พระราชวังตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จัดออกได้เป็นสอง ประเภทคือ
๑. พระราชวังทางฝั่งธนบุรี และกรุงเทพมหานคร
๒. พระราชวังในส่วนภูมิภาค
พระราชวังแต่ละแห่ง มีความมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ต่างกัน ดังนั้นแบบแผนทางสถาปัตยกรรมจึงมีลักษณะต่างกันไป ตามภูมิประเทศ และกาลสมัย
ในสมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุด ในการปกครองประเทศ พระราชวังคือ ศูนย์กลางของการปกครอง โดยเป็นทั้งที่ประทับ และที่เสด็จออกว่าราชการ เพื่อการบริหารประเทศ ปัจจุบัน เรามีการปกครองแบบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าบริหารประเทศ ฉะนั้นพระราชวังจึงเป็นเพียงที่ประทับ และประกอบพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียว
พระราชวังในกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ต้นแบบที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด ล้วนมาจากพระราชวังทั้งสิ้น ในแง่รูปลักษณ์ของพระราชวังนั้น สถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้าง และองค์ประกอบ ยังคงดำรงคุณค่าทางศิลปกรรมตลอดไป
ที่มาของรูปแบบการสร้างพระราชวัง
เป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การสร้างพระราชวังมักจะสร้างขึ้นตามแบบแผนการตั้งทัพในสมัยโบราณ เมื่อมีการศึกสงคราม พระมหากษัตริย์จะทรงคุมทัพหลวง พระมหาอุปราชคุมทัพหน้า และมีทัพหนุน หรือทัพหลัง คอยช่วยทัพหลวงทางด้านหลัง พระราชวังต่างๆ จึงมักจะมีวังหลวง วังหน้า วังหลัง เช่นเดียวกับการจัดกองทัพ ฉะนั้นเมื่อแรกสร้างกรุงเทพมหานคร เราจึงมีวังหลวง วังหน้า วังหลัง ซึ่งมีชื่อทางราชการว่า พระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล และพระราชวังบวรสถานพิมุข ตามลำดับ