Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การดำเนินงานเพื่อการจัดการสวนส้ม

Posted By Plookpedia | 17 มิ.ย. 60
1,778 Views

  Favorite

การดำเนินงานเพื่อการจัดการสวนส้ม

๑. การปรับเตรียมพื้นที่ปลูก

      ๑.๑ การปรับสภาพพื้นที่ปลูก 

           การปลูกส้มในที่ลุ่มซึ่งมักมีสภาพดินเป็นดินเหนียวมีระดับน้ำใต้ดินสูงเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คู คลอง เกษตรกรจึงมักนิยมปลูกแบบยกร่องมีการปรับพื้นที่ปลูกให้มีความสูงต่ำสม่ำเสมอกันมีการวิเคราะห์โครงสร้างของดินความอุดมสมบูรณ์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินตั้งแต่เมื่อแรกเตรียมดินเพื่อการปลูกและตลอดระยะเวลาของการปลูก       หากพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบสูงหรือที่ดอน เช่น ในภาคเหนือการปรับสภาพพื้นที่ให้มีความสูงต่ำสม่ำเสมอไม่มีความจำเป็นมากนัก 

      ๑.๒ การขุดคันล้อมและการยกร่อง 

            การขุดคันล้อมเป็นการปฏิบัติงานอย่างหนึ่งสำหรับการปลูกส้มในที่ลุ่มเพื่อเป็นแนวแบ่งเขตบริเวณที่ดินรวมทั้งเป็นร่องน้ำที่นำน้ำเข้ามาใช้ในแปลงปลูกและเพื่อการระบายน้ำ การปลูกในสภาพยกร่องที่มีการขุดคันล้อมจะทำให้มีพื้นที่ปลูกส้มน้อยกว่าการปลูกในสภาพไร่ประมาณร้อยละ ๑๕ - ๒๐ ของพื้นที่ทั้งหมด แนวหรือแถวปลูกควรจะอยู่ในแนวทิศเหนือ - ทิศใต้ ยกเว้นในกรณีที่พื้นที่ปลูกมีความยาวมากกว่าความกว้างก็จำเป็นต้องวางแนวของร่องปลูกไปตามความยาวของพื้นที่ การปลูกในสภาพไร่ควรมีการวางหรือกำหนดจุดหรือบริเวณที่จะเป็นสระเก็บกักน้ำหากพื้นที่ปลูกมีขนาดใหญ่และต้องการให้น้ำโดยการใช้ระบบน้ำแบบท่อก็ต้องวางแนวของระบบน้ำสำหรับแปลงปลูกให้เสร็จเรียบร้อยพร้อม ๆ กับการวางแนวยกร่องลูกฟูกที่จะปลูกต้นส้ม

 

การปลูกส้ม

 

      ๑.๓ การกำหนดระยะระหว่างแถวและระยะต้น 

            ควรกำหนดหรือตัดสินใจเลือกระยะปลูกก่อนหรือพร้อม ๆ กับการเตรียมพื้นที่ การกำหนดว่าจะปลูกด้วยระยะเท่าใดขึ้นอยู่กับชนิดของส้มและความนิยมของผู้ปลูกเป็นหลัก การปลูกส้มเขียวหวานในที่ลุ่มภาคกลางนิยมใช้ระยะระหว่างแถวประมาณ ๖ - ๘ เมตร ระยะระหว่างต้น ๓ - ๔ เมตร เกษตรกรหลายรายเพิ่มจำนวนต้นส้มต่อพื้นที่ปลูกให้มากขึ้นโดยการปลูกแบบต้นคู่หรือแถวคู่ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนต้นต่อพื้นที่ปลูกได้มากขึ้นประมาณร้อยละ ๒๐ - ๔๐ ของการปลูกแบบต้นเดี่ยวหรือแถวเดี่ยว

๒. การเตรียมพันธุ์ส้มหรือการขยายพันธุ์ส้ม

      ขั้นตอนและวิธีการเตรียมพันธุ์ส้มหรือการเลือกวิธีการขยายพันธุ์ส้มเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จหรือไม่  การปลูกส้มในประเทศไทยนิยมใช้กิ่งตอนเพื่อการปลูกโดยไม่มีการคัดเลือกต้นพันธุ์และกิ่งตอน  ทำให้เกิดปัญหาติดตามมาในภายหลังในเรื่องของความไม่สมบูรณ์แข็งแรงของต้นส้มและปัญหาของโรคที่ติดมากับกิ่งพันธุ์  ปัจจุบันแนวโน้มของการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงหรือการใช้ต้นปลอดโรคซึ่งติดตาหรือเสียบยอดบนต้นตอพันธุ์ส้มที่แข็งแรงต้านทานโรคได้รับความสนใจและนิยมกันมากขึ้นโดยลำดับ

 

การขยายพันธ์ส้ม

 

๓. วิธีการปลูกและการดูแลปฏิบัติ 

      การปลูกและการดูแลปฏิบัติเป็นงานที่ต้องมีความเข้าใจหลักวิชาการหรือต้องอาศัยประสบการณ์มากพอสมควร  จึงจะทำให้ต้นส้มเจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงไม่ถูกรบกวนหรือถูกทำลายโดยศัตรูพืชและสามารถผลิดอกให้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน งานที่ต้องปฏิบัติดังกล่าว คือ
      ๓.๑ การปลูกและการดูแลปฏิบัติงาน 
      ๓.๒ น้ำชลประทานและระบบหรือวิธีการให้น้ำ 
      ๓.๓ การตัดแต่งและการจัดทรงพุ่ม 
      ๓.๔ ชนิดของปุ๋ย ธาตุอาหาร และระยะเวลาของการให้ปุ๋ย 
      ๓.๕ การดูแลป้องกันกำจัดโรค แมลง ไร และศัตรูอื่น ๆ 
      ๓.๖ การบังคับหรือการทำให้ต้นส้มผลิดอกและติดผล 
      ๓.๗ การดูแลและการปรับปรุงต้นส้มเพื่อทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค

 

การดูแลต้นส้ม

 

๔. การปลูกพืชกำบังลมหรือพืชล้อมแปลงปลูก 

      การปลูกพืชยืนต้นหรือพืชโตเร็วล้อมรอบแปลงปลูก  นอกจากจะบ่งบอกหรือชี้แนวของพื้นที่ปลูกแล้วยังมีประโยชน์ในการช่วยปะทะลมหรือพายุและกีดกั้นศัตรูพืชบางชนิดรวมทั้งพืชบางชนิดเป็นรายได้เสริมให้แก่ผู้ปลูกด้วย  พืชที่นำมาปลูกเป็นพืชกำบังลมหรือเป็นพืชล้อมแปลงปลูกจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกและไม่ควรเป็นแหล่งอาศัยของโรคหรือแมลงศัตรูส้ม  พืชที่นิยมปลูกเป็นพืชกำบังลม ได้แก่ สน กระถินเทพา มะม่วง ขนุน กล้วย

๕. การสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์เครื่องมือ 

      การสร้างโรงเรือนในแปลงปลูกมีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เก็บวัสดุและอุปกรณ์เครื่องมือ และเก็บพักผลผลิตระหว่างรอการขนส่ง สำหรับอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการปลูกส้มมีหลายชนิด ได้แก่ เครื่องมือสำหรับให้น้ำ เครื่องมือสำหรับฉีดพ่นสารเคมี เครื่องตัดหญ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ทางการเกษตร  ทั้งนี้การจัดสร้างโรงเรือนและการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ นั้น ควรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งานและเหมาะสมกับการลงทุนในแต่ละปี

๖. การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม 

      วิทยาการด้านการปลูกพืชตระกูลส้มในหลาย ๆ ประเทศได้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งการพัฒนาและการปรับปรุงพันธุ์ส้ม การปลูกและการใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ การดูแลปฏิบัติที่เหมาะสม การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย เกษตรกรจึงควรสนใจในการติดตามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนเกษตรกรผู้ที่มีประสบการณ์รวมทั้งจากนักวิชาการและจากข่าวสารหรือเอกสารวิชาการต่าง ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow