Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสัมพันธ์ระว่างทรัพยากรประมงกับระบบนิเวศป่าชายเลน

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
1,791 Views

  Favorite

ความสัมพันธ์ระว่างทรัพยากรประมงกับระบบนิเวศป่าชายเลน

      การศึกษาเกี่ยวกับแพลงก์ตอนสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ลูกกุ้ง และลูกหอย ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวกับปลาและปลาวัยอ่อนในบริเวณป่าชายเลนในประเทศไทยนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่าชายเลนกับทรัพยากรประมงอย่างชัดเจนในการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน  ปลาเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งและในป่าชายเลนเพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลลูกปลา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างถาวร และเป็นแหล่งผสมพันธุ์ด้วย เช่น ป่าชายเลนจังหวัดระนอง ป่าชายเลนจังหวัดตรัง ป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต ป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสงคราม และป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น ป่าชายเลนจังหวัดระนองนับว่าเป็นบริเวณที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่บนบกและในทะเลการขยายตัวของนากุ้ง และการขยายตัวของเมืองก็ตาม สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่พบมากในบริเวณนี้จะเป็นพวกกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิที่มีชื่อเสียงของจังหวัดระนอง กุ้งขนาดเล็กและกุ้งขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และกุ้งตะกาด

 

กุ้ง

 

กุ้ง ปลา ป่าชายเลน

 

       นอกจากนี้ยังพบลูกปูชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญในกลุ่มประชากรแพลงก์ตอน  ถึงแม้ว่าบริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนองจะมีการทำประมงกันมากโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนรุน แต่ก็พบว่าพันธุ์ปลาในบริเวณนี้ค่อนข้างชุกชุมโดยพบปลาวัยอ่อนประมาณ ๒๓ ครอบครัว และพบปลาที่เจริญเต็มวัย เช่น พวกปลาหลังเขียว ปลากระบอก ปลาแป้น มากกว่า ๑๑๑ ชนิด จัดอยู่ใน ๔๘ ครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหน้าดินซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์หลายชนิด  ปูทะเลในบริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนองจัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญโดยในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๖ ชาวประมงสามารถจับปูทะเลขายได้ปีละประมาณ ๑๐๙ ตัน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ ๔๖ หรือประมาณ ๕๐ ตัน เป็นปูทะเลที่มีขนาดเล็กกว่า ๑๐ ซม. ปูทะเลที่จับได้ประมาณร้อยละ ๔๒ มีขนาดเกิน ๑๐ ซม. (ไม่รวมปูตัวเมียที่มีไข่) ปูทะเลตัวเมียที่มีไข่ขนาดระหว่าง ๑๐.๐-๑๑.๕ ซม. ที่จับได้คิดเป็นร้อยละ ๑๒ จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การประมงปูทะเลในบริเวณนี้เริ่มแสดงให้เห็นถึงการจับปูทะเลที่มากเกินอัตราการผลิต  ผลการศึกษาประชากรปูทะเลในบริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนองในช่วงพ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙  ยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลผลิตปูทะเลลดลงกว่าครึ่งและปูทะเลที่จับได้มีขนาดเล็กลงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปูทะเลมีการเสื่อมสภาพเพิ่มมากขึ้น  ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตก็มีความสำคัญในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งเลี้ยงตัวของทรัพยากรปลามากกว่า ๑๔๐ ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาวัยอ่อนและปลาวัยเจริญพันธุ์   ป่าชายเลนบริเวณคลองสิเกา จังหวัดตรัง นับเป็นป่าชายเลนจำนวนน้อยมากของประเทศไทยที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่มากโดยมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์นานาชนิด แพลงก์ตอนสัตว์ที่พบเป็นพวกกุ้งและปูรวมแล้วเป็นกุ้งวัยอ่อนทั้งหมด ๕ ครอบครัว และปูวัยอ่อนรวม ๑๒ ครอบครัว ปลาวัยอ่อนที่พบในบริเวณป่าชายเลนคลองสิเกามีทั้งหมด ๒๐ วงศ์ ซึ่งเป็นปลาวัยอ่อน ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าชายเลนอย่างถาวร จากระยะวัยอ่อนจนถึงระยะเต็มวัยและกลุ่มที่เข้ามาในระยะวัยอ่อนเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลหรืออาจจะพบได้อีกครั้งว่าได้เข้ามาหาอาหารในช่วงโตเต็มวัย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow