอกสถานที่ก็ได้ดังที่รัฐบาลบางสมัยเคยจัดประชุมในต่างจังหวัดมาแล้ว เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยจัดประชุมที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น บางแสน จังหวัดชลบุรี สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เคยจัดประชุมที่จังหวัดสงขลา เชียงใหม่และขอนแก่น     สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยจัดประชุมที่จังหวัดนครราชสีมาและเชียงราย สมัยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เคยจัดประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่และศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งมีผู้เรียกว่า "การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร"
(๓) ผู้เข้าร่วมประชุม 
      คือ รัฐมนตรีทุกคนทั้งนี้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจอนุญาตให้ข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องบางคนมาร่วมประชุมและให้ข้อมูลหรือชี้แจงต่อที่ประชุมก็ได้
(๔) เรื่องที่ประชุม 
      คณะรัฐมนตรีจะรับทราบหรือพิจารณาเรื่องที่มีกฎหมายมติคณะรัฐมนตรี  กฎหรือระเบียบกำหนดให้ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีบางเรื่องจะเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้น แต่บางเรื่องต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอนุญาตหรืออนุมัติ
(๕) มติคณะรัฐมนตรี 
      ผลจากการพิจารณาและลงมติของคณะรัฐมนตรี เรียกว่า มติคณะรัฐมนตรี มตินั้นไม่ใช่กฎหมายแม้อาจมีผลเป็นการให้ไปออกกฎหมายก็ตาม แต่มติคณะรัฐมนตรีก็มีความสำคัญเพราะเป็นคำสั่งหรือผลการพิจารณาวินิจฉัยของผู้มีอำนาจสูงสุดในทางบริหาร ดังนั้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหารจึงต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงในขณะเดียวกัน แม้มติคณะรัฐมนตรีจะสั่งการให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามโดยตรงไม่ได้ แต่ก็อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในทางอ้อม เช่น ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่ได้รับความสะดวกหรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่บุคคลควรรู้และทำความเข้าใจมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการงานของตน
 
การประชุมคณะรัฐมนตรี

 

หลักการบริหารราชการแผ่นดิน

      นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องบริหารประเทศให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายของคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี โดยสรุปการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องเป็นไปตามหลักดังนี้ 
    ๑. ต้องชอบด้วยกฎหมาย 
    ๒. ต้องไม่ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ 
    ๓. ต้องไม่กำหนดสิ่งใดเกินเลยไปจากที่กฎหมายกำหนด 
    ๔. ต้องไม่กระทำโดยทุจริต 
    ๕. ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราษฎรโดยไม่จำเป็นหรือไม่เป็นธรรม 
    ๖. ต้องเป็นไปตามหลักการปกครองที่ดีหรือธรรมาภิบาล (good governance) กล่าวคือ ชอบด้วยกฎหมายโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้มีเหตุผลอธิบายได้และมีการรับฟังความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องหรือผู้รับผลกระทบตามสมควร 
      การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตามหลักข้างต้น นอกจากผู้บริหารอาจต้องรับผิดชอบตามกฎหมายในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแล้วในทางการเมือง ผู้บริหารอาจต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น มีการตั้งกระทู้ถามจากสมาชิกรัฐสภา มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจหรืออาจมีการเข้าชื่อขอให้พิจารณาถอดถอนผู้บริหารนั้นจากตำแหน่ง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow