Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิต

Posted By Plookpedia | 11 มิ.ย. 60
1,021 Views

  Favorite

ฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิต

มีหน้าที่ในการวางแผนการผลิตและควบคุมการรับส่งชิ้นส่วนให้มีปริมาณที่พอดีกับการใช้งานของฝ่ายผลิต แบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ 

๑. การวางแผนการผลิต 

      แผนกวางแผนของโรงงานจะได้รับข้อมูลความต้องการจำนวนรถยนต์ของลูกค้า โดยการประชุมร่วมกับฝ่ายขายแล้วนำมาวางแผนการผลิตโดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิตหากความต้องการมีมากกว่ากำลังการผลิตก็จะต้องประชุมกับทางฝ่ายผลิตและผู้ผลิตชิ้นส่วนว่าสามารถที่จะผลิตได้ตามเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นนี้หรือไม่  โดยอาจจะมีการทำงานล่วงเวลาหรือการทำงานในวันหยุด แต่ถ้าหากความต้องการน้อยกว่ากำลังการผลิตก็จะต้องปรับให้การผลิตในแต่ละวันเท่ากันและจะต้องวางแผนการผลิตให้ได้จำนวนและรุ่นของรถยนต์ตรงกับความต้องการ ทั้งยังต้องผลิตให้ทันกับกำหนดการส่งมอบด้วย 
      แผนการผลิตแบ่งเป็นระยะคือ แผนเดือน แผนสามเดือน และแผนปี  โดยแผนเดือนจะเป็นการยืนยันกำหนดที่แน่นอนว่าในเดือนนั้น ๆ จะผลิตรถยนต์ในแต่ละรุ่นจำนวนเท่าไรและในวันใด ส่วนแผนสามเดือนจะมีประโยชน์สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนในการวางแผนว่าจะต้องสั่งวัตถุดิบจำนวนเท่าไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แผนปีจะบอกถึงแนวโน้มความต้องการรถยนต์ในปีนั้น ๆ ใช้เพื่อวางแผนกำลังคนและเครื่องจักรว่าจะต้องมีการเพิ่มหรือลดอย่างไร  การวางแผนจะต้องคำนึงถึงเวลาในแต่ละช่วงการผลิตตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบกำหนดการส่งมอบระยะเวลาในกระบวนการผลิต ตั้งแต่สายการเชื่อม สายการพ่นสี สายการประกอบ การทดสอบต่าง ๆ จนกระทั่งสำเร็จสมบูรณ์ประกอบเป็นรถยนต์ที่เรียบร้อยเพื่อการส่งมอบได้ 

 

ลังบรรจุชิ้นส่วนซีเคดี
ลังบรรจุชิ้นส่วนซีเคดี

 

๒. การส่งมอบชิ้นส่วน 

      กำหนดการส่งมอบชิ้นส่วน จะแยกตามผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายในปัจจุบันระบบการส่งมอบแบบทันเวลาพอดี (Just in time system) ถูกนำมาใช้ในการกำหนดเวลาการส่งมอบชิ้นส่วนโดยมีแนวคิดจากหลักการที่ว่าทุกกระบวนการผลิตจะต้องมีความไว้ใจกัน ดังนั้นจะไม่มีการเก็บสต็อกชิ้นส่วนในแต่ละกระบวนการผลิตเพื่อที่จะลดปริมาณชิ้นส่วนในสายการผลิตรวม  โดยในการผลิตแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์จะมีกำหนดการส่งมอบเพื่อให้มีปริมาณชิ้นส่วนที่เพียงพอต่อการผลิตตามกำหนดเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดวัตถุดิบในการผลิตแล้วยังทำให้วัตถุดิบเสียหายน้อยลงด้วย เมื่อได้รับคำสั่งซื้อในเดือนนั้นแล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายก็จะนำไปวางแผนการผลิตต่อไปเพื่อให้ได้ชิ้นส่วนทันการส่งมอบตามที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อ 
      ในปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนล่วงหน้าของผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายจะมีปริมาณต่ำโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ดังนั้นหากมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใดที่ไม่สามารถทำตามแผนกำหนดการส่งมอบแล้ว ย่อมจะกระทบต่อสายการผลิตหลักรวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่น ๆ ทั้งหมด เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เช่น เครื่องจักรเสีย จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะเห็นได้ว่าระบบการผลิตดังกล่าวต้องอาศัยกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ผลิตทั้งระบบจึงต้องมีการเตรียมการที่ดี มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถทำการผลิตได้ 

 

พนักงานกำลังจัดชิ้นส่วนออกจากลังซีเคดี
พนักงานกำลังจัดชิ้นส่วนออกจากลังซีเคดี

 

๓. การจัดส่งชิ้นส่วนเข้าสายการผลิต 

      ชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศจะถูกบรรทุกไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่และขนส่งมาทางเรือ หลังจากผ่านกระบวนการทางศุลกากรแล้วชิ้นส่วนจะถูกขนออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์โดยใช้รถยกมาเก็บไว้ในโกดังเพื่อรอการผลิตต่อไป  เมื่อถึงกำหนดการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้จะถูกนำออกมาจากโกดังไปไว้ยังพื้นที่จัดชิ้นส่วน จากนั้นชิ้นส่วนก็จะถูกจัดใส่ตะกร้าพลาสติกแล้วจัดวางบนรถหรืออาจจะจัดวางในรถลากพิเศษสำหรับชิ้นส่วนนั้น ๆ โดยเฉพาะ  โดยชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกคัดแยกเพื่อจัดส่งไปตามจุดประกอบในสายพานการผลิตต่อไป 

      ชิ้นส่วนขนาดเล็ก ๆ เช่น นอต สกรู คลิบ จะถูกแยกจัดและส่งด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป เนื่องจากมีจำนวนมากและเป็นชิ้นส่วนที่มีการใช้ทั่ว ๆ ไป การแบ่งชิ้นส่วนประเภทนี้จึงไม่นิยมแบ่งด้วยการนับแต่จะใช้วิธีการชั่งโดยมีรายการบันทึกไว้ก่อนว่า ชิ้นส่วนหมายเลขใดใช้ปริมาณเท่าไรต่อครั้งและมีน้ำหนักเท่าไรการชั่งสามารถให้ความเที่ยงตรงได้พอเพียงภายในระยะเวลาที่สั้นลง  โดยทั่วไปชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศจะมีปริมาณสำรองไว้เพื่อการประกอบในระยะเวลา ๑๐ วัน หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับว่าประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนนั้น ๆ มีระยะทางไกลจากประเทศไทยเท่าใดและจะต้องใช้เวลาเดินทางโดยทางเรือกี่วัน เช่น จากประเทศญี่ปุ่นจะใช้เวลาเดินทางโดยทางเรือ ๙ วัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องคำนวณเผื่อเวลาในการสั่งซื้อรวมทั้งเวลาในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรด้วย 
      ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศจะมีปริมาณเพียงพอ สำหรับการผลิตในโรงงานวันต่อวันเท่านั้นจะไม่มีการเก็บสำรองไว้มากยกเว้นว่าชิ้นส่วนนั้น ๆ มีขนาดเล็กและมีปริมาณการผลิตต่อครั้งมาก เช่น สติกเกอร์ (Sticker) นอต (Knot) สกรู (Screw) เป็นต้น ระยะทางระหว่างโรงงานผลิตชิ้นส่วนกับโรงงานผลิตรถยนต์ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาปริมาณสต็อกด้วย ชั้นเก็บชิ้นส่วนภายในโรงงานจะถูกแยกตาม ประเภทของชิ้นส่วนหรือแยกตามสายการผลิตย่อยเพื่อให้สะดวกในการจัดและควบคุม 
      ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังจะเป็นชิ้นส่วนที่ทำด้วยเหล็กจึงต้องมีการชุบน้ำมันกันสนิมจากโรงงานผลิตชิ้นส่วน เพราะประเทศไทยมีความชื้นสูงทำให้ชิ้นส่วนที่ทำด้วยเหล็กเกิดสนิมได้ง่ายแม้ว่าจะเก็บไว้เพียงวันเดียวหรือสองวันก็ตาม สิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการจัดชิ้นส่วนพวกนี้ก็คือต้องสวมถุงมือหนังในการยกชิ้นส่วน มิฉะนั้นแล้วจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเนื่องจากชิ้นส่วนจำพวกนี้มีความคมและต้องระวังไม่ให้มีการตกหล่นหรือกระแทกเพราะจะทำให้เกิดรอยบุบได้  ดังนั้นชิ้นส่วนที่มีขนาดปานกลางจะถูกบรรทุกมาในรถลากพิเศษเฉพาะชิ้นส่วนนั้น ๆ และพยายามให้มีการยกน้อยครั้งที่สุดหลังจากที่ผลิตเป็นชิ้นส่วนแล้วจนกระทั่งถึงขั้นตอนการประกอบตัวถัง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow