Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคเกิดจากแบคทีเรีย

Posted By Plookpedia | 14 มิ.ย. 60
3,611 Views

  Favorite

โรคเกิดจากแบคทีเรีย

      ได้แก่ กลุ่มอาการท๊อกซิก - ช็อก กลุ่มอาการฮีโมลัยติก - ยูรีมิก โรคลีเจียนแนร์ แอร์ลิชิโอสิสในคน โรคลายม์ อหิวาตกโรคสายพันธุ์ใหม่ เมลิออยโดสิส สำหรับโรคต่อไปนี้โปรดดูได้ในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๐ : โรคกาฬหลังแอ่น ไทฟอยด์ แอนแทรกซ์ และหนองใน

กลุ่มอาการท็อกซิก-ช็อก 

      โรคนี้เป็นอีกโรคหนึ่งที่เพิ่งค้นพบเมื่อประมาณ ๒๐ ปีมานี้  ปัจจุบันยังไม่มีชื่อโรคเป็นภาษาไทยจึงต้องใช้ภาษาอังกฤษแทน ชื่อโรคนี้ประกอบไปด้วยคำสองคำคือ คำว่า "ท็อกซิก" ซึ่งมาจาก      คำนาม Toxin แปลว่า สารพิษ และ "ช็อก" คือ การที่ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวความดันต่ำจนคนไข้หมดสติ ส่วนคำว่า "กลุ่มอาการ" นั้นทางการแพทย์แปลมาจากคำว่า Syndrome ซึ่งหมายถึง โรคที่มีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกันจึงเรียกว่า "กลุ่มอาการ" 
      โรคนี้มีรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ จากสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ป่วย ๕๕ ราย เป็นสตรี ๕๒ ราย อายุโดยเฉลี่ย ๒๔.๘ ปี (ตั้งแต่ ๑๓ - ๕๒ ปี) ในจำนวนนี้ถึงแก่กรรมแล้ว ๗ ราย 
ในจำนวนผู้ป่วย ๔๐ รายนั้นมีประวัติเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ๓๘ ราย โดยจะเริ่มมีอาการของโรคภายใน ๕ วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน อีก ๒ รายมีอาการ ๑๐ วันหลังจากมีประจำเดือน       ที่น่าสังเกตก็คือผู้ป่วยทั้งหมดใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดใส่ในช่องคลอด (เรียกว่า แทมปอน) และร้อยละ ๙๕ ใส่แทมปอนไว้ตลอดเวลาที่มีประจำเดือน โดยไม่ได้ใช้ชนิดซับภายนอกสลับกันเลยและส่วนใหญ่จะใช้แทมปอนชนิดดูดซับได้มากเป็นพิเศษ 
     ระยะฟักตัวประมาณ ๔๘ ชั่วโมง มีอาการที่สำคัญคือ มีไข้สูง ๓๙ องศาเซลเซียส คลื่นไส้อาเจียน มีความดันต่ำ มีผื่นแดงตามตัวและฝ่ามือ และลอกในที่สุด ที่ผนังช่องคลอด ตาและคอจะแดง มีอาการอาเจียนหรือท้องเดิน การทำหน้าที่ของตับผิดปกติเกร็ดเลือดต่ำ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ตรวจได้ว่าหัวใจและปอดผิดปกติ ระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำลงกว่าปกติ การทำงานของไตมักจะล้มเหลวอาจจะมีอาการของระบบประสาทส่วนกลางร่วมด้วย  โรคที่เกิดขึ้นนี้ไปตรงกับโรคที่นายแพทย์ทอดด์ได้รายงานไว้ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ ชื่อแลนเส็ทเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ นายแพทย์ ทอดด์ ตั้งชื่อไว้ว่า "กลุ่มอาการท็อกซิก-ช็อก (Toxic-shock syndrome)"  เมื่อเกิดโรคขึ้นเช่นนี้จึงมีการศึกษาเพื่อค้นหาสาเหตุก็สรุปได้ว่า ผ้าอนามัยชนิดสอดใส่และซับได้ดีมากเป็นพิเศษทำให้เกิดการหมักหมมตลอดวันซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดีสำหรับแบคทีเรียชนิด "สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)" ให้เกิดขึ้นในช่องคลอดแล้วปลดปล่อยสารพิษให้แก่ร่างกายจึงทำให้มีอาการของโรคดังกล่าว ขณะนี้จึงมีแนวทางในการรักษาที่ได้ผลโดยปฏิชีวนะ 

 

โรคนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์

กลุ่มอาการฮีโมลัยติก-ยูรีมิก (Hemolytic uremic syndrome และ hemorrhagic colitis) 

      เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในลำใส้ใหญ่ของคนเรานั้นมีเชื้อจุลชีพอยู่หลายชนิดเป็นจุลชีพที่อยู่ประจำถิ่นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เกื้อกูลซึ่งกันและกันโดยจุลชีพหลายชนิดจะสังเคระห์สารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินหลายชนิดก็สังเคราะห์ในลำไส้ จุลชีพบางชนิดก็สร้างกรดช่วยทำให้ท้องไม่อืดอาหารย่อยดีขึ้น บางชนิดก็สร้างแก๊สทำให้มีลมมาก เชื้อจุลชีพที่มีมากกว่าเชื้ออื่น ๆ คือ        เชื้ออุจจาระ "เอชเชอริเซีย โคไล" Escherichiacoli หรือเรียกสั้น ๆ ว่า อี. โคไล (E. coli) เชื้อ อี. โคไล นี้  ตามปกติจะไม่มีพิษแต่ก็มีหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคได้ เช่น ถ้าไปอยู่ที่แผลก็ทำให้เป็นหนองซึ่งจะไปทำให้ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบได้ บางสายพันธุ์ก็จะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงโดยเฉพาะในเด็ก ๆ มีอยู่สายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า อี. โคไล ๐๑๕๗ : H7 เป็นตัวการที่สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในอเมริกาเหนือซึ่งมีรายงานการระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ การติดต่อและการแพร่ระบาดเกิดจากการบริโภคอาหารจานด่วนอย่างชาติตะว้นตก หรือที่เรียกกันว่า "ฟาสต์ ฟูด" นั่นเอง โดยเนื้อบดที่อยู่ในแฮมเบอร์เกอร์ก้อนโต ๆ นั้นยังสุก ๆ ดิบ ๆ เชื้อตัวนี้จึงยังไม่ตายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้  ระยะฟักตัว ประมาณ ๒๔ -๔๘ ชั่วโมง ถ้าเชื้อสายพันธุ์นี้ไปก่อโรคในเด็กนอกจากจะทำให้มีลำไส้อักเสบคือ จะมีอาการอุจจาระร่วงและตกเลือดแล้วก็ยังทำให้ไตวายได้ด้วยซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดคำว่า "กลุ่มอาการฮีโมลัยติก-ยูรีมิก" นั่นเอง  ในปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์นี้ในสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๒๕๐ ราย 

 

เชื้อแบคทีเรียอี.โคไลมี
เชื้อแบคทีเรียอี.โคไลมีหลายสายพันธุ์ที่อาจก่อโรคร้ายแรง


      อาการของโรคจะเริ่มด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและท้องเดินในระยะแรก ๆ อุจจาระจะไม่มีเลือดปน พอผ่านไป ๒ - ๓ วัน อุจจาระจะมีเลือดสด ๆ ปนออกมาด้วยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนด้วย กลุ่มอาการนี้จะมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้ ทำให้แพทย์ที่ทำการรักษาเข้าใจผิดว่าเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบธรรมดา ๆ หรืออาจจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) ได้ บางครั้งก็วินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ในรายที่มีเลือดปนอุจจาระนั้นบางครั้งแทบจะไม่มีอุจจาระปนออกมามีแต่เลือดสด ๆ เมื่อได้ทำการเพาะเชื้อจากอุจจาระจึงจะทำให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง  นอกจากจะมีอาการท้องเดินและมีเลือดออกแล้วก็ยังมีเม็ดเลือดแดงแตกสลายภายในเส้นเลือดและมีเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีจ้ำห้อเลือดหรือพรวยย้ำเกิดขึ้นตามตัว  ปัสสาวะน้อยลงซึ่งจะเป็นลักษณะอาการของไตวาย  มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางคือ ซึม ชัก และหมดสติ เป็นอัมพาตครึ่งซึกหรืออัมพฤกษ์ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักเป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ทางด้านการรักษานั้นจะต้องวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องก่อนจึงจะสามารถวางแผนการรักษาได้  ไตวายก็จะต้องเข้าเครื่องไตเทียมเพื่อฟอกเลือดที่มีสารยูเรียซึ่งเป็นของเสียจากโปรตีนในอัตราสูงโดยต้องให้เลือดทดแทนเพราะเม็ดเลือดแดงแตกสลายไปมาก  ส่วนการรักษาประคับประคองด้านอื่น ๆ ก็ต้องพิจารณาแก้ไขกันไปเป็นราย ๆ อัตราการตายจากโรคนี้จะสูงเพราะการวินิจฉัยค่อนข้างจะยุ่งยาก

 

อาหารจำพวก "ฟาสต์ ฟูด"
อาหารจำพวก "ฟาสต์ ฟูด" หากยังสุกๆ ดิบๆ อาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้

 

โรคลีเจียนแนร์ หรือโรคสหายสงคราม (Legionnaire's diseases) 

      เป็นเชื้อที่เพิ่งพบใหม่จากผู้ป่วยในการระบาดครั้งนั้น  การแพร่โรคเกิดจากการที่มีเชื้อแพร่กระจายอยู่ในอากาศแวดล้อม เชื้อพวกนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อุณหภูมิสูงจึงมักจะพบเชื้อบ่อย ๆ ที่ใกล้ ๆ หอระบายความร้อน (cooling tower) ของเครื่องปรับอากาศชนิดระบายความร้อนด้วยน้ำ (water-cooled type)  นอกจากนี้อาจพบได้ในแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น น้ำที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ระบายน้ำร้อนออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรืออาจพบในดิน  การติดต่อโดยการสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไป  ระยะฟักตัวของโรคจะใช้เวลาประมาณ ๒ -๑๐ วัน ลักษณะอาการของโรคเริ่มด้วยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก  ซึ่งเกิดจากการที่ปอดอักเสบบางรายมีอาการทางสมอง ซึม ชัก  มีรายงานโรคครั้งแรกในการประชุมทหารผ่านศึกที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Legionella pneumophila อาการของทางเดินอาหาร ได้แก่ ท้องเดิน  ขณะที่ไอเชื้อจะออกมาทางเสมหะ  แต่ก็ยังไม่มีรายงานการติดโรคโดยตรวจจากผู้ป่วยโดยตรง  การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจร่างกายทางกายภาพ ตรวจภาพรังสีปอด และเพาะเชื้อจากเสมหะ บางรายมีอาการอ่อนคือ มีอาการคล้ายไข้หวัดชันสูตรได้ว่าติดเชื้อนี้โดยปฏิกิริยาน้ำเหลืองในกรณีเช่นนี้อาจเรียกชื่อว่า "ไข้ ปอนติแอค"(Pontiac Fever) ถ้าผู้ป่วยมีอายุมากมักมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้  ถ้าเป็นโรคปอดอยู่ก่อนแล้วโดยเฉพาะโรคปอดจากการสูบบุหรีคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเป็นโรค ถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง อาการของโรคมักจะมีความรุนแรงมากขึ้น เชื้อนี้ไวต่อปฏิชีวนะจึงสามารถใช้ยาอีรีโธรมัยซิน เตตราซัยคลีน ไรแฟมปิซิน แมคโครลิด ไคโตรม๊อกซาโซล และฟลูโรควิโนโลน ในการรักษาโรคนี้ได้  ในปัจจุบันมีรายงานโรคนี้จากทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยโรคนี้เป็นตัวอย่างของโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิถีความเป็นอยู่ของมนุษย์ คือ การใช้เครื่องปรับอากาศ

แอร์ลิชิโอสิสในคน (Human erhlichiosis) 

      โรคนี้พบในคนเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปกติเป็นโรคของสุนัขติดต่อมายังคนโดยคนถูกเห็บสุนัขกัดในสหรัฐอเมริกา เชื้อที่ก่อโรคแบคทีเรีย ได้แก่ Ehrlichia canis โรคนี้เกิดในคนจะมีระยะฟักตัว ๒ - ๓ สัปดาห์  มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดบวม ขาและอัณฑะบวม เลือดกำเดาไหล ตับอักเสบ ม้ามโต เม็ดเลือด ขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย ตรวจทางห้องชันสูตรจะพบเม็ดที่เรียกว่า "inclusion body" เกิดขึ้นในเม็ดเลือดขาว  โรคนี้สามารถรักษาได้โดยโดซิซัยคลีนและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

 

โรคแอร์ลิชิโอลิส
คนที่ถูกเห็บสุนัขกัดจะเกิดโรคแอร์ลิชิโอลิส



โรคนี้เกิดจากการท่องเที่ยวสันทนาการ โดย การเดินทางเข้าไปเที่ยวในป่า

โรคลายม์ (Lyme Disease) 

      เป็นโรคที่พบมากขึ้นในสหรัฐอเมริการและยุโรป มีรายงานโรคเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ จากตำบลลายม์ รัฐคอนเนกติคัท สหรัฐอเมริกา โดยเกิดในฤดูร้อนและเกิดในเด็กที่มีครอบครัวอาศัยอยู่ตามป่า ระยะฟักตัว ๒ - ๓ สัปดาห์ อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดตามข้อ มีผื่นแดงตามตัวจนเกือบทั่วตัวรอบผื่นมีขอบชัดเจนขนาดเล้นผ่าศุนย์กลางตั้งแต่ ๒ - ๓ ซม. มีอาการเจ็บปลายประสาทอาจมีอาการทางสมอง เช่น ชัก หลงลืม และอาจเป็นลมจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  โรคนี้มีเชื้อก่อโรคเป็นแบคทีเรียชื่อ Borrelia burgdorferi มีเห็บกวาง (deer tick; ixodes dammini, Ioxodes ricinus) เป็นพาหะ  โรคนี้รักษาให้หายได้โดยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลิน โดซิซัยคลีน เตตราซัยคลีน และเซฟไตรอะไซน ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคนี้จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาแล้ว  โรคนี้เกิดจากการบุกรุกป่าเข้าไปอาศัยอยู่ตามชายป่า

อหิวาตกโรคสายพันธุ์ 0 139 (Vibrio cholerae) 

       ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วงรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ถ่ายเป็นน้ำและอาจมีอาเจียนร่วมด้วย ลักษณะของอุจจาระครั้งแรก ๆ จะมีเศษอาหารปนต่อไปจะมี mucous membrane ตะกอนแขวนลอย เมื่อทิ้งไว้นานจะจมลงไป สีขุ่นจะไม่ขาวเหมือนน้ำซาวข้าว กลิ่นเหม็นคาวจัดเป็นกลิ่นเฉพาะ ความรุนแรงของอาการมีหลายระดับกว่า ๙๐% ของผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วงไม่รุนแรง แต่ลักษณะอาการแทบจะไม่ต่างจากโรคอุจจาระร่วงรุนแรง  การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจอุจจาระหรืออาเจียนพบเชื้อ Vibrio cholerae 0 139 ทุกรายต้องมีการตรวจทางห้องชันสูตรยืนยันเพราะถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหากผลตรวจสอบโรคพบว่ามีผู้ป่วยเพียง ๑ ราย ก็ถือว่าเป็นการระบาด  เชื้ออหิวาต์ V. cholerae O 139 นี้เพิ่งพบเป็นครั้งแรกที่เบงกอลเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเชื้อที่เปลี่ยนแปลงลักษณะไปจากเดิมทำให้มีการระบาดของอหิวาตกโรคขึ้นหลายประเทศในเอเชีย

 

เชื้ออหิวาตกโรค
ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ของเชื้ออหิวาตกโรคจากอุจจาระของผู้ป่วย

 

เมลิออยโดสิส (Melioidosis) 

      เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia Pseu- domallei ระยะฟักตัวไม่แน่นอนอาจสั้นเพียง ๒ - ๓ วัน หรือยาวนานเป็นปี เชื้อมีอยู่ในดิน น้ำ สัตว์หลายชนิด เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ม้า สุกร ลิง และสัตว์แทะโดยเฉพาะสิงโตเป็นแหล่งแพร่โรค  โรคนี้ติดต่อโดยการได้รับเชื้อเข้าไปทางบาดแผลหรือโดยการกินและการหายใจ  ผู้ป่วยอาจมีอาการและอาการแสดง อาการที่พบมีตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงขั้น รุนแรงมาก เช่น มีไข้ ปอดบวม มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วมาก อาจมีอาการคล้ายไขไทฟอยด์หรือวัณโรค ถุงลมปอดโป่งพอง ฝีเรื้อรังหรือข้อกระดูกอักเสบ เป็นต้น โรคนี้พบได้บ่อยในประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การชันสูตรทำได้โดยการเพาะเชื้อจากตัวอย่างแล้วตรวจวินิจฉัยและการตรวจปฏิกิริยาน้ำเหลือง  ในรายที่อาการไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ โรคนี้เกิดจากมีเนื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมมาก

 

โรคเมลิออยโดสิส
โรคเมลิออยโดสิสมีสัตว์จำพวกโค กระบือ เป็นพาหะแพร่โรค

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow