Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พัฒนาการและการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
1,653 Views

  Favorite

พัฒนาการและการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ

      พัฒนาการและการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ พอจะแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ ได้ดังต่อไปนี้

๑. ระยะคัพภะ 

      ระยะนี้เริ่มตั้งแต่มีการปฏิสนธิกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย การแบ่งเซลล์ในระยะต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะบลาสทูลา (blastula) ระยะแกสทูลา (gastula) และระยะทรอโคฟอร์ (trochophore) จนถึงฟักเป็นตัวออกจากไข่ สำหรับระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ระหว่าง ๕-๘ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้เลี้ยง

 

ตัวอ่อนหอยเป๋าฮื้อ

 

๒. ระยะวัยอ่อน 

      ระยะนี้แบ่งออกเป็น ระยะตัวอ่อนที่ว่ายน้ำ (swimming larvae) และระยะตัวอ่อนที่คืบคลาน (creeping larvae)

๒.๑ ระยะตัวอ่อนที่ว่ายน้ำ
      ตัวอ่อนระยะนี้ประกอบด้วยตัวอ่อนในระยะทรอโคฟอร์ (swimming trochophore larvae) ซึ่งว่ายน้ำได้และจะมีพัฒนาการต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะเวลิเจอร์ (veliger) ซึ่งจะล่องลอยอยู่ในมวลน้ำและมีพฤติกรรมเคลื่อนที่เข้าหาแสงสว่าง (positive phototaxis) ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ ๑๖-๒๒ ชั่วโมง
๒.๒ ระยะตัวอ่อนที่คืบคลาน 
      ตัวอ่อนในระยะนี้เริ่มคืบคลานไปมาบนพื้นภาชนะที่ใช้เลี้ยงสลับกับการว่ายน้ำและจะใช้เวลาในการคืบคลานเป็นเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตัวอ่อนที่คืบคลานอย่างเต็มตัวโดยใช้เวลาในระยะนี้ประมาณ ๑-๓ วัน

 

ตัวอ่อนหอยเป๋าฮื้อ

 

๓. ระยะวัยรุ่น 

      ตัวอ่อนระยะคืบคลานเมื่อพบจุดที่เหมาะสมซึ่งเชื่อกันว่ามักเป็นบริเวณที่มีอาหารประเภทเบนทิกไดอะตอมเกาะติดอยู่ด้วยหรืออาจเป็นบริเวณที่มีสารเคมีบางอย่างติดอยู่ก็จะมีการพัฒนาเข้าสู่ระยะต่อไปโดยมีการเปลี่ยนรูปร่างคือการสร้างเปลือกและรูหายใจ หอยที่มีอายุประมาณ ๓๐ วัน จะมีรูหายใจปรากฏให้เห็นประมาณ ๑-๓ รู และมีความยาวเปลือกประมาณ ๐.๑ - ๐.๓ เซนติเมตร   ลูกหอยในระยะนี้มีรูปร่างเหมือนพ่อแม่พันธุ์ทุกประการแต่ยังไม่มีการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์

๔. ระยะวัยเจริญพันธุ์ 

      หอยวัยรุ่นจะใช้เวลาในการเติบโตจนมีอายุประมาณ ๘ - ๑๐ เดือน โดยมีขนาดความยาวเปลือกประมาณ ๓ เซนติเมตร ก็เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในสภาพการเลี้ยงในระบบบนบกขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอาหารที่ให้  หอยที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในระยะนี้จะมีสัดส่วนของเพศผู้มากกว่าร้อยละ ๙๐ เมื่อเทียบกับเพศเมีย  เป็นที่น่าสังเกตว่าความดกของเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุน้อย และมีขนาดเล็กนี้จะมีปริมาณน้อยกว่าพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพ่อแม่พันธุ์ที่จับได้จากธรรมชาติ  แต่อัตรารอดของการเลี้ยงจะมีค่าที่สูงกว่าซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจะมีการวางแผนการทดลองที่เหมาะสมเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow