Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
1,431 Views

  Favorite

การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ 

      การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการจัดเป็นช่วงที่เสียค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบการผลิตหอยเป๋าฮื้อเพราะใช้เวลามากที่สุดอีกทั้งต้องการความดูแลเอาใจใส่อย่างดีและต่อเนื่อง หอยเป๋าฮื้อที่ตลาดต้องการมีหลายขนาดด้วยกัน ได้แก่ ขนาดที่นำไปเลี้ยงต่อ (มีความยาวเปลือก ๒-๓ เซนติเมตร) ขนาดค็อกเทล (มีความยาวเปลือก ๕-๗ เซนติเมตร) และขนาดใหญ่ (มีความยาวเปลือกมากกว่า ๗ เซนติเมตร ขึ้นไป) ซึ่งระยะเวลาในการเลี้ยงจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ ๖ เดือน - ๒ ปี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดค็อกเทล กล่าวคือมีขนาดความยาวเปลือกระหว่าง ๕-๗ เซติเมตร น้ำหนักตัวโดยรวมประมาณ ๒๐-๕๐ กรัม ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ ๑๒-๑๘ เดือน

 

การคัดหอยเป๋าฮื้อ


      ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่าหอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์ที่ต้องการน้ำทะเลสะอาดไหลผ่านอยู่ตลอดเวลาและหอยเป๋าฮื้อจะหลบแสงในเวลากลางวันโดยออกหากินในเวลากลางคืน ดังนั้นระบบการเลี้ยงในขั้นนี้ จะต้องมีการจัดสภาพบ่อเลี้ยงให้เหมาะสมกับความต้องการดังกล่าวด้วยมิฉะนั้นหอยจะมีอัตราการเติบโตที่ช้า ติดเชื้อโรคได้ง่าย และตายได้ในที่สุด สำหรับระบบการเลี้ยงที่ใช้กันในขั้นนี้แบ่งออกเป็น ๒ ระบบใหญ่ๆ ได้แก่ (๑) การทำฟาร์มในทะเล (sea farming) และ (๒) การทำฟาร์มบนบก (landbased system) ซึ่งการเลี้ยงในระบบการทำฟาร์มบนบก มีทั้งแบบระบบเปิด (open landbased system) และแบบระบบปิด (closed recirculating landbased system) ในที่นี้จะกล่าวถึงการทำฟาร์มบนบกในระบบปิดหรือกึ่งปิด (closed หรือ semi-closed) เพราะเป็นระบบที่สามารถควบคุมได้ดีกว่าการเลี้ยงแบบการทำฟาร์มในทะเล อย่างไรก็ดีระบบการเลี้ยงที่นำเสนอในที่นี้ยังมิใช่ระบบที่ดีที่สุดเพราะจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไปอีก สำหรับระบบการเลี้ยงแบบการทำฟาร์มบนบกโดยทั่วไปมีส่วนประกอบหลักและแนวทางในการดูแลเช่นเดียวกันกับที่จะได้นำเสนอส่วนรายละเอียดปลีกย่อย อาทิผลผลิต ต้นทุนในการผลิต จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละฟาร์มซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหาข้อมูลในรายละเอียดเองเมื่อได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

 

การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ


      ระบบการเลี้ยงแบบการทำฟาร์มบนบก สำหรับระบบการเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ณ สถานีวิจัยสัตว์ทะเลอ่างศิลาเป็นระบบการทำฟาร์มบนบกแบบหมุนเวียนกึ่งปิด ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑. บ่อเลี้ยง 

      บ่อที่ใช้เลี้ยงควรเป็นบ่อยาวมีทางน้ำไหลเข้าที่ปลายด้านหนึ่งของบ่อและทางระบายน้ำออกอีกด้านหนึ่งโดยจัดระบบการให้อากาศเป็นช่วง ๆ ตลอดความยาวของบ่อด้านข้างทั้ง ๔ ด้านและก้นบ่อ ทำให้มีความลาดชันไปยังแนวกลางบ่อเพื่อเป็นการช่วยให้ตะกอนเศษอาหารที่เหลือและของเสียที่หอยขับถ่ายออกมารวมตัวกันอยู่ตรงร่องกลางบ่อซึ่งง่ายต่อการทำความสะอาดและเนื่องจากหอยเป๋าฮื้อจำเป็นต้องมีที่เกาะและหลบแสง ดังนั้นในบ่อยาวจึงมีถังพลาสติกสีดำขนาดความจุประมาณ ๕๐ ลิตร เจาะรูที่ก้นถังวางคว่ำอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดความยาวบ่อโดยแต่ละถังมีหัวอากาศติดอยู่ เพื่อเพิ่มการถ่ายเทและผสมผสานของน้ำเมื่อน้ำไหลผ่าน

 

บ่อเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ

 

บ่อเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ

 

๒. รางน้ำ 

      ควรเป็นรางแบบเปิดเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาดไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ท่อปิดเพราะก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค การเน่าเสียของอาหาร และการเกิดก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์

๓. บ่อรับน้ำจากภายนอก 

      ส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นระบบควบคุมปริมาณน้ำบ่อบำบัดน้ำเบื้องต้นก่อนเข้าสู่ระบบกรองและบ่อรับน้ำใหม่จากถังเก็บเพื่อเติมเข้ามาในระบบเมื่อน้ำขาดปริมาณหรือมีความเค็มสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมีลักษณะเป็นบ่อกว้างแต่ตื้น (มีความลึกของน้ำ ประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร)

๔. ระบบกรองน้ำ 

ระบบกรองน้ำที่ใช้จะเป็นระบบกรองแบบชีวภาพ ประกอบด้วย ๓ ส่วน ได้แก่ 
     (๑) บ่อตกตะกอน 
     (๒) บ่อกรอง ๓ ชั้น ได้แก่ ชั้นเปลือกหอยนางรม ชั้นถ่าน และชั้นทราย และ 
     (๓) บ่อเก็บน้ำ 
      สำหรับประสิทธิภาพในการกรองขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิขนาดของระบบกรอง ปริมาณการไหลผ่านของน้ำในระบบ และปริมาณของเสียรวมที่ออกจากส่วนของบ่อที่ใช้เลี้ยง    ดังนั้นจึงควรมีการติดตามคุณภาพของน้ำในระบบที่ใช้ในการเลี้ยงหอยอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะปริมาณแอมโมเนียรวมในน้ำก่อนและหลังระบบกรอง

๕. ถังจ่ายน้ำ 

      น้ำทะเลที่ได้รับการบำบัดทางชีวภาพจากระบบกรองแล้วจะถูกสูบขึ้นไปเก็บในถังสูงเพื่อจ่ายเข้าสู่ระบบบ่อเลี้ยงโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกต่อไป  ในบางกรณีอาจใช้การจ่ายน้ำจากเครื่องสูบน้ำโดยตรงเลยก็ได้ถ้ามีระบบถังจ่ายความดันที่เหมาะสมแต่จะสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าสำหรับการดำเนินการดังกล่าวมาก

๖. บ่อฆ่าเชื้อและปรับคุณภาพน้ำทะเลก่อนเข้าสู่ระบบการเลี้ยง 

      ควรมีบ่อเก็บเพื่อฆ่าเชื้อโรคและปรับคุณภาพน้ำทะเลให้เหมาะสมก่อนเริ่มการเลี้ยง น้ำทะเลที่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อและปรับคุณภาพจากบ่อนี้แล้วจะปล่อยเข้าสู่ส่วนที่ ๓ (บ่อรับน้ำจากภายนอก) หรือปล่อยสู่บ่อเลี้ยงโดยตรงเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดระบบการเลี้ยงและความสะดวกของแต่ละฟาร์ม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow