Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเข้าสู่ตำแหน่งของรัฐมนตรี

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
760 Views

  Favorite

การเข้าสู่ตำแหน่งของรัฐมนตรี

      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เช่น จำนวนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีน้อยลงเหลือไม่เกิน ๓๖ คน ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้มีรัฐมนตรีได้ไม่เกิน ๔๙ คน  การเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือการเข้าสู่ตำแหน่งของรัฐมนตรีมีขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ มากขึ้นและชัดเจนขึ้น  ในขณะที่การเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ จะอยู่ในดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาิปไตย  แม้แต่คุณสมบัติของรัฐมนตรีการควบคุมและการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน แม้กระทั่งการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีก็แตกต่างไปจากเดิมเป็นอันมาก ดังจะอธิบายต่อไปนี้ 

 

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี


      การจะเป็นรัฐมนตรีได้นั้นต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำและลงนามรับผิดชอบ เรียกว่า ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนการจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายคำแนะนำและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  สำหรับขั้นตอนในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีตามลำดับดังนี้

      ๑. มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะต้องจัดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
      ๒. คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง
      ๓. พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา
      ๔. พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรก
      ๕. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
      ๖. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร
 
การประชุม

 

     ๗. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามข้อ ๔ การเสนอชื่อผู้ควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง  (๑ ใน ๕ ของจำนวน ๕๐๐ คน เท่ากับ ๑๐๐ คน) มติเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดยการลงคะแนนอย่างเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (๒๕๑ คน)  แต่ถ้าคะแนนเสียงยังไม่ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถเรียกประชุมได้อีกจนกว่าจะได้มติเช่นว่านั้น แต่ถ้าพ้นกำหนด ๓๐ วันแล้ว ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อบุคคลผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดขึ้นกราบบังคมทูลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้บุคคลนั้นจะได้คะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งก็ตามในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
      ๘. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
      ๙. นายกรัฐมนตรีคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้วนำความกราบบังคมทูล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
     ๑๐. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี
     ๑๑. นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
     ๑๒. คณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาเพื่อร่างนโยบาย
     ๑๓. คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ตามข้อ ๑๑
     ๑๔. คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow