Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้ประโยชน์จากข้าวฟ่าง

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
1,931 Views

  Favorite

การใช้ประโยชน์จากข้าวฟ่าง 

 

        เมล็ดข้าวฟ่างเป็นอาหารที่สำคัญของมนุษย์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดีย และจีน มนุษย์อาจบริโภคข้าวฟ่างโดยตรงเป็นอาหารหลัก โดยหุงต้มคล้ายข้าว หรือบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์ทำจากแป้งข้าวฟ่าง นอกจากนี้ ยังใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ได้ดีอีกด้วย คนเริ่มนิยมใช้ข้าวฟ่างผสมเป็นอาหารสัตว์มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับข้าวโพด ข้อได้เปรียบของข้าวฟ่าง ก็คือ ราคาถูกกว่า แม้ว่าข้าวฟ่างจะมีไขมันน้อยกว่าข้าวโพดเล็กน้อย ทำให้ต้องใช้ข้าวฟ่างมากกว่าข้าวโพด ในการที่จะให้ได้น้ำหนักเพิ่มเท่ากัน แต่เมื่อคิดต้นทุนกำไรแล้ว
การใช้ข้าวฟ่างทำเป็นอาหารสัตว์ อาจจะได้กำไรมากกว่า โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวฟ่างที่ดีจะมีคุณค่าอาหารใกล้เคียงกับข้าวโพด

 

ข้าวฟ่าง ได้รับความนิยมใช้เป็นอาหารสัตว์มากขึ้น

 

ต้นและใบของข้าวฟ่างบางชนิด ใช้ทำหญ้าแห้ง หญ้าหมัก หรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้เป็นอย่างดีเช่น หญ้าอัลมัม หญ้าซูแดกซ์ เป็นต้น

 

        ข้าวฟ่างหวาน หรือซอร์โก มีน้ำตาลในลำต้นมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ โดยการหีบเอา
น้ำหวานไปทำน้ำตาล ทำน้ำเชื่อม หรือนำไปหมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์

        ข้าวฟ่างไม้กวาด ใช้ประโยชน์จากช่อดอก โดยนำเอาก้านช่อดอกมาทำไม้กวาด และแปรงทาสีได้

 

ข้าวฟ่างไม้กวาดมีช่อหรือก้านรวงยาว เหมาะสำหรับทำไม้กวาด
ไม้กวาดแบบต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์จากข้าวฟ่างไม้กวาด

 

        นอกจากนี้แล้ว ข้าวฟ่างยังใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายชนิด เช่น แป้งข้าวฟ่าง
ใช้ในอุตสาหกรรมทำไม้อัด ทำกาว ทำกระดาษ ทำผ้า และทำแอลกอฮอล์ ข้าวฟ่างบางพันธุ์  
เมล็ดมีรสขมฝาด ก็สามารถนำมาหมักเป็นเบียร์ได้ ในประเทศจีน ยังใช้เมล็ดข้าวฟ่างบางชนิด
ทำเหล้าพวกเกาเหลียงได้ด้วย

        ในการใช้ประโยชน์จากต้นและใบข้าวฟ่างนั้น มีสิ่งที่ต้องพึงระวังไว้บ้างคือ ในต้นและใบข้าวฟ่างที่ยังอ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นกล้า จะมีสารพิษที่เรียกว่า ดูร์ริน (dhurrin) อยู่มาก ถ้าสัตว์กินเข้าไป สารพิษตัวนี้จะถูกย่อยกลายเป็นกรดปรัซสิก (prussic acid) หรือกรดไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic acid) ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์ สารพิษชนิดนี้ถ้าได้รับมาก ๆ จะทำให้สัตว์พวกแพะ แกะ วัว และควายตายได้ แต่ข้าวฟ่างที่ทำเป็นหญ้าแห้ง หรือหญ้าหมักแล้ว จะใช้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยไม่เป็นอันตราย เพราะสารพิษเหล่านี้จะสลายตัวหมดไประหว่างการตากแห้ง หญ้าหมัก
อาจจะมีกรดปรัซสิกอยู่บ้าง แต่จะระเหยหมดไปในระหว่างที่ขนไปเลี้ยงสัตว์ เมื่อพืชแก่
กรดนี้จะลดลง ปริมาณสารพิษนี้จะแตกต่างกันไป แล้วแต่พันธุ์และสภาพดินฟ้าอากาศ ฉะนั้นในการใช้ต้นข้าวฟ่างเลี้ยงสัตว์จึงต้องระมัดระวัง โดยทั่วไปไม่ควรให้สัตว์กินต้นอ่อน หรือหน่อที่แตกใหม่
หากจะให้สัตว์กินควรใช้ต้นแก่ หรือมิฉะนั้นก็ตากแห้ง หรือทำหญ้าหมักเสียก่อน

 

        นอกจากสารพิษที่อยู่ในต้นและใบอ่อนของข้าวฟ่างแล้ว ในเมล็ดข้าวฟ่างบางพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ที่มีเมล็ดสีแดงแสด หรือสีน้ำตาล ยังมีสารแทนนินอยู่ในเมล็ดอีกด้วย สารนี้จะทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ไม่ดี เพราะทำให้โปรตีนใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ สารนี้พบมากในข้าวฟ่างพันธุ์ป่า และพันธุ์ที่ต้านทานต่อการเข้าทำลายของนก เชื่อกันว่า สารนี้ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นได้ ในสมัยโบราณ มีการสกัดเอาสารนี้มาใช้ในการฟอกหนัง เพื่อสกัดเอาโปรตีนที่ติดอยู่ตามหนังออก สารแทนนินในข้าวฟ่าง เป็นตัวการทำให้รสฝาด จากการศึกษาพบว่า ปริมาณแทนนินร้อยละ ๐.๑ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์แต่ในระดับร้อยละ ๐.๕-๒ จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของสัตว์ลดลง และที่ระดับร้อยละ ๕ สามารถทำให้สัตว์ตายได้ อย่างไรก็ดี สารแทนนินจะไม่มีผลเลย
ถ้าอาหารนั้นมีโปรตีนเพียงพอ เช่น การผสมกากถั่วเหลืองเพิ่มลงไปในอาหารสัตว์ ตั้งแต่ร้อยละ ๒๕.๓ ขึ้นไป เป็นต้น ตามความเป็นจริงแล้ว สารแทนนินไม่ใช่สารพิษ เพียงแต่มีผลทำให้การย่อยโปรตีนลดลง การแยกสารแทนนินออกจากข้าวฟ่าง อาจทำได้ โดยการแช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำด่าง
ที่อุณหภูมิ ๖๐ องศาเซลเซียส แล้วล้างด้วยน้ำร้อน เปลือกของเมล็ดข้าวฟ่างจะหลุดออกมาหมด
สารแทนนินก็จะติดเปลือกออกมาด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow