Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
1,187 Views

  Favorite

การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน 

      ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสัตว์นานาชนิดคือความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร มีการจัดสรรสารอาหารและพลังงานที่ลงตัวทั้งในกลุ่มพืชและสัตว์บริเวณป่าชายเลนจะมีความหลากหลายในรูปของแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้สัตว์ต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะเพื่ออยู่อาศัยหรือเพื่อหาอาหารร่วมกันได้โดยไม่ต้องแก่งแย่งกัน ถ้าความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนยังดำรงสภาพอยู่ก็ย่อมจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงด้วย เนื่องจากยังมีกระบวนการและกลไกที่ควบคุมให้ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันการเสื่อมสภาพของป่าชายเลนได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวประมงโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน คือ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่เคยจับได้เพื่อยังชีพลดลงอย่างมากโดยเฉพาะการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง  จากการศึกษาพบว่าการเสื่อมสภาพของป่าชายเลนทำให้พวกลูกกุ้ง ลูกปู และลูกหอยลดลง เช่น บริเวณป่าชายเลนจังหวัดชลบุรีนั้นทรัพยากรประมงรวมทั้งชนิดและความชุกชุมของพันธุ์ปลาก็ลดลงด้วย  จากการศึกษาประชากรปลาที่บริเวณคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙ พบว่าจับปลาได้ ๗๒ ชนิดในบริเวณป่าชายเลนและ ๑๒๙ ชนิดในบริเวณชายฝั่ง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อเวลาผ่านไปอีก ๑๖ ปี ได้ทำการสำรวจซ้ำอีกพบเพียง ๒๕ ชนิดเท่านั้น ซึ่งในระยะนี้ป่าชายเลนบริเวณนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปเกือบหมด สัตว์น้ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเสื่อมสภาพของป่าชายเลนคือ หอยแครง การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะเมื่อป่าชายเลนหมดไปทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของหอยแครงลดลง นอกจากนี้ดินในบริเวณหาดโคลนก็เปลี่ยนไปมีลักษณะแข็งกระด้างหรือมีดินเลนปกคลุมผิวหน้าชั้นดินแข็งทำให้หอยแครงอาศัยอยู่ไม่ได้ แต่เดิมในบริเวณนี้เมื่อสภาพป่าชายเลนยังอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านสามารถเก็บหอยแครงได้ประมาณ ๗๐-๘๐ กิโลกรัม ภายในระยะเวลา ๔-๕ ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันจะเก็บได้อย่างมากไม่ถึง ๔๐ กิโลกรัม ภายในระยะเวลาเท่ากันถ้าเป็นฤดูที่หอยแครงมีน้อยจะเก็บได้เพียง ๔-๕ กิโลกรัม เท่านั้น

 

การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน

 

การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน


      ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเสื่อมสภาพหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าชายเลน ทำให้ผลผลิตการประมงลดลง ดังเช่นการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมบริเวณปากแม่น้ำเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ในช่วงพ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๕ พบว่าการทำนากุ้งเป็นสาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลนโดยเฉพาะหลังจาก พ.ศ. ๒๕๓๑ นั้น พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างมาก  ในพ.ศ. ๒๕๓๒ ผลผลิตการประมงเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก ๑๖.๐๗๖ ตัน (ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๗ -๒๕๓๑) เป็น ๑๐.๒๘๑ ตัน (ระหว่างพ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖) หรือลดลงร้อยละ ๑๖.๐๕ การเสื่อมสภาพของป่าชายเลนส่งผลกระทบต่อชนิดและปริมาณของสัตว์ทะเลหน้าดินในป่าชายเลนอย่างชัดเจนซึ่งผลการศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดินในป่าชายเลนที่ถูกตัดฟันและป่าชายเลนธรรมชาติพบว่า ป่าชายเลนธรรมชาติมีความหนาแน่นของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มากกว่าป่าชายเลนที่ถูกตัดฟัน เช่น ปริมาณปูก้ามดาบและปูแสม เป็นต้น ความหนาแน่นของสัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณป่าชายเลนปลูกบนพื้นที่เหมืองแร่เดิมโดยเฉลี่ยมีค่าน้อยกว่าป่าชายเลนธรรมชาติ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow