Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระราชวังในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

Posted By Plookpedia | 14 มิ.ย. 60
8,413 Views

  Favorite

พระราชวังในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

 

พระราชวังในสมัยสุโขทัย

เนื่องด้วยการปกครองในสมัยสุโขทัย เป็นการปกครองในระบบพ่อปกครองลูก จึงได้มีศัพท์ เรียกว่า พ่อขุน เช่น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่า พระราชวัง หรือสถานที่อยู่ หรือศูนย์กลางการปกครอง คงจะสร้างขึ้นเป็นเครื่องไม้ และอาจจะไม่มีความแตกต่างไปจากประชาชนเท่าไรนัก จึงไม่ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมเหลืออยู่

 

 

พระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา

มีพระราชวังตั้งอยู่ในบริเวณเกาะเมือง ๓ แห่ง คือ พระราชวังหลวง ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า วังโบราณเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ วังหน้าเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้แก่ วังจันทร์ หรือวังจันทรเกษม วังหลังเป็นที่ประทับของ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข นอกจากนั้นยังมีพระราชวังตั้งอยู่นอกกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นที่เสด็จประพาส เช่น วังที่เกาะบางปะอิน ตำหนัก พระนครหลวง ตำหนักธารเกษม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระพุทธบาท สระบุรี เป็นต้น นอกจากวังที่ประทับในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่จังหวัดลพบุรี ได้แก่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งพระราชวังแห่งนี้ มีปราสาทหลายหลัง และหมู่ตำหนักต่าง ๆ อีกหลายหมู่

 

บริเวณพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นครั้งที่ ๑ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์

 

พระราชวังหลวง 

การสร้างพระราชวังหลวงได้สร้างขึ้น ๒ ครั้งด้วยกัน 

ครั้งที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ นั้น ทรงสร้างพระราชวังในที่ ซึ่งเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในปัจจุบัน การสร้างพระราชวังในครั้งนั้นปรากฏว่า ได้สร้างปราสาทขึ้น ๓ องค์คือ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท นอกจากนั้นยังมีพระที่นั่งมังคลาภิเษก
ซึ่งเป็นที่นั่งตรีมุข ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับ

 

ครั้งที่ ๒ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงมีพระราชอุทิศยกวัง ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างไว้ เปลี่ยนเป็นวัดในพระราชวัง พระราชทานนามว่า วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ นอกจากนั้นได้ขยายเขตพระราชวังลงไปชิดแนวกำแพงเมือง ด้านทิศเหนือริมแม่น้ำ สร้างปราสาท และพระที่นั่งขึ้นใหม่หมด ได้แก่ พระที่นั่งเบ็ญจรัตนมหาปราสาท และพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ในการสร้างพระราชวังครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้หันหน้าพระราชวังไปทางทิศตะวันออก โดยมีแม่น้ำลพบุรี อยู่ทางด้านทิศเหนือ ให้วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เป็นวัดในพระราชวัง โดยไม่มีเขตสังฆาวาสให้พระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งเขตพระราชฐานเป็นฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ด้วยกำแพงพระราชวัง ชั้นในอีกรอบหนึ่ง

 

วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระราชวังหลวง ซึ่งถูกเผาทำลาย

 

พระที่นั่งองค์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงใน สมัยต่อมาเป็นลำดับ และถูกพม่าเผาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ คงเหลือแต่ซากพระที่นั่ง ที่ยังพอมีเค้าที่จะศึกษา และค้นคว้าจากพงศาวดารถึงประโยชน์ใช้สอย และรายละเอียดการสร้างได้ดังนี้

 

พระที่นั่งมังคลาภิเษกหรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จ
เป็นปราสาทองค์ใต้ เป็นพระที่นั่งที่สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรียกว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก ต่อมา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ถูกอสนีบาตไฟไหม้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นพระวิหารสมเด็จ พระที่นั่งองค์นี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกกันเป็นสามัญว่า ปราสาททอง เพราะเป็นปราสาทปิดทององค์แรกในสมัยอยุธยา มีลักษณะเป็นปราสาทยอดปรางค์ มีมุขหน้าหลังยาว และมุขข้างสั้น มุขหน้ามีมุขเด็จตั้งพระที่นั่งบุษบกมาลา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี เช่น พิธีราชาภิเษก เป็นต้น (ทำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ของพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ) 

 

พระที่นั่งมังคลาภิเษกหรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จ

 

พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท 
เป็นปราสาทองค์กลาง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นที่เสด็จออกรับแขกเมือง พระที่นั่งองค์นี้ สร้างขึ้นคู่กับพระที่นั่งเบ็ญจรัตนมหาปราสาท เมื่อ    พ.ศ. ๑๙๑๙ ที่ข้างพระที่นั่งองค์นี้มีโรงช้างเผือกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง

 

พระที่นั่งสุริยามรินทร์ 
เป็นพระที่นั่งองค์เหนือ ตั้งอยู่ตรงกับพระที่นั่งเบ็ญจรัตนมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่สันนิษฐานว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นปราสาทจตุรมุข มีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ คงจะใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรข้ามกำแพงไปสู่แม่น้ำได้ นอกจากนั้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมื่อเชิญพระบรมศพของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากเมืองลพบุรี ได้นำมาประดิษฐานที่พระที่นั่งองค์นี้ ต่อมาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้แปลงนามเป็นพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เพื่อให้คล้องกับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท

 

พระที่นั่งสุริยามรินทร์

 

พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ 
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๑๗๕ แต่เดิมชื่อพระที่นั่งคีริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์ เป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงพระราชวังชั้นใน ้านทิศตะวันออกของพระราชวัง สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่ และการฝึกซ้อมทหาร เพราะที่หน้าพระที่นั่งออกไปเป็นสนามหลวง (ทำนองเดียวกับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ของพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ) 

 

ตุ๊กตาปูนปั้นประดับฐานพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์

 

พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ 
สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๓๑ สำหรับเป็นที่ประทับทรงพระสำราญ พระที่นั่งองค์นี้ เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "พระที่นั่งท้ายสระ" ตั้งอยู่ด้านหลังของพระราชวัง ลักษณะเป็นปราสาทจตุรมุข กลางสระมีน้ำล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันตก เป็นสระใหญ่ ด้านทิศตะวันออกเป็นอ่างแก้ว ตรงกลางมีแท่นสูงสำหรับเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรปลาใหญ่ น้อยในสระดังกล่าว (ทำนองเดียวกับพระที่นั่งทองกลางสระในสวนขวา ของพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ)

 

พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์หรือพระที่นั่งท้ายสระ

 

พระที่นั่งทรงปืน 
สมเด็จพระเพทราชา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ฝึกเพลงอาวุธ ต่อมาใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออก พระที่นั่งองค์นี้ ตั้งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ริมสระด้านตะวันตก ลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

 

พระที่นั่งตรีมุข 
ตั้งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ไม่ปรากฏผู้สร้าง สันนิษฐานว่า ตั้งอยู่บนฐานของพระมหามณเฑียร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพลับพลาโถง เพื่อเป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จมาทอดพระเนตรการขุดแต่งพระราชวังหลวง และเป็นที่ต้อนรับแขกเมืองด้วย หลังจากพระราชพิธีรัชมงคลบำเพ็ญกุศลถวายพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ แล้ว พลับพลานี้ยังสมบูรณ์อยู่จนทุกวันนี้ 

พระที่นั่งอื่น ๆ และอาคารที่ใช้เป็นที่ทำการ เพื่อการปกครองประเทศ และประกอบพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ศาลหลวง ศาลาลูกขุนใน หอแปลพระราชสาส์น  โรงราชยาน โรงช้าง โรงม้า โรงเรือพระที่นั่งต่าง ๆ เหล่านี้คงปรากฏ แต่ในพงศาวดาร และรากฐาน หรือเศษชิ้นส่วนของวัสดุก่อสร้างที่ปรากฏให้สันนิษฐานได้เท่านั้น

 

การบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผา พระราชวังหลวงก็ถูกเผาไปจนหมดสิ้น ครั้งถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พระราชวังเก่าที่พระนครศรีอยุธยา เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ควรจะให้มีที่ระลึกไว้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทขนาดย่อมขึ้น ที่รากฐานของพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ทรงมีพระราชดำริจะโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ภายในปราสาท เพื่อเป็นที่สักการะต่อไป แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

 

ตราบจนสมัยรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขุดตรวจค้นแผนผังฐานพระมหาปราสาท และพระราชมณเฑียรทั้งพระราชวังขึ้น เพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ได้ลงมือขุดแต่งไปบ้าง ตราบจน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติจะครบ ๔๐ ปี เท่ารัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีรัชมงคลบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กับทั้งพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ ทุกพระองค์ ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อโครงปราสาท ที่ทำค้างไว้บนฐานพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทนั้นเสีย และสร้างขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้างป้อม กำแพง ประตูเมือง ประตูวัง และสถานที่ต่าง ๆ ตามรากฐานเดิม ด้วยโครงสร้างไม้ให้เหมือนพระราชวังกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริว่า จะเสด็จมาทอดพระเนตรเนือง ๆ และให้เป็นที่รับแขกเมืองได้ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาตรีมุขขึ้น บนฐานที่เข้าใจว่า เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับเดิม

 

พระราชวังหลวงหรือวังโบราณได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ สำหรับประชาชนเข้าชม

 

ปัจจุบันพระราชวังหลวง หรือวังโบราณนี้ กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์ไว้ พอจะเห็นเค้าโครงของฐานอาคารได้บางหลัง และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนเข้าชมด้วย

 

 

วังจันทรเกษม 
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วังนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๐ เรียกกันว่า วังใหม่ หรือวังจันทร์ เพื่อใช้เป็นที่ประทับขณะที่ดำรงพระยศเป็นพระยุพราชครองเมืองพิษณุโลก วัตถุประสงค์ที่ทรงสร้างวังนี้ ก็เพื่อเป็นที่ประทับ ขณะที่เสด็จลงมาเฝ้าพระราชบิดา เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ยังคงประทับที่วังนี้ ต่อมาอีกหลายปี จึงเสด็จไปประทับที่พระราชวังหลวง ต่อมาวังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระมหาอุปราชองค์ต่อ ๆ มา

 

พระราชวังจันทรเกษม ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

กล่าวกันว่าวังเก่า สำหรับพระมหาอุปราชนั้น ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง แต่เนื่องด้วยคับแคบ ภายหลังจึงยกวังจันทร์ขึ้น เป็นพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่เรียกว่า วังหน้า เพราะตั้งอยู่ติดกับคลองขื่อหน้า และเป็นด้านหน้าของพระราชวังหลวง แต่เดิม วังนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง เป็นที่สำหรับไปทอดพระเนตรช้างเถื่อน ซึ่งเคยปรากฏว่า มีเพนียดคล้องช้างตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงวังนี้ด้วย

 

กำแพงพระราชวังจันทรเกษม

 

ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลง วังจันทร์ ก็รกร้าง รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประทับ เวลาเสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นมาประพาสกรุงเก่า และทรงเปลี่ยนชื่อเป็น พระราชวังจันทรเกษม ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ วังนี้มิได้ใช้ต่อไป สถานที่ต่าง ๆ ทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซม อาคารเฉพาะบางหลัง และพระราชทานให้เป็น ที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม ในความควบคุมดูแลของหน่วยศิลปากรที่ ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

 

อาคารและสิ่งก่อสร้างที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน 
๑. กำแพงพระราชวัง ความยาวด้านละ ๔ เส้น มีซุ้มประตู ๔ ซุ้ม 

๒. พลับพลาจตุรมุข เป็นพลับพลาเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง หน้าบันของเดิมเป็นลายพระราชลัญจกร ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ พลับพลาชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อลง และสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้ฝาไม้ของเดิม พร้อมทั้งแก้ไขทรงหลังคา และลายหน้าบันทั้งหมด ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์

๓. พระที่นั่งพิมานรัตยา ก่อขึ้นตามฐานรากเดิม ซึ่งเคยใช้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ และปัจจุบันได้เป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑ์ 

๔. หอพิศัยศัลลักษณ์ เป็นอาคารสูง ๔ ชั้น ซึ่งก่อขึ้นตามรูปฐานรากเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดาว

 

หอพิศัยศัลลักษณ์

 

 

วังหลัง
พระราชวังหลังนี้ตั้งอยู่ในกำแพงพระนครด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวัดกษัตราธิราช วังหลังเพิ่งปรากฏมีขึ้นในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ เมื่อมอบราชสมบัติให้พระมหินทราธิราช ที่ตั้งของพระราชวัง อยู่ที่สวนหลวง ติดกับวัดสบสวรรค์ (บางครั้งจึงเรียกเป็นสามัญร่วมกันไปว่า "สวนหลวงสบสวรรค์") ยกขึ้นเป็นวัง เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่เรียกว่า วังหลัง เพราะวังนี้อยู่ริมพระนครด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านหลังของพระราชวังหลวง
วังหลังนี้ เมื่อเสียกรุงแล้ว คงจะรกร้าง ส่วนของอาคารไม่มีอะไรเหลือเป็นซาก ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นกรมยุทธนาธิการของทหาร แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงงานสุรา

 

พระราชวังหลัง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานสุรา

 

 

พระราชวังบางปะอิน 
พระราชวังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่บริเวณนี้ เป็นที่ประสูติ ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดตรงที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์ พระราชทานนามว่า วัดชุมพลนิกายาราม และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระสร้างวังขึ้น ที่เกาะกลางสระ เพื่อใช้เป็นที่เสด็จประพาส

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชวังครั้งพระเจ้าปราสาททองได้ปรักหักพังไป คงเหลือแต่ สระกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๔๐๐ เมตร ที่มีซากปราสาทเหลืออยู่กลางเกาะ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสบางปะอินด้วยเรือกลไฟ ได้พบซากปรักหักพังดังกล่าว จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นเป็นที่ประทับ และสร้างพลับพลาไว้บนเกาะกลางสระตามสถานที่เดิม

 

บริเวณพระราชวังบางปะอิน

 

 

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ ด้วยเป็นทำเลที่ดี เพราะเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดสระเดิมให้ลึกกว่าเก่า พร้อมทั้งก่ออิฐถือปูนรอบสระ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทโถงขึ้นกลางสระ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงปราสาทเดิม พระราชทานนามว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ตามนามเดิม ส่วนบริเวณที่รัชกาลที่ ๔ เคยเสด็จมาประทับก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระที่นั่งชื่อ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึก ๒ ชั้นในกำแพงด้านเหนือพระที่นั่งวโรภาษพิมาน สำหรับเป็นที่อยู่ของฝ่ายใน พระราชทานนามว่า วรนาฏเกษมสานต์ ส่วนศาลเทพารักษ์เดิม โปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง ย้ายมาปลูกสร้าง เป็นปราสาทยอดปรางค์ขนาดเล็ก พระราชทานนามว่า เหมมณเฑียรเทวราช ส่วนที่ศาลเดิมโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นตำหนัก ที่ประทับของพระเจ้าน้องยาเธอที่ตามเสด็จเรียกว่า สภาคารราชประยูร และยังมีอาคารอื่น ๆ อีกหลายหลัง การสร้างพระที่นั่งต่างๆ เหล่านี้สำเร็จลงใน พ.ศ. ๒๔๑๙

 

พระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังที่งดงาม ด้วยสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ มีทั้งแบบไทย แบบจีน และแบบตะวันตก กล่าวคือ

 

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ 
ซึ่งเป็น พลับพลาโถงกลางสระ ประดิษฐานพระบรมรูป รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้นเป็นแบบไทยประเพณี

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ 
หรือเทียนเม่งเต้ย (ฟ้าสว่าง) สร้างขึ้น เป็นพระที่นั่งแบบจีนสูง ๒ ชั้น ซึ่งข้าราชการกรมท่าซ้าย ซึ่งเป็นพ่อค้าใหญ่ชาวจีน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้สร้างถวาย ที่พระที่นั่งนี้ นอกจากตัวสถาปัตยกรรมจะเป็นแบบจีนที่สมบูรณ์แบบแล้ว ยังมีการแกะสลักไม้ที่ผนังต่าง ๆ อย่างงดงาม หาดูได้ยาก และยังประดับประดาพื้นชาลาหน้าพระที่นั่งด้วยกระเบื้องลายคราม เขียนรูปสัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อของจีน ส่วนเครื่องตกแต่งองค์พระที่นั่งก็เป็นแบบจีนล้วน งดงามยิ่ง ยากที่จะหาที่เปรียบได้

 

ภายในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญตกแต่งด้วยศิลปะที่งดงาม

 

 

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
สร้างขึ้นเป็นพระที่นั่งแบบตะวันตก พระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประกอบไปด้วยท้องพระโรง และห้องบรรทม ภายในท้องพระโรง ประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตร พร้อมด้วยพระราชบัลลังก์ นอกจากนั้นยังมีเครื่องตกแต่งเป็นแบบตะวันตกทั้งสิ้น

 

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน

 

นอกจากพระที่นั่งที่สำคัญทั้ง ๓ องค์แล้ว ยังมีพลับพลาที่ประทับทรงพระสำราญในลานลั่นทม บริเวณที่ประดิษฐานพระราชอนุสาวรีย์ ของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และพระราชอนุสาวรีย์ของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และสมเด็จเจ้าฟ้าอีก ๓ พระองค์ นอกจากนั้นยังมีพระที่นั่งเล็ก ๆ เช่น พระที่นั่งบุปผาประพาส สภาคารราชประยูร หอวิฑูรทัศนา หอถังน้ำ ของพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว และหอเหมมณเฑียรเทวราช ซึ่งเป็นศาลที่รัชการที่ ๕ สร้างถวายพระเจ้าอู่ทอง

นอกเหนือจากความงดงามของสถาปัตยกรรมที่กล่าวแล้ว สิ่งที่น่าชมยิ่ง ของพระราชวังนี้คือ สวนอันร่มรื่นด้วยแมกไม้ใหญ่ประเภทไม้ไทย ได้แก่ ต้นปีบ ต้นมะม่วง ต้นไทร ต้นลั่นทม ฯลฯ แล้วยังมีไม้ดัด เช่น ข่อยตัดเป็นรูปช้าง รูปหมี รูปเสือ ฯลฯ อีกด้วย

 

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ 
ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นพระราชวังที่สอง ของกรุงศรีอยุธยา ในกรณีที่มีศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยา จะได้ใช้พระราชวังนี้เป็นที่ประทับ อีกประการหนึ่ง ลพบุรีเคยเป็นเมืองสำคัญมาก่อน ตั้งแต่สมัยละโว้ มีชุมชนอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการยากที่จะสร้างเมือง และพระราชวัง ขึ้นที่นี่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้เป็นประจำ กล่าวกันว่า ถึงปีละ ๙ เดือน พระราชวังนี้ก่อสร้างขึ้น ด้วยอิทธิพลของการก่อสร้างแบบตะวันตก เห็นได้จากลักษณะของการใช้โค้งแหลมที่หน้าต่างหลายหลังในพระราชวัง ซึ่งเป็นลักษณะของการก่อสร้างแบบยุโรป

 

พระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

 

พระราชวังแห่งนี้ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ตามแบบโบราณราชประเพณี ที่พระราชฐานชั้นนอก จะมีตึกรับรองแขกเมือง ตึกพระเจ้าเหา พระคลังศุภรัตน์ (สิบสองท้องพระคลัง) นอกจากนั้นยังมีโรงช้าง โรงม้า อีกเป็นจำนวนมาก

ที่พระราชฐานชั้นกลาง ประกอบไปด้วย พระที่นั่งจันทรพิศาล ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นพระที่นั่งองค์แรก เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นท้องพระโรง ที่ประกอบราชพิธี

นอกจากนั้นยังมีหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อเสด็จไปบูรณะพระราชวังแห่งนี้ นอกจากหมู่พระที่นั่งทั้งสามองค์ที่กล่าวแล้ว ยังมีพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งเย็น ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เสด็จลงเป็นประจำ

ที่พระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยหมู่ตึกหลายหลัง เป็นที่อยู่ของเจ้าจอม หม่อมห้าม

ก่อนจะสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เกิดความไม่สงบขึ้น พระองค์เกรงว่า ข้าราชบริพารจะเป็นอันตราย จึงทรงอุทิศให้เป็นวิสุงคามสีมา และให้ข้าราชบริพารทั้งหมด อุปสมบท เพื่อหนีภัย

 

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท 
บริเวณเขตพระราชฐานชั้นใน พระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow