Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัตว์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในป่าชายเลนในบางช่วงระยะ

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
2,271 Views

  Favorite

สัตว์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในป่าชายเลนในบางช่วงระยะ 

กุ้งทะเล  

      เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าชายเลนในบางช่วงชีวิตเพื่อหาอาหาร ผสมพันธุ์ และอนุบาลตัวอ่อน  โดยเฉพาะกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และกุ้งตะกาด ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกุ้งทะเลเหล่านี้จะมีเพศแยกจากกันการผสมพันธุ์เกิดขึ้นบริเวณนอกชายฝั่งซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเค็มสูง ตัวอ่อนระยะแรกคือ ระยะนอลเพลียส (Naulplius) ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอีกหลายระยะ  ระยะที่เป็นตัวอ่อนที่มีรูปร่างเริ่มเรียวยาวว่ายน้ำได้ดีจะเป็นระยะซูเอีย (Zoea) และระยะไมซิส (Mysis) ซึ่งเป็นระยะที่มีรูปร่างคล้ายตัวแก่แล้วและท้ายที่สุดก็เปลี่ยนรูปร่างเป็นลูกกุ้งวัยรุ่นซึ่งเป็นระยะที่ชอบอยู่ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ ลูกกุ้งวัยรุ่นสามารถว่ายน้ำได้ดีจึงมีการอพยพเข้าหาฝั่งบริเวณป่าชายเลนเพื่อเข้ามาอยู่อาศัยและหากินตลอดจนหลบซ่อนศัตรู ป่าชายเลนจึงเป็นแหล่งอนุบาลของกุ้งทะเล เมื่อเจริญวัยกุ้งกุลาดำและกุ้งแชบ๊วยจะอพยพออกสู่ทะเลเพื่อวางไข่ในแหล่งน้ำที่มันเกิด ด้วยเหตุนี้เราจะพบว่าการเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยในระยะแรกต้องพึ่งลูกกุ้งจากธรรมชาติทั้งสิ้น

ปูทะเล 

      เป็นสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าชายเลนและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนดำรงชีวิตโดยการจับปูทะเลและเลี้ยงหรือขุนปูทะเลเพื่อขาย โดยทั่วไปปูทะเลชอบอาศัยอยู่ตามพื้นโคลนหรือพื้นโคลนปนทรายในบริเวณป่าชายเลนปากแม่น้ำโดยปูทะเลวัยอ่อนที่มีกระดองกว้างระหว่าง ๒๐ - ๙๙ มิลลิเมตร จะอาศัยอยู่ในป่าชายเลนทั้งในบริเวณชายฝั่งในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ปูทะเลวัยรุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะอพยพเข้ามาหาอาหารในป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงในขณะที่น้ำขึ้นสูงสุดและกลับออกสู่บริเวณชายฝั่งในขณะที่น้ำลง ส่วนปูทะเลที่โตเต็มวัยจะสามารถเข้ามาหาอาหารในบริเวณต่าง ๆ ในป่าชายเลนได้

 

ปูทะเล

 

ปูทะเล

 

แมงดาทะเล 

      เป็นสัตว์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิต (Living fossil)” เพราะรูปร่างลักษณะของมันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมน้อยมากนับตั้งแต่ถือกำเนิดมาบนโลกมากกว่า ๔๐๐ ล้านปีที่ผ่านมา แมงดาทะเลที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลของไทยมี ๒ ชนิด คือ แมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) และแมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) แมงดาทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่างและการดำรงชีวิต  ในช่วงน้ำขึ้นเราพบว่าแมงดาจานจะขึ้นมาวางไข่ที่หาดทรายส่วนแมงดาถ้วยจะขึ้นมาวางไข่ในป่าชายเลนในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ ๑ เมตร แมงดาถ้วยจะขุดหลุมลึกจากผิวดินประมาณ ๓ - ๘ เซนติเมตร เพื่อวางไข่หลุมละประมาณ ๑๐๐ - ๑๕๐ ฟอง โดยจะวางไข่ในแต่ละครั้งเพียง      ๑ - ๒ หลุมเท่านั้น แต่ใช้เวลานานนับเดือนในการฟักตัว

 

แมงดาทะเล

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow