Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

Posted By Plookpedia | 12 มิ.ย. 60
3,779 Views

  Favorite

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

 

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามทำได้หลายวิธี เช่น เลี้ยงในกระชัง เลี้ยงในคอกเฝือก หรือที่ล้อมขังในร่องสวน และในบ่อ แต่ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ผลจริงจังแล้ว ควรเลี้ยงในบ่อดิน
 

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม คือ น้ำ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานที่ที่จะเลี้ยงกุ้ง จึงต้องพิจารณาหาแหล่งน้ำ ที่มีอยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ ลำธาร คลองที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี และน้ำนั้นจะต้องมีคุณภาพดี มีค่าความเป็นกรด-ด่างระหว่าง ๗.๕ - ๘.๕ ปลอดสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และดินจะต้องสามารถเก็บกักน้ำได้ ไม่ควรเป็นดินทราย หรือดินที่มีทรายเกินกว่าร้อยละ ๓๐ เพราะจะมีปัญหาในการเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งถ้าจะแก้ไขจะต้องลงทุนสูง อีกประการหนึ่งที่จะต้องพิจารณาด้วย คือ ทางคมนาคม ถ้าอยู่ใกล้ทางคมนาคมติดต่อสะดวก การขนส่งไม่ทำให้ลูกกุ้งบอบช้ำมาก สามารถจับกุ้งส่งตลาดได้รวดเร็ว กุ้งไม่เสื่อมคุณภาพ และราคาไม่ตก ในบางแห่งอาจใช้น้ำบาดาลเลี้ยงกุ้งก็ได้ แต่ต้องลงทุนสูงสำหรับการเลี้ยงในร่องสวน หรือในที่ล้อมขังที่มีน้ำอยู่แล้ว และไม่สามารถสูบน้ำออกหมดได้ ก่อนปล่อยกุ้ง ต้องฆ่าปลาที่มีอยู่เดิมออกให้หมด มิฉะนั้น ปลาเหล่านี้อาจแย่งอาหาร หรือกินลูกกุ้งได้ โดยใช้รากโล่ติ๊นสดทุบแช่น้ำไว้ ๑ คืน แล้วขยำให้ยางซึ่งมีสีขาวเหมือนน้ำนม ออกให้มากที่สุด แล้วสาดลงในน้ำให้ทั่ว ในอัตราส่วนโล่ติ๊นสด ๑ กิโลกรัมต่อน้ำ ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือกากเมล็ดชาป่นในอัตรา ๒๕ - ๓๐ กรัมต่อน้ำ ๑ ลูกบาศก์เมตร หรือจะใช้โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide) ในอัตราส่วน ๑-๓ กรัมต่อน้ำ ๑ ตัน แต่การใช้โซเดียมไซยาไนด์ค่อนข้างเป็นอันตราย ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หลังจากนั้น ปลาใหญ่น้อยจะแสดงอาการสำลักน้ำ ว่ายน้ำผิดปกติ ขึ้นมาที่ผิวน้ำ หรือขอบๆ บ่อ ต้องรีบจับก่อนจะจมลงไปเน่าเสียหมด

 

สำหรับบ่อเก่าที่สูบน้ำทิ้งจนแห้งโดยทั่วๆ ไปแล้ว จะโรยปูนขาว ในอัตราไร่ละ ๑๕๐ - ๒๐๐ กิโลกรัม ควรตรวจวัดความเป็นกรด - ด่างของดินที่พื้นบ่อเสียก่อน แล้วจึงคำนวณปริมาณปูนขาวที่จะใส่  ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด แล้วปล่อยทิ้งไว้สัก ๗ วัน จึงปล่อยน้ำเข้า และเลี้ยงกุ้งได้ทันที

 

ฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

 

การเตรียมบ่อ

ถ้าเป็นบ่อเก่า หรือร่องสวนที่มีอยู่เดิม ให้ปรับ แต่งคันบ่อให้สูงพ้นระดับน้ำท่วม ถ้าก้นบ่อมีดินเลน ต้องขุดลอกออก แล้วตากบ่อ และโรยปูนขาว ดังที่กล่าวมาแล้ว

 

ถ้าเป็นที่ใหม่ยังไม่ได้ขุดบ่อ จะต้องวางผังให้ถูกต้อง ประการแรกจะต้องตรวจสอบระดับดินว่า พื้นเรียบ และน้ำท่วมหรือไม่ เพื่อจะได้กำหนดระดับขอบคันบ่อให้พ้นน้ำไว้ การวางผังบ่อจะต้องให้ด้านยาวมากกว่าด้านกว้าง และยาวไปตามทิศทางของลม คือจากเหนือไปใต้ ขนาดของบ่อไม่ควรจะเล็กหรือใหญ่เกินไป ควรมีขนาด ๑-๕ ไร่ กว้าง ๒๕ - ๓๐ เมตร เพราะถ้าเล็กเกินไปจะเลี้ยงกุ้งได้น้อย ระดับความลึก ๘๐ - ๑๐๐ เซนติเมตร ให้คันบ่อมีความลาด ๑:๒ หรือ ๑:๓ ถ้าไม่เป็นดินเหนียว ความกว้างบนคัน บ่อไม่ควรต่ำกว่า ๓ เมตร พร้อมทั้งบดอัดคันบ่อให้แน่น เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม และใช้ปลูกต้นไม้เป็นร่มเงาได้ ขอบบ่อควรปลูกหญ้าคลุมดิน เพื่อป้องกันคันดินขอบบ่อพัง ตรงท้ายบ่อควรปักไม้ไผ่ หรือปลูกพืชลอยน้ำ เช่น ผักบุ้ง หรือผักตบชวาไว้รอบ ๆ เพื่อลดการปะทะของคลื่นลม และเป็นที่หลบซ่อนของกุ้งด้วย 

แต่ละบ่อจะต้องมีประตูน้ำ สำหรับระบายน้ำออก และมีท่อส่งน้ำเข้าบ่อทุกบ่อเป็นอิสระ ท่อส่งน้ำสำหรับบ่อขนาด ๑-๒ ไร่ ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๖ นิ้ว และประตูน้ำมีขนาดกว้าง ๐.๘๐ - ๑.๒๐ เมตร จะต้องทำร่อง เพื่อใส่ตะแกรงไว้ ป้องกันไม่ให้ลูกกุ้งออก และลูกปลาเข้าใน ขณะระบายน้ำออก

 

การเตรียมบ่อดินสำหรับเลี้ยงกุ้ง
 
นอกจากจะต้องถมคันบ่อด้านนอกสุดให้สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังต้องใช้ตาข่ายไนล่อนสีฟ้าหรือเฝือกกั้นรอบบ่อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลาหรือสัตว์เลื้อยคลานอื่นที่จะไปกินกุ้งในบ่อ

 

สำหรับด้านท้ายบ่อจะต้องขุดคูเพื่อระบายน้ำออกจากบ่อด้วย 

ถ้าใช้น้ำจากธรรมชาติเลี้ยงกุ้งจะทุ่นค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำธรรมชาติจากลำธาร หรือคลองส่งน้ำ ที่มีระดับสูงกว่าระดับบ่อ เช่น การเลี้ยงกุ้งบางแห่งในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้น้ำจากลำธารธรรมชาติทดไหลเข้าบ่อเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ แต่ถ้าหาทำเลที่ดีดังกล่าวไม่ได้   ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ หรือกังหันลม โดยปกติบ่อขนาด ๑ ไร่ ถ้าอยู่ในที่โล่ง  มีความชื้นต่ำน้ำจะระเหยวันละประมาณ ๒๐ ตัน ในกรณีที่น้ำไม่รั่วซึม แต่บางแห่งที่เป็นดินทราย น้ำอาจซึมหายไปมากกว่านี้ ฉะนั้นปริมาณน้ำที่ใช้ทั้งหมดสำหรับบ่อขนาด ๒ ไร่ จำนวน  ๕ บ่อ ประมาณ ๒๐๐ ตันต่อวัน ดังนั้น จะต้องใช้เครื่องสูบน้ำที่มีกำลังพอที่จะสูบน้ำได้วันละไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตันต่อวัน 

น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งจะต้องกรองเสียก่อน โดยใช้ถุงผ้ากรองไนล่อน หรือตะแกรงลวดไร้สนิม ขนาดตาถี่ไม่น้อยกว่า ๖๐ ตาต่อนิ้ว กรองน้ำดังกล่าว และต้องหมั่นทำความสะอาด มิฉะนั้น ตะแกรงจะอุดตัน

การเลี้ยง 

ปกติจะปล่อยลูกก้งุขนาดลำตัวยาว ๑-๒ เซนติเมตร ซึ่งยังเป็นขนาดเล็ก หากคนที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน จะไม่รู้เลยว่า ลูกกุ้งก้ามกรามต่างกับกุ้งฝอยอย่างไร จึงมักมีข่าวอยู่เสมอว่า ซื้อลูกกุ้งก้ามกรามไปปล่อย แล้วกลายเป็นกุ้งฝอย ฉะนั้น จึงขอแนะวิธีสังเกตลูกกุ้งก้ามกรามกับกุ้งฝอยดังตารางข้างล่างนี้

 

ตารางเปรียบเทียบลักษณะลูกกุ้งก้ามกรามและกุ้งฝอย
ลูกกุ้งกร้ามกราม กุ้งฝอย

๑. ลักษณะลำตัวเรียวยาว
๒. กรียาวแหลม และปลายกรีงอนเล็กน้อยและมีสีแดง
๓. มีลายสีดำพาดตรงแก้มจากโคนตาเฉียง
ลงมา ๓ แถบแต่แถบอื่นๆและมีจุดดำประตาม
แนวตัว ข้างละแนว

ลูกกุ้งก้ามกราม

 

๑. ลักษณะลำตัวค่อนข้างป้อมสั้น
๒. กรีสั้น ทู่
๓. ไม่มีแถบหรือจุดดำบนตัว

 

กุ้งฝอย

 

 

ถ้าเลี้ยงในกระชังไม้ หรือที่ล้อมขัง ควรจะปล่อยกุ้งที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดดังกล่าว คือ กุ้งจะต้องมีขนาดลำตัวยาวไม่น้อยกว่า ๒ นิ้ว

 

การขนส่งลูกกุ้ง 

ตามปกติจะบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด ๔๕ x ๗๕ เซนติเมตร ใส่น้ำประมาณ ๓ - ๕ ลิตร บรรจุลูกกุ้ง ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ตัว (ขนาด ๑.๒ - ๒ เซนติเมตร) เดินทางในระยะไม่เกิน ๖ ชั่วโมง ถ้าจะต้องเดินทางไกลกว่านี้ หรือลูกกุ้งมีขนาดใหญ่ จะต้องบรรจุลูกกุ้งน้อยกว่านี้ หรือลดอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ ๒๐ - ๒๔ องศาเซลเซียส จะทำให้ลูกกุ้งมีโอกาสรอดมากขึ้น โดยใช้น้ำแข็งใส่ข้าง ๆ ถุง ข้อสำคัญในขณะลำเลียงอย่าให้ถุงกุ้งก้ามกรามถูกแดด หรือให้น้ำอุ่นเป็นอันขาดเพราะจะทำให้ลูกกุ้งใช้ออกซิเจนมากขึ้น และออกซิเจนในถุงหมดเร็ว เมื่อถึงปลายทางลูกกุ้งจะอ่อนแอจมอยู่ก้นถุงและตายได้ ฉะนั้นเมื่อปล่อยลงบ่อหากไม่ได้ตรวจแล้วบางทีอาจเหลืออยู่ไม่กี่ตัว

 

การบรรจุลูกกุ้งลงในถุงพลาสติก เพื่อขนส่งไปปล่อยในบ่อเลี้ยง

 

อัตราการปล่อยลูกกุ้ง 

ก่อนปล่อยลูกกุ้งต้องสูบน้ำเข้าบ่อไว้ก่อน ๑ วันถ้าเป็นบ่อใหม่ไม่ควรสูบน้ำใส่บ่อนานเพราะจะทำให้แมลงปอมาไข่ และเกิดตัวอ่อน ซึ่งสามารถจับลูกกุ้งกินได้ถ้าเป็นบ่อเก่าที่เลี้ยงอยู่แล้ว ควรใช้อวนมุ้งไนล่อนสีฟ้า กั้นเป็นคอกภายในบ่อไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับอนุบาลลูกกุ้งระยะหนึ่ง ประมาณ ๑ เดือน

ในกรณีที่เลี้ยงกุ้งอย่างเดียว และมีน้ำถ่ายเทดี ควรปล่อยกุ้งในอัตราส่วน ๑๕-๓๐ ตัวต่อตารางเมตร เมื่อกุ้งมีอายุได้ประมาณ ๒-๓ เดือน จึงคัดกุ้งที่มีขนาดใกล้เคียงกันไปเลี้ยงในบ่อเดียวกัน ในอัตราส่วน ๕-๑๐ ตัวต่อตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ก้งุในบ่อที่เลี้ยง หลังจากการคัดขนาดแล้ว มีอัตราการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ถ้าน้ำถ่ายเทไม่มาก ต้องลดจำนวนลงเหลือ ๓-๕ ตัวต่อตารางเมตร จากการสำรวจผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ปล่อยกุ้งในอัตราส่วน ๕-๑๐ ตัวต่อตารางเมตร จะได้ผลิตผล ๑๕๐-๒๐๐ กิโลกรัมและไร่ ในระยะ ๗-๘ เดือน ถ้าปล่อยกุ้งแน่นเกินไปกุ้งจะโตช้า

ในกรณีที่ใช้วิธีทยอยจับกุ้งโตออกตลอดปี ควรปล่อยกุ้งเป็นระยะทุก ๓-๔ เดือน ในจำนวนที่มากกว่ากุ้งที่จับออก ๓ เท่า เช่น ถ้าจับกุ้งใหญ่ขาย ๑,๐๐๐ ตัว ในระยะ ๔ เดือน ก็ต้องปล่อยกุ้งเล็กลงไปแทนประมาณ ๓,๐๐๐ ตัว เป็นต้น 

ในกรณีที่เลี้ยงรวมกับปลา อาจปล่อยกุ้งได้น้อย คือ ไม่เกิน ๕ ตัวต่อตารางเมตร ปลาที่เลี้ยงรวมกับกุ้งได้ คือ ปลาที่กินพืช เช่น ปลาสลิด และปลาจำพวกปลาจีน ได้แก่ ปลาลิ่น ปลาซ่ง และปลาเฉา ในอัตราไม่เกิน ๔๐ ตัวต่อไร่ สำหรับปลาจีนสามารถปล่อยเลี้ยงได้ ๒ รุ่นในรอบปี อย่างไรก็ดีมีข้อพิจารณาว่า ถ้าต้องการเลี้ยงกุ้ง เพื่อธุรกิจการค้าแล้ว ควรเลี้ยงกุ้งเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะการปล่อยปลาลงเลี้ยงรวมด้วย จะมีปัญหาตามมา ๒ ประการ คือ ปลาแย่งอาหารกุ้ง ทำให้เสียค่าอาหารเพิ่มขึ้น และปลาจะรบกวนในขณะใช้อวนลากกุ้ง นอกจากนี้ การเลี้ยงปลารวมกับกุ้งยังได้ผลิตผลต่ำกว่าการเลี้ยงกุ้งอย่างเดียว

ในบางแห่งนิยมเลี้ยงปลากินยุงไว้ให้แพร่พันธุ์ในบ่อกุ้ง ทั้งนี้เพราะปลากินยุงกินอยู่บนผิวน้ำจึงใช้กำจัดตัวอ่อนของแมลงผิวน้ำ และแมลงปอซึ่งชอบกินลูกกุ้ง ปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 2 นิ้ว กินลูกกุ้งไม่ได้ แต่กุ้งจับเป็นอาหารได้หรือถ้ามีมากๆ ก็บดให้กุ้งกินเป็นอาหาร จึงควรเลี้ยงไว้ในบ่อกุ้ง

 

ที่หลบซ่อน 

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามจำเป็นจะต้องจัดหาที่หลบซ่อนให้ด้วย เนื่องจากกุ้งเจริญเติบโตด้วยการลอกคราบ ขณะลอกคราบใหม่ ๆ กุ้งมีลำตัวนิ่ม และช่วยตัวเองไม่ได้ ธรรมชาติของกุ้ง
เป็นสัตว์ที่กินกันเอง ฉะนั้นถ้าไม่มีที่หลบซ่อน ในขณะลอกคราบกุ้งมักถูกกุ้งตัวอื่นกินเสมอ ทั้ง ๆ ที่มีอาหารสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเลี้ยงกุ้งมีอัตรารอดตายต่ำ วิธีที่จะช่วยบรรเทาอัตราการตายดังกล่าวได้ ก็โดยจัดหาอวนเก่า หรือผ้าพลาสติกหนาสีทึบ ๆ หรือวัสดุอื่นที่ไม่เน่าผุง่าย ทิ้งไว้ในบ่อเป็นระยะ ๆ หรือจะปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง หรือผักตบชวาไว้ข้างบ่อก็จะช่วยได้ ยกเว้นในกรณีที่บ่อเลี้ยงกุ้งมีขนาดใหญ่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องมีที่หลบซ่อน เพราะโอกาสที่กุ้งจะพบกันนั้น มีน้อยลง 

ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม มีอุปกรณ์จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ชนิดที่เป็นเครื่องตีน้ำ (agitator) หรือเครื่องเป่าอากาศ (air blower) ช่วยเพิ่มออกซิเจน ในเวลากลางคืน

อาหารและการให้อาหาร 

ส่วนประกอบของอาหาร กุ้งเป็นสัตว์ ที่กินอาหารไม่เลือก ทั้งซากสัตว์ และเมล็ดพืช กุ้งหากินในเวลากลางคืนตามพื้นก้นบ่อ ฉะนั้นอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งในบ่อจึงได้แก่ เนื้อปลาสด เนื้อหอย และอาหารผสมบด และอัดเม็ดตากแห้ง และเนื่องจากกุ้งกินอาหารช้า อาหารผสมจึงควรจมอยู่ในน้ำได้นาน ไม่ละลายน้ำเร็ว อย่างน้อยจะต้องคงรูปอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า ๓ ชั่วโมง ส่วนผสมของอาหารควรมีโปรตีนร้อยละ ๒๐- ๓๐ และมีอัตราส่วนผสมโดยน้ำหนัก ดังนี้

 

อัตราส่วนอาหารผสมสำหรับกุ้ง (โดยน้ำหนัก)

 

ปัจจุบันนี้มีอาหารเม็ดสำเร็จรูปขายเป็น ถุงมีปริมาณบรรจุถุงละ ๒๐ - ๒๕ กิโลกรัม ใน ราคากิโลกรัมละประมาณ ๑๐ บาท นับว่าสะดวก

 

การให้อาหาร 

สำหรับกุ้งเล็กที่มีขนาด ๑ - ๒ เซนติเมตร ที่เลี้ยงในบ่อดิน เริ่มให้อาหาร ตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง ประมาณ ๑/๒  กิโลกรัมต่อจำนวนกุ้ง ๑๐,๐๐๐ ตัวต่อวัน หว่านให้กินวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น และให้เพิ่มอีกประมาณร้อยละ ๓๐-๕๐ ของน้ำหนักอาหารเดิมต่อทุก ๒ สัปดาห์ จนอายุประมาณ ๔ เดือน จึงให้เพิ่มในอัตราร้อยละ ๒๕-๓๐ ของน้ำหนักอาหารเดิมต่อทุก ๓-๔ สัปดาห์ โดยลดจำนวนครั้งเหลือเพียงครั้งเดียวในเวลาเย็น ในการพิจารณาให้อาหาร เรามีวิธีการพิจารณาดังนี้ ถ้าเป็นกุ้งเล็กต่ำกว่า ๑๐๐ ตัวต่อกิโลกรัม ให้อาหารประมาณร้อยละ ๑๐ - ๑๒ ของน้ำหนักกุ้ง ถ้าเป็นกุ้งขนาด ๕๐-๘๐ ตัวต่อกิโลกรัม ให้อาหารประมาณร้อยละ ๕ -๘ ของน้ำหนักกุ้ง ถ้ากุ้งใหญ่กว่านี้ให้อาหารประมาณร้อยละ ๑-๓ ของน้ำหนักกุ้ง ถ้าเป็น อาหารสดจะต้องให้มากกว่านี้ประมาณ ๓-๕ เท่า อาหารเม็ดแห้งต้องใช้ประมาณ ๓ กิโลกรัม จึงจะเทียบได้กับอัตราส่วนน้ำหนักกุ้ง ๑ กิโลกรัม ราคาอาหารเม็ดกิโลกรัมละประมาณ ๘ - ๑๐ บาท เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งประมาณ ๓๐-๔๐ บาทต่อน้ำหนักกุ้ง ๑ กิโลกรัม โดยมีอัตรารอดตายประมาณร้อยละ ๓๐-๔๐

 

การให้อาหารกุ้ง

 

โรคและศัตรู

การเลี้ยงกุ้งในบ่อไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคมากนัก เท่าที่พบเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ได้แก่

๑. โรคเหงือกดำ 

เกิดจากเชื้อบัคเตรีจับที่เหงือก มองเห็นเป็นสีดำ ทำให้กุ้งหายใจไม่สะดวก สาเหตุเกิดจากพื้นบ่อมีการหมักหมม น้ำ
มีออกซิเจนต่ำ วิธีป้องกันและแก้ไข คือ เปลี่ยนน้ำแล้วย้ายกุ้งไปเลี้ยงในบ่อซึ่งเตรียมใหม่ให้ลอกคราบ เชื้อบัคเตรีที่จับอยู่ ก็จะหลุดหายไป

 

กุ้งก้ามกรามป่วยและตายด้วยโรคเหงือกดำ จากการตรวจ พบทั้งพยาธิซูแทมเนียม ตะกอนดินและสาหร่ายเกาะที่เหงือก

 

๒. โรคเปลือกเน่า 

เกิดจากเชื้อบัคเตรี ทำให้ขอบหรือปลายเหงือกมีสีดำและขาดหายไป ถ้าเกิดที่ปลายขาจะทำให้ขากุด โรคนี้จะค่อย ๆ ลุกลามไป ทำให้กุ้งเกิดการระคายเคือง ไม่กินอาหารและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการเลี้ยงกุ้งหนาแน่น และเปลี่ยนน้ำไม่เพียงพอ

 

กุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่อายุ ๔ - ๖ เดือน ตายด้วยอาการต่าง ๆเช่น ขาเดินมีสีน้ำตาล ตัวแดง จากการตรวจ พบพยาธิชูแทมเนียมจำนวนมาก ในกุ้งเหล่านี้

 

๓. ศัตรู 

ศัตรูของกุ้งที่เลี้ยงในบ่อมีหลายชนิด เช่น นกเป็ดน้ำ นกยาง กบ เต่า งู ปลากินเนื้อทุกชนิด โดยเฉพาะปลาช่อน แม้ขนาดเล็ก ก็สามารถกินลูกกุ้งได้ เมื่อจับได้จะพบลูกกุ้งอยู่ในท้องเสมอ จึงเป็นปลาที่มีอันตราย และป้องกันยากมากชนิดหนึ่ง เพราะสามารถกระโดดข้ามขอบบ่อได้ และมีอยู่ทุกแห่ง ส่วนปลาอื่นๆ ที่ไม่กินลูกกุ้งโดยตรง ก็จะแย่งอาหาร ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การป้องกันทำได้โดยใช้อวนมุ้งไนล่อนกั้นรอบบ่อ และกรองน้ำก่อนปล่อยเข้าบ่อกุ้ง เพื่อป้องกันไข่และลูกปลา สำหรับการกำจัดปลานั้น ทำได้โดยสูบน้ำออกให้เหลือประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แล้วจึงใช้กากเมล็ดชาป่น แช่น้ำในอัตรา ๒๕-๓๐ กรัมต่อน้ำ ๑ ตัน หรือใช้โล่ติ๊นสดในอัตรา ๑ กิโลกรัมต่อน้ำ ๑๐๐ ตัน ทุบโล่ติ๊นแช่น้ำ ๑ คืนแล้วสาดให้ทั่วบ่อ ปลาจะตายหมด แต่กุ้งไม่ตาย หลังจากนั้นจึงสูบน้ำให้เข้าไปเท่าเดิม

ปัญหาในการเลี้ยงกุ้ง

ปัญหาสำคัญที่พบเสมอในการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งไม่ใช่โรคและศัตรูแต่ทำให้เกิดความเสียหาย มีดังนี้

 

๑. การขาดแคลนออกซิเจนในบ่อ
มักเป็นกับบ่อที่เลี้ยงกุ้งไว้หลังจากอายุ ๔ เดือน เป็นต้นไป โดยเฉพาะในฤดูร้อนน้ำน้อย และวันที่มีอากาศครึ้ม อบอ้าว อาการที่แสดงว่า ขาดออกซิเจนคือ ในตอนเช้ามืดกุ้งจะขึ้นมาปรากฏอยู่ที่ขอบบ่อมากผิดปกติ บางตัวอาจจะกระโดดขึ้นมาบนตลิ่ง ซึ่งแสดงว่า มีออกซิเจนในน้ำต่ำกว่า ๑.๕ ส่วนในล้าน ต้องรีบแก้ไข มิฉะนั้น กุ้งอาจตายหมดบ่อ การแก้ไขกระทำโดยสูบน้ำเข้าทันที พร้อมทั้งให้อากาศ หรือใช้เครื่องตีน้ำ เพิ่มออกซิเจนในเวลากลางคืน ปริมาณออกซิเจนในบ่อควรให้มีไม่ต่ำกว่า ๓ ส่วนในล้าน

 

๒. กุ้งไม่โตเนื่องจากกุ้งไม่ลอกคราบ 
จะ ปรากฏลักษณะคล้ายตะไคร่น้ำจับที่เปลือกกุ้ง ทำให้กุ้งผอม น้ำหนักเบา สาเหตุเนื่องจากให้อาหารน้อย และอาหารมีคุณค่าไม่เพียงพอ หรือให้อาหารมากเกินไป ซึ่งทำให้ดินและน้ำในบ่อเกิดการเน่าเสีย วิธีป้องกันคือ ไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงจนแน่นบ่อ ต้องถ่ายน้ำบ่อยๆ หรือใส่โล่ติ๊น หรือกากเมล็ดชาในอัตราส่วนตามที่กล่าวมาแล้ว นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังพบปัญหาอื่นอีก คือ กุ้งก้ามโต แต่ตัวเล็กที่เรียกว่า "กุ้งจิ๊กโก๋" ปัญหานี้เกิดจากความไม่สมดุลของจำนวนกุ้งในบ่อ กล่าวคือ มีกุ้งตัวผู้น้อยกว่ากุ้งตัวเมียหลายเท่า ทำให้กุ้งตัวผู้เสียพลังงานไปกับการผสมพันธุ์ อันเป็นเหตุให้กุ้งตัวผู้แคระแกร็น ไม่สมส่วน สามารถแก้ไขได้ โดยการจับตัวเมียออก ให้เหลือจำนวนใกล้เคียงกับตัวผู้ 

 

เครื่องเป่าอากาศ เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ
กุ้งขนาดโตพอที่จะจับออกจำหน่าย

 

ผลิตผล 
กุ้งที่เลี้ยงควรจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๗ เดือน ควรจับเมื่อตัวผู้มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๘๐ กรัม และตัวเมียไม่ควรต่ำกว่า ๕๐ กรัม

ปริมาณผลิตผลนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างคือ การจัดการแหล่งน้ำและอาหาร ในต่างประเทศ เช่น ที่ฮาวายได้ผลิตผลสูงกว่า ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สำหรับในบ้านเราเท่าที่มีผู้เลี้ยงมา จะได้ผลิตผลประมาณ ๑๕๐ - ๒๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

 

การจับกุ้ง 
ในการจับกุ้งนั้น เราควรพิจารณาปัจจัย ๒ ประการ คือ ขนาดที่ตลาดต้องการ และขนาดที่กุ้งเจริญเติบโตถึงจุดอิ่มตัว ผู้เลี้ยงย่อมทราบดีว่ากุ้งโตไม่เท่ากัน ยิ่งเลี้ยงไปตัวผู้ยิ่งโตกว่าตัวเมียเมื่ออายุประมาณ ๘ - ๑๒ เดือน ตัวผู้จะโตกว่าตัวเมียประมาณ ๒ เท่า จากการสังเกต การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อพบว่า ควรจับกุ้งเมื่อตัวผู้มีขนาด ๘ - ๑๐ ตัวต่อกิโลกรัม และตัวเมียมีขนาด ๑๕ - ๑๘ ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระยะที่กุ้งก้ามกรามในบ่อมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุด ถ้าพ้นจากนี้ไปจะโตช้า 

สำหรับการจับกุ้งนั้นทำได้ ๒ วิธี คือ จับเป็นครั้งคราว โดยใช้อวนไนล่อน และจับโดยการสูบน้ำออกหมดบ่อ 

ในการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเป็นธุรกิจนั้น ควรจับกุ้ง โดยใช้อวนจะเหมาะกว่าวิธีอื่น ทั้งนี้เพราะกุ้งโตไม่เท่ากัน การใช้อวน ทำให้สามารถเลือกจับกุ้งที่โตออกขายก่อน กุ้งไม่บอบช้ำ ช่วยให้ได้ ราคาดี และประหยัดทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจับกุ้งที่กำลังลอกคราบ หรือเพิ่งลอกคราบใหม่ๆ เปลือกยังนิ่ม เพราะจะเกิดบาดแผลง่าย ทำให้เน่าเสียเร็ว และไม่ควรจับกุ้งขังไว้ค้างคืน เพราะจะทำให้กุ้งได้รับความเสียหาย เนื่องจากกุ้งลอกคราบ ประมาณร้อยละ ๕-๑๐ และส่วนมาก จะถูกกุ้งตัวอื่นกิน เหลือบางส่วนเท่านั้น

 

การจับกุ้งเพื่อนำไปจำหน่าย

 

อวนที่ใช้จับกุ้งก้ามกรามในบ่อควรใช้อวนไนล่อน ที่มีขนาดตากว้าง ๑.๒ - ๑.๕ นิ้วเส้นอวน เบอร์ ๑๗ ยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบ่อ และลึกเป็น ๓ เท่าของความลึกของน้ำ ใช้ลากไปตามความยาวของบ่อ วิธีนี้จะจับกุ้งขนาด น้ำหนักไม่ต่ำกว่าตัวละ ๕๐ กรัม ส่วนกุ้งขนาดเล็กจะลอดไปได้ ทำให้สามารถคัดเอากุ้งที่มีขนาดที่ต้องการได้ในเวลารวดเร็ว และกุ้งไม่บอบช้ำ 

ส่วนวิธีสูบน้ำออกจนหมดบ่อ แล้วจึงจับนั้นควรทำเมื่อกุ้งเหลือน้อย และต้องการจะล้างบ่อ เพราะเมื่อสูบน้ำออกแล้วจะมีกุ้งขนาดเล็กอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งยังจำหน่ายไม่ได้ จำเป็นจะต้องเลี้ยงต่อไป การจับโดยวิธีสูบน้ำออกหมดนี้จะทำให้กุ้งบอบช้ำมาก

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในเชิงการค้านั้น มีปัญหาหลายประการ เช่น ผลิตผลต่ำ เนื่องจาก ธรรมชาติของกุ้งชอบกินกุ้งด้วยกัน มีอัตราการเจริญเติบโตช้า และมีปัญหาเกี่ยวกับแหล่งน้ำ ที่ใช้เลี้ยง นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การตลาด เพราะตลาดต่างประเทศมีจำกัด ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงกุ้งทะเล เช่น การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และกุ้งแชบ๊วย ซึ่งมีตลาดรองรับการผลิตมากกว่า และให้ผลตอบแทน สูงกว่ามากแล้ว ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งทะเล จะได้รับความนิยมมากกว่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม  

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow