Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคเกิดจากเชื้อปรสิต

Posted By Plookpedia | 14 มิ.ย. 60
1,996 Views

  Favorite

โรคเกิดจากเชื้อปรสิต 

      ได้แก่ เยื่อหุ้มสมอง-สมองอักเสบ ชนิดปฐมภูมิจากอะมีบา อะนิซาคิเอสิส คาลา-อาซาร์ โรคเท้าช้าง คริพโตสปอริดิโอสิส พยาธิใบไม้เลือด และทริคิโนสิส หรือโรคพยาธิหมูป่า

 

เยื่อหุ่มสมอง-สมองอักเสบ ชนิดปฐมภูมิ จากอะมีบา (Primary Amebic Meningoen- cephalitis) 

      เชื้ออะมีบาเป็นปรสิตเซลล์เดียว ที่มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการอักเสบเป็นหนองของเยื้อหุ้มสมองและสมองส่วนกลางชนิดปฐมภูมิ (primary) [ มิได้เกิดที่อื่นก่อนแล้วลามไปสมองถ้าเกิดที่อื่นก่อน จะเรียกว่า ทุติยภูมิ (secondary)] มีอยู่ ๒ ชนิด คือ Naegleria และ Hartmanella หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Hartmanella เชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้พบได้ในประเทศไทยและมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้ว่า เกิดจากการติดเชื้อ Naegleria ซึ่งเป็นอะมีบาที่มีหนวด (flagella) และเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว เชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อ หนองน้ำ บึง ทะเลสาบ น้ำจืด และในลำธารหลายแห่งในประเทศไทย เข้าใจว่าคงจะพบในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย เชื้อนี้ชอบน้ำอุ่น ๆ จึงพบมากในฤดูร้อนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้โรงงานที่ปล่อยน้ำร้อนออกมา นอกจากในหนองน้ำแล้วยังพบในดิน แต่จะไม่พบในน้ำกร่อยหรือน้ำทะเล เชื้อนี้มีซีสต์จึงทนความแห้งแล้งได้ดีแต่ถูกทำลายได้โดยคลอรีนที่มีความเข้มข้น ๔ ส่วนในล้านส่วน จึงไม่พบในสระว่ายน้ำที่ใช้คลอลีนฆ่าเชื้อ

 

เชื้ออะมีบา
แหล่งน้ำธรรมชาติจะพบเชื้ออะมีบาชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง


      ผู้ป่วยมักจะมีประวัติว่าไปเล่นน้ำในบ่อ บึง แม่น้ำ หรือคลอง ระยะฟักตัวประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสำลักน้ำและเชื้อจะเข้าไปทางจมูก ถ้าได้รับเชื้อเข้าไปมากเชื้อจะแบ่งตัวในจมูกทำให้มีอาการคล้ายเป็นหวัด คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ต่อมาเชื้อจะเข้าสู่สมองผ่านทาง Olfactory nerve ทำให้เกิดอาการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมองแบบเป็นหนอง  ในรายที่ได้รับเชื้อเข้าไปน้อยก็จะไม่เป็นโรค คนที่ชอบดำน้ำลงไปที่ก้นหนองน้ำหรือบึงแล้วสำลักจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่เล่นน้ำบริเวณผิวน้ำเพราะเชื้อจะมีมากบริเวณก้นบึง  หลังจากที่มีอาการหวัดแล้วต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ อาเจียน มึน และชัก คอแข็ง ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน ๑ - ๒ สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ การวินิจฉัยจะทำได้โดยการตรวจน้ำไขสันหลังถ้าตรวจดูในทันทีที่เกิดอาการอาจพบเชื้ออะมีบาเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานมักจะวินิจฉัยได้ยากจะต้องเพาะเชื้อจึงจะวินิจฉัยได้ หากวินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกอาจรักษาได้โดยปฏิชีวนะ Amphotericin B ร่วมกับ rifampicin และ miconazole แต่ถ้ามีอาการหนักแล้วมักจะรักษาไม่หาย

      การติดเชื้อ Acanthameba เชื้อมักเข้าทางผิวหนังผ่านบาดแผล เข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปสู่สมอง เคยมีรายงานในประเทศไทย ติดเชื้อจากเลนส์สัมผัสที่ใช้แทนแว่นตา มักเกิดโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำไม่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำ อาการเป็นไปอย่างช้า ๆ และเรื้อรัง เชื้อนี้อาจพบได้ในทางเดินหายใจของคนปกติอาจรักษาได้โดยใช้ยา cotrimoxazole polymyxin B, sulfonamide เชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้ ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยมากนัก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การป้องกันกระทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สกปรกในฤดูร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำอุ่นที่มาจากโรงงาน ทางราชการต้องควบคุมให้ใส่คลอรีนในสระว่ายน้ำต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานดูแลการสุขาภิบาลให้ดีไม่ให้เทขยะหรือของเสียลงแม่น้ำลำคลองโรคนี้อุบัติขึ้นจากสิ่งแวดล้อม

 

อะมิซาคิเอสิส(Anisakiasis) หรือโรคพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis) 

      พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis) เป็นพยาธิตัวกลมอยู่ในกระเพาะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น ปลาโลมา ปลาวาฬ ตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ในปลาน้ำเค็ม  โรคนี้เกิดจากการบริโภคปลาดิบแบบญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า ซูซิ (Sushi) ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคกันมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก  โรคนี้พบมากในประเทศญี่ปุ่นเมื่อกินปลาทะเลดิบ ๆ ที่มีพยาธิเข้าไปพยาธิจะถูกปลดปล่อยออกมาจากเนื้อปลา โดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของค หรืออาจจะถูกขับออกมาจากกระเพาะอาหารเสียก่อนโดยการอาเจียนซึ่งจะไม่ทำให้เกิดโรค  ในกรณีที่พยาธิไม่ถูกขับออกไปพยาธิอาจจะชอนไชไปตามทางเดินอาหารแล้วอยู่ในลำใส้และอยู่นอกลำใส้ภายในช่องท้องก็ได้  ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๓๐ มีรายงานว่าผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น ๔,๖๘๒ ราย เกิดก้อนทูมในกระเพาะอาหาร ๔,๒๙๖ ราย ผู้ป่วยอีก ๓๗๕ รายพบในลำใส้ และ ๑๑ รายพบในช่องท้อง อาการของโรคคือมักจะปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน และอาจมีอาการคล้าย ๆ ไส้ติ่งอักเสบ ถ้าตัดก้อนทูมออกมาตรวจจะพบพยาธิอยู่ภายในก้อนทูม การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด การป้องกันคือการกินอาหารที่สุกดี เชื้อนี้ตายง่ายถ้าต้มให้เดือดแต่ถ้าแช่แข็งอาจจะอยู่ได้นานถึง ๒๔ ชั่วโมง ในประเทศไทยเริ่มพบได้ประปรายโรคนี้อุบัติขึ้นเพราะพฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์

 

โรคพยาธิอะนิซาคิส
การบริโภคปลาดิบอาจทำให้เกิดโรคพยาธิอะนิซาคิส 

 

คาลา-อาซาร์ (Kala-Azar) 

       เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตในจีนัส Leishmania ซึ่งมีอยู่ ๓ สปีซีส์ คือ L. donovani ทำให้เกิดโรคแก่อวัยวะภายในหรือที่เรียกอีกชื่อว่า คาลา-อาซาร์ L.tropica ทำให้เกิดแผลเปื่อยที่ผิวหนัง และ L.brasiliensis เป็นโรคที่มีการอักเสบของเยื้อบุจมูก ปาก คอ ทำให้เป็นแผลลึกหรืออาจเรียกว่า โรคเอสปุนเดีย (Espundia) แต่เดิม โรคคาลา-อาซาร์ จะพบในภาคตะวันตกของอินเดียและแอฟริกา ขณะนี้พบได้ประปรายในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้ใช้แรงงานนำโรคเข้ามาจากต่างประเทศที่ไปพำนักอยู่  ระยะฟักตัวของโรคประมาณ ๓ สัปดาห์ถึงหลายเดือน เริ่มต้นจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปคือ มีอาการอ่อนเพลีย อารมณ์ไม่แจ่มใส ปวดศีรษะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย บางครั้งท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ต่ำ ๆ และมีไข้สูงเป็นระยะ ๆ ผิวหนังจะซีดเหลืองผิวแห้ง ตับโต ม้ามโต อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง แต่เดิมอัตราการตายของโรคนี้ค่อยข้างสูง  ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้โดย Pentavalent antimonials โรคนี้เกิดจากการเคลื่อนย้ายประชากรจากถิ่นที่ไม่เคยมีโรคไปสู่ดินแดนที่มีโรคชุกชุม

 

โรคคาลา-อาซาร์
ผู้ใช้แรงงานมีส่วนที่นำโรคคาลา-อาซาร์จากต่างประเทศเข้ามาแพร่ในประเทศไทยได้

 

โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) หรือฟิลาริเอสิส (Filariasis) 

      พยาธิก่อโรคคือ Wuchereria bancrofti , Brugia malayi และ Brugia timori  ในประเทศไทยพบพยาธิ ๒ ชนิดแรกเท่านั้น ผู้ที่ติดเชื้อหนอนพยาธิฟิลาริเอสิสมักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นในระยะแรก ๆ ของการติดเชื้อ  ในรายที่แสดงอาการจะพบว่ามีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองและการอุดตันของระบบทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งจะเกิดหลังจากการรับเชื้อแล้วนาน ๓ เดือน ถึง ๑ ปี ต่อมาต่อมน้ำเหลืองบริเวณโคนขาหนีบ ขา และอวัยวะเพศบวมโต ถ้าเป็นในผู้ชายจะมีการอักเสบของหลอดผลิตน้ำกามและท่อน้ำกาม ลูกอัณฑะบวม มีไข้ หนาวสั่น อาจพบอาการอื่น ๆ คล้ายกับการติดเชื้อทั่ว ๆ ไป  บางรายเท้าจะ ใหญ่โตมาก (เหมือนเท้าช้าง จึงเรียกว่า โรค เท้าช้าง) หรืออวัยวะเพศโตมาก ซึ่งเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเนื้อเยื่อพังผืด (fibrous tissue) และการอุดตันของท่อทางเดินน้ำเหลือง ถ้าตรวจพบเชื้อในระยะเริ่มต้นสามารถใช้ยารักษาได้ ถ้าถึงระยะที่มีการขยายตัวของเนื้อเยื่อพังผืดแล้วจะรักษาได้โดยทางศัลยกรรม โรคนี้เกิดจากมีแรงงานต่างชาติจากประเทศที่ยังเป็นถิ่นระบาดของโรคเข้ามาทำงานในประเทศไทย

คริพโตสปอริดิโอสิส (Cryptosporidiosis)

      โรคนี้เกิดจากพยาธิคริพโตสปอริเดียมซึ่งเป็นพยาธิโปรโตซัวที่อยู่ในลำใส้ของสัตว์และทำให้สัตว์เกิดอาการท้องเดิน แต่เดิมพยาธิชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์  มีรายงานครั้งแรกเมื่อปี

พ.ศ. ๒๕๑๙ ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ -๒๕๒๕ มีผู้ป่วยที่รายงานว่า เกิดอาการท้องเดินจากพยาธิชนิดนี้เพียง ๗ ราย  โดยส่วนใหญ่เป็นสัตวแพทย์และนักวิจัยโรคสัตว์  ต่อมาเมื่อมีรายงานโรคเอดส์ขึ้น จึงพบว่าพยาธิชนิดนี้ไปก่อ โรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันเสื่อมจากไวรัสเอชไอวีด้วย โดยทำให้เกิดอาการท้องเดินเรื้อรังซึ่งจะทำให้ผอมลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตได้  ในระยะแรก ๆ ที่เพิ่งจะพบโรคนี้ในมนุษย์จะสามารถให้การวินิจฉัยได้โดยการตัดเอาเยื้อบุ - ลำไส้ไปตรวจเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้การตรวจอุจจาระก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ โรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ
      โรคอุจจาระร่วงเรื้อรังนอกจากจะเกิดจากพยาธิ Cryptosporidium แล้ว ยังมีพยาธิที่ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ติดเชื้อได้ง่าย ได้แก่ isospora belli และ Microsporidium  พยาธิเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในคนทั่ว ๆ  ไป  สาเหตุที่เกิดโรคอุบัติขึ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันเสื่อมจากการติดเชื้อเอชไอวี

 

พยาธิท็อกโซพลาสมา
พยาธิท็อกโซพลาสมาเป็นพยาธิที่อุบัติใหม่อีกชนิดหนึ่ง

 

พยาธิใบไม้เลือด 

      พยาธิใบไม้เลือดหรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า ซิสโตโซมิเอสิส (schistosomiasis) เกิดจากพยาธิในจีนัส ชิสโตโซมา (Schistosoma) ซึ่งมีอยู่ ๔ สปีชีส์ด้วยกันคือ S. hematobium, S. mansoni S. mekongi และ S. japonicum ในประเทศไทยเพิ่งพบโรคนี้หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยพบว่าเกิดจาก S. japonicum ซึ่งเข้าใจกันว่าชาวญี่ปุ่นนำโรคเข้ามาแพร่ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ ๒ พบ S.mekongi ประปรายที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ในระยะหลังมีรายงานว่าพบชนิด S.hematobium ในผู้ใช้แรงงานที่กลับจากแอฟริกาด้วย
      การติดต่อโดยพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ ซึ่งแหวกว่ายอยู่ในน้ำจะชอนไขผ่านผิวหนังของคนและสัตว์ไปยังหลอดเลือดดำเล็ก ๆ สำหรับ S. hematobium จะกระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายคือ ไปเจริญเป็นตัวแก่อยู่ที่ตับจึงไปทำให้เกิดอาการโรคบิดและตับแข็ง สำหรับ S. mansoni จะไปเจริญเป็นตัวแก่อยู่ที่หลอดเลือดดำและลำไส้ใหญ่ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดและสุดท้ายจะทำให้ตับแข็งได้ ส่วน S. hematobium จะชอบอยู่ที่ข่ายหลอดเลือดดำที่กระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมากหรือมดลูกจึงทำให้ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดได้ พยาธิตัวอ่อนจะเจริญในหอยน้ำจืด การป้องกันคือไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในแหล่งน้ำ ยาที่ใช้รักษาคือ พราซิ- ควอนเทล เข้าใจกันว่าญี่ปุ่นเป็นผู้น้ำโรคนี้เข้ามาในประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

พยาธิใบไม้เลือด
พยาธิใบไม้เลือด

 

ทริคิโนสิสหรือโรคพยาธิหมูป่า 

      เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ทริคิเนลลา สไปรัลลิส (Trichinella spiralis) จะเกิดภายหลังกินเนื้อสัตว์ดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธินี้พบบ่อยมากในเนื้อหมู อาจเป็นหมูตามภูเขา หมูป่า หรือหมูเลี้ยงตามหมู่บ้าน ระยะฟักตัวประมาณ ๕-๗ วัน ก็จะแสดงอาการโดยเริ่มมีอาการระคายเคืองและอักเสบของระบบทางเดินอาหาร บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเป็นบริเวณที่ตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์จะชอบชอนไชเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเดิน ระยะนี้เรียกว่าระยะที่มีอาการทางกระเพาะและลำไส้    บางรายจะเป็นผื่นแดงจาง ๆ ตามละตัว เพราะพยาธิชอนไ ไปตามท่อน้ำเหลืองไปอยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ สมอง น้ำไขสันหลัง สุดท้ายจะกลับเข้าสู่กระแสโลหิตและไปฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อในลักษณะของ  ซีสต์ คือ มีผนังหุ้มโดยรอบโดยเฉพาะที่กล้ามเนื้ออก กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อไหล่ ตั้งแต่กินเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนของพยาธิเข้าไประยะฟักตัวประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ จึงจะเกิดซีสต์ ซีสต์จะโตเต็มที่ในเวลา ๒ เดือน เมื่อผ่านไป ๖-๙ เดือน ก็จะมีหินปูนเกาะพยาธิอาจจะมีชีวิตอยู่ในซีสต์นี้ได้อีกนาน
      ในระยะที่ตัวอ่อนชอนไชจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ คอแข็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจขัด ปวดแขน ปวดน่อง มีไข้เป็นพัก ๆ หนังตาบวม ตาแดง และกลัวแสง สติไม่ค่อยดี ทรงตัวไม่ดี หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีเลือดออกใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การวินิจฉัยทำได้โดยการทดสอบผิวหนังและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาพยาธิ  ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถใช้ยาไธอะเบ็นดาโซลรักษาโรคนี้ให้หายได้  รายที่มีอาการรุนแรงจะเสียชีวิตจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวในสัปดาห์ที่ ๑-๒ หรือสัปดาห์ที่ ๔-๘  โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่สุกของมนุษย์

 

โรคพยาธิหมูป่า
หมูที่เลี้ยงตามบ้านตามยถากรรมจะพบโรคพยาธิหมูป่า

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow