Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

Posted By Plookpedia | 14 มิ.ย. 60
20,360 Views

  Favorite

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

      โรคติดเชื้อหลายโรคที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมาหรือโรคติดเชื้อที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น ไข้เลือดออกหลายชนิด เราเรียกว่าโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ส่วนโรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดแล้วหายไปแต่กลับมาระบาดใหม่ เช่น วัณโรค เรียกว่า โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อทั้งสองประเภทนั้นเกิดได้จากเชื้อโรค ๕ กลุ่ม คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต เชื้อไวรัส และพรีออน สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำมีมากมายดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ


      การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต เช่น การที่พ่อแม่ไปทำงานนอกบ้านและไม่มีคนเลี้ยงลูกจึงต้องนำลูกไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งมีเด็กอยู่กันเป็นจำนวนมาก ถ้าสถานรับเลี้ยงเด็กจัดสถานที่และอาหารไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือดูแลเด็กไม่ดี อาจเกิดโรคอุจจาระร่วงและโรคติดเชื้อระบบหายใจ การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารดิบ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ปลาดิบ ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ การใช้ยาเสพย์ติดโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกันทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีซึ่งอาจทำให้เป็นโรคเอดส์เชื้อตับอักเสบบี

 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

 

การรักษาโรคต่างๆ เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะทำให้ติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย การใช้ยาไม่ถูกต้องหรือใช้ยาไม่ครบขนาดทำให้เชื้อดื้อยา

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ความแห้งแล้งและความอดอยากทำให้สัตว์ป่าเข้าหมู่บ้านนำโรคไปสู่ชาวบ้าน น้ำท่วมนำโรคจากแหล่งที่มีโรคไปสู่แหล่งที่ไม่เคยมีโรคนั้น

 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ


      การเคลื่อนย้ายของสัตว์และคนจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง เช่น การส่งสัตว์ทดลองจากแอฟริกาไปยุโรปทำให้มีการอุบัติของไข้เลือดออกมาร์บวร์กในยุโรป การที่แรงงานต่างชาติที่มาจากถิ่นที่มีการระบาดของโรคเท้าช้างเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นในประเทศไทยเราจึงควรป้องกันในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

      องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ว่า หมายถึง โรคที่เกิดจากเชื้อชนิดใหม่ ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมาหรือโรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ หมายถึง โรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตและสงบไปแล้วเป็นเวลานานหลายปีแต่กลับมาระบาดขึ้นอีก โรคติดเชื้อทั้งสองประเภทเกิดจากเชื้อ ๕ กลุ่ม คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต เชื้อไวรัส และพรีออน โรคส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช่น โรคอุจจาระร่วง ตาอักเสบ วัณโรคดื้อยา ไข้ไทฟอยด์ดื้อยา โรคเท้าช้าง ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ ผู้ที่เป็นโรคชื่อเดียวกันอาจได้รับเชื้อโรคต่างกัน เช่น โรคอุจจาระร่วง อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Campylobacter jejuni หรือเกิดจากเชื้อไวรัส Rotavirus และจากเชื้ออีกหลาย ๆ ชนิด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำมีหลากหลาย ดังต่อไปนี้ 

  • การเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิต 
  • การจัดการที่อยู่อาศัย เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารทำให้มีโรคลีเจียนแนร์หรือโรคสหายสงคราม 
  • การที่พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้านและต้องนำลูกไปฝากเลี้ยง ทำให้เด็กอยู่ด้วยกันเป็นหมู่มากอาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงและโรคติดเชื้อระบบหายใจได้ง่าย 
  • การบริโภคอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ อาหารปรุงดิบ หรืออาหารกระป๋อง ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โรคลำไส้อักเสบ 
  • การวางแผนครอบครัว การใช้ยาคุมกำเนิดทำให้มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและมีแนวโน้มที่จะเกิดการสำส่อน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคทางเพศสัมพันธ์และทำให้เชื้อโรคดื้อยา 
  • การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติเพศสัมพันธ์ เช่น รักร่วมเพศ รักสองเพศ การใช้ปากในการร่วมเพศทำให้มีการแพร่ของเชื้อเอชไอวีอันเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์ 
  • การไปพักแรม การเดินป่าอาจถูกเห็บในป่ากัดทำให้ติดเชื้อ 

 

การไปพักแรมในป่าทำให้ติดเชื้อ
การไปพักแรมในป่าทำให้ติดเชื้อจากการถูกเห็บในป่ากัด

 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

 

  • การใช้ยาเสพย์ติด โดยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันทำให้มีการแพร่ของเชื้อเอชไอวี เชื้อตับอักเสบบี 
  • การใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดใส่และซับได้ดี (Tampon) 
  • การอาบน้ำในอ่างน้ำร้อน การเล่นน้ำในแหล่งน้ำอุ่น ๆ ในปัจจุบัน

 

      นอกจากนี้ก็เกิดจากการใช้เทคโนโลยีของการรักษาซึ่งมีผลดีต่อการรักษาโรคนั้น ๆ แต่มีผลกระทบทำให้เกิดโรคอื่นได้ เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องใช้สารบางประเภทซึ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่ำติดเชื้อได้ง่าย การวินิจฉัยโรคใหม่ ๆ ทำให้มีหัตถการทะลุทะลวงเป็นพาหะนำเชื้อโรคใหม่ ๆ การใช้ยาไม่ถูกต้องหรือไม่ครบขนาดทำให้เชื้อโรคดื้อยา และการไม่ฉีดวัคซีนเพราะเห็นว่าไม่ค่อยมีโรคนั้นแล้ว  ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมี ความแห้งแล้ง ภัยธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่าทำให้มีการนำโรคจากแหล่งเดิมไปสู่แหล่งใหม่ที่เคยปลอดโรค เช่น คนตัดไม้ทำลายป่าและปลูกป่าใหม่ทำให้คนอยู่ใกล้ป่าและติดโรคได้หลายโรค (เช่น โรคลายม์ โรคริกเก็ตเซีย)

 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ

 

โรคหลายโรคเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและปลูกป่าใหม่ เช่น โรคลายม์ โรคริกเก็ตเซีย
โรคหลายโรคเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและปลูกป่าใหม่ เช่น โรคลายม์ โรคริกเก็ตเซีย

 

      นอกจากนี้ก็มีสาเหตุอื่น ๆ เช่น การทำอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายอาหาร ซึ่งมีการระบาดของโรคต่าง ๆ ได้ง่าย การค้าขายระดับสากลหรือการนำสัตว์จากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง (ทำให้มีการแพร่ระบาดโรคจากแหล่งหนึ่งไปยังแหล่งอื่น ๆ เช่น การนำลิงจากฟิลิปปินส์ไปยังสหรัฐอเมริกาทำให้มีการอุบัติของเชื้อไวรัสอีโบลา เรสตัน) การมีศึกสงครามและความขัดแย้งต่าง ๆ ที่ทำให้มีการเคลี่อนย้ายเป็นขบวนใหญ่ทำให้มีการนำโรคจากถิ่นหนึ่งไปสู่อีกถิ่นหนึ่ง เช่น โรคหัดเยอรมัน  ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนั้น บางอย่างเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันด้วยตนเองได้ก็ควรจะกระทำ นอกจากนี้ควรช่วยกันแนะนำรวมทั้งร่วมมือกันในการป้องกันการเกิดโรคทั้งสองประเภท

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow