Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนแต่ละไฟลัม

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
2,599 Views

  Favorite

ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนแต่ละไฟลัม 

      ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนแต่ละไฟลัมประกอบด้วยอะไรบ้าง

แพลงก์ตอนสัตว์ 

      กลุ่มแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตขั้นต้นคือ แพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) กับพวกสัตว์น้ำและปลาชนิดต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แพลงก์ตอนสัตว์จะมีตัวแทนของสัตว์ขนาดเล็กในกลุ่มโปรโตซัวและพวกแมงกะพรุน  สัตว์กลุ่มหลังนี้จะเป็นผู้ล่าที่สำคัญในกลุ่มแพลงก์ตอนสัตว์ นอกจากนี้แพลงก์ตอนสัตว์ที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนถาวร เช่น หนอนธนูและเคย สัตว์น้ำหลายชนิดจะดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนช่วงระยะเวลาหนึ่งในวงจรชีวิตของมัน ได้แก่ พวกลูกหอย ลูกกุ้ง ลูกปู และปลาวัยอ่อน

 

แพลงก์ตอน

 

สัตว์ทะเลหน้าดิน 

      สัตว์ในบริเวณป่าชายเลนที่มีผู้ศึกษามากที่สุด ได้แก่ สัตว์ทะเลหน้าดิน (Benthos) ทั้งที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก การศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณป่าชายเลนจะเป็นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณ และการกระจายของสัตว์กลุ่มนี้  นอกจากนี้ยังมุ่งศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหน้าดินที่สัมพันธ์กับการประมงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหน้าดินเหล่านี้มีความสำคัญในแง่ของการเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์หลายชนิดทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก เช่น นก ลิงแสม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ

 

สัตว์ทะเลหน้าดิน

 

สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก 

      สัตว์ทะเลหน้าดินที่มีขนาดเล็ก เช่น พวกโปรโตซัวมีบทบาทในการย่อยสลายอินทรียสารผักและเมล็ดของต้นไม้ในป่าชายเลน  นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการเชื่อมระหว่างสัตว์ในห่วงโซ่อาหาร โดยเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับแพลงก์ตอน สัตว์ทะเลหน้าดิน และปลาขนาดเล็ก สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็กนอกเหนือจากกลุ่มโปรโตซัวที่มีบทบาทในการย่อยสลายอินทรียสารหรือมีส่วนเร่งในการหมุนเวียนอาหาร ได้แก่ พวกไส้เดือนตัวกลม ไส้เดือนทะเล และหนอนถั่ว (Sipunculids) เป็นต้น

หอยสองฝาและหอยฝาเดียว 

      สัตว์กลุ่มนี้มีทั้งพวกที่กรองอาหารจากน้ำทะเลกินพวกแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์พวกที่กัดแทะสาหร่ายชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นตามพื้นดินหรือรากไม้  บางชนิดเป็นพวกที่กินอินทรียสารซึ่งจะช่วยเร่งอัตราการหมุนเวียนของธาตุอาหาร เราพบหอยชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ในป่าชายเลนโดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของมัน พบหอยฝาเดียวและหอยสองฝาฝังอยู่ในดินบางชนิดจะเกาะอยู่ตามรากต้นไม้ เช่น หอยนางรม หอยกะพง และหอยจอบ หอยฝาเดียว เช่น หอยขี้นก จะเคลื่อนที่ขึ้นลงตามกิ่งไม้ใบไม้และต้นไม้ตามช่วงน้ำขึ้นน้ำลง หอยขี้นกต่างชนิดจะกระจายอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของต้นไม้ โดยมีลักษณะการกระจายในแนวดิ่ง (Vertical zonation) หอยสองฝาบางชนิด เช่น หอยเจาะ หรือเพรียงเจาะ จะเจาะไชอยู่ตามโพรงไม้มีบทบาทในการย่อยสลายของท่อนไม้และซากไม้ที่ผุพังในป่าชายเลน นอกจากนี้รอยแยกหรือโพรงไม้ที่เกิดจากการเจาะไชของหอยชนิดนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น เช่น แมลง หรือปู เป็นต้น

 

หอยฝาเดียว

 

แมลง 

      แมลงมักจะถูกมองว่าเป็นศัตรูที่สำคัญของพรรณไม้ในป่าชายเลน แต่แท้จริงแล้วแมลงมีบทบาทมากในการผสมเกสรของพรรณไม้ในป่าชายเลน เช่น พวกผึ้ง ที่สำคัญคือมีบทบาทในการย่อยสลายของใบไม้กิ่งไม้ต่าง ๆ ในบริเวณป่าชายเลน แมลงเป็นตัวการสำคัญในการกัดแทะใบอ่อนของพรรณไม้ป่าชายเลนเมื่อเกิดรอยแผลขึ้นตามใบหรือลำต้นพวกจุลินทรีย์โดยเฉพาะพวกเชื้อราซึ่งจะเจริญได้ดีก็ช่วยเร่งการร่วงหล่นของใบไม้ ปูจะกัดกินใบไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้นหรือพวกใบแก่ที่เริ่มเปลี่ยนสีเช่นเดียวกับพวกสัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก เช่น ไส้เดือนตัวกลมที่จะกัดกินพวกซากไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่น

 

แมลง

 

ครัสเตเชียน

      สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มสำคัญที่พบในป่าชายเลน ได้แก่ ครัสเตเชียนซึ่งพบเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์กลุ่มนี้มีผู้สนใจศึกษามากที่สุดโดยเฉพาะพวกเดคาปอด (Decapod crustaceans) โดยเฉพาะพวกกุ้งและปู นอกจากนี้ยังมีพวกเพรียง (Barnacles) โคพิปอด (Copepods) ไอโซปอด (Isopods) และแอมฟิปอด (Amphipods) ตัวอ่อนของพวกครัสเตเชียนและพวกโคพิปอดเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุดในพวกแพลงก์ตอนสัตว์ในป่าชายเลน ปูที่พบในป่าชายเลนสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ พวกที่ฝังตัวหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน ได้แก่ พวกปูแสม ปูก้ามดาบ ปูลม ปูม้า และปูทะเล ปูกลุ่มที่สองคือพวกที่คืบคลานตามพื้นหรือไต่ตามต้นไม้ ได้แก่ ปูแสม ปูมีบทบาทมากมาย ในระบบนิเวศป่าชายเลนปูแสมถือว่าเป็นศัตรูที่สำคัญของกล้าไม้ชอบกัดกินฝักและเมล็ดของพรรณไม้ป่าชายเลน แต่มีปูแสมเพียงไม่กี่ชนิดที่กินใบไม้ กล้าไม้ หรือฝักของพรรณไม้ป่าชายเลน  ปูส่วนใหญ่จะมีบทบาทเป็นพวกที่กินซากไม้ใบไม้ที่เน่าเปื่อยหรืออินทรียสารในดิน    ดังนั้นจึงมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียสารและช่วยเร่งการหมุนเวียนของธาตุอาหาร เช่น พวกปูก้ามดาบ และปูแสม ปูหลายชนิด เช่น ปูทะเลและปูม้า จะมีบทบาทในการเป็นผู้ล่าที่สำคัญ โดยกินพวกปูขนาดเล็กและหอยชนิดต่าง ๆ กิจกรรมในการขุดรูหรือการกินอาหารของปูชนิดต่าง ๆ จะมีผลต่อการย่อยสลายอินทรียสารในป่าชายเลน

 

ปู

 

ปู

 

ปลา 

เราสามารถแบ่งปลาที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าชายเลนได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ 
      กลุ่มแรก เป็นกลุ่มปลาที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนอย่างถาวร  โดยตลอดวงจรชีวิตของมันนับตั้งแต่เป็นปลาวัยอ่อนจนกลายเป็นปลาที่เจริญพันธุ์ก็จะอาศัยอยู่ในป่าชายเลน 
      กลุ่มที่สอง เป็นปลาที่เข้ามาในบริเวณป่าชายเลนเพื่อหาอาหารหรือเพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ ดังนั้นเราจะพบปลากลุ่มนี้เฉพาะบางช่วงของวงจรชีวิตในบริเวณป่าชายเลนหรือเขตน้ำกร่อย 
      กลุ่มที่สาม มักเป็นกลุ่มผู้ล่า คือ พวกปลาทะเลขนาดใหญ่ที่เข้ามาในบริเวณป่าชายเลนเพื่อหาอาหาร ปลาพวกนี้จะว่ายเข้าออกในบริเวณป่าชายเลนตามช่วงจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง 
      กลุ่มสุดท้าย จะเข้ามาในบริเวณป่าชายเลนในบางฤดูกาลเท่านั้น

 

ปลา

 

สัตว์อื่นๆ  

      สัตว์ชนิดอื่น เช่น นก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบริเวณป่าชายเลนไม่ค่อยมีผู้สนใจศึกษา สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเข้ามาในบริเวณป่าชายเลนบางช่วงเวลาแต่ก็มีหลายชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่ในเขตนี้เลย
      นกในบริเวณป่าชายเลนมีอยู่หลายชนิ โดยเฉพาะพวกนกกินปลา นกปรอด เป็ดแดง นกเขาเปล้า และวงศ์นกกระเต็น เป็นต้น นกที่อพยพตามฤดูกาลจะอาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งหาอาหาร แหล่งผสมพันธุ์และแหล่งวางไข่โดยเฉพาะในกลุ่มนกที่อพยพตามฤดูกาล
      สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบมากบริเวณป่าชายเลน ได้แก่ ค้างคาวชนิดต่าง ๆ ลิงลม ลิงแสม หนูบ้าน กระแต นาก เสือปลา แมวป่า เสือโคร่ง อีเห็น พังพอน แรด กระซู่ หมูป่า กระจง และอีเก้ง สัตว์เหล่านี้อาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหาร พวกนี้จัดว่ามีความสำคัญในแง่การถ่ายทอดพลังงานและในห่วงโซ่อาหาร

 

นก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow