Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การกำหนดอายุสมัยตู้พระธรรม

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
1,524 Views

  Favorite

การกำหนดอายุสมัยตู้พระธรรม

       การศึกษาลวดลายซึ่งตกแต่งประดับอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของตู้พระธรรม ทำให้เกิดความรู้และสามารถวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของลวดลายที่มีความแตกต่างกันในเชิงช่างส่งผลให้สามารถกำหนดอายุสมัยตู้พระธรรมที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและหอสมุดแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร โดยแบ่งได้เป็น ๓ สมัย คือ สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์

      ลักษณะสำคัญที่ใช้เป็นข้อสังเกตเพื่อแยกสมัยของลายไทย คือ ความอ่อนช้อยของเส้นโดยเฉพาะปลายเส้นกระหนกหากเป็นลวดลายสมัยอยุธยาจะดูอ่อนช้อยสะบัดปลายพลิ้วเหมือนเปลวไฟต้องลม ถ้าเป็นสมัยธนบุรีปลายเส้นกระหนกจะดูแข็งขึ้นเล็กน้อย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ปลายเส้นกระหนกดูแข็งมากยิ่งขึ้นอีกจนดูเหมือนกับว่าลากปลายเส้นออกไปตรง ๆ เท่านั้น  

 

ตู้พระธรรมสมัยอยุธยา
ตู้พระธรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสามารถกำหนดอายุสมัยได้จากลักษณะเฉพาะของลวดลาย

 

       การเขียนลายไม่ว่าจะเป็นการออกลายหรือออกเถาช่างสมัยอยุธยามักแสดงความรู้ความสามารถให้เห็นเด่นชัดกล้าที่จะเขียนภาพและลวดลายอย่างมั่นใจมีอิสระโดยไม่ต้องใช้ต้นแบบหรือต้นร่าง ด้วยเหตุนี้ลวดลายและองค์ประกอบลายในแต่ละด้านของตู้พระธรรมสมัยอยุธยาตู้หนึ่ง ๆ จึงมีทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน  โดยเฉพาะเถากระหนกมักเริ่มต้นจากขอบล่างของตู้พุ่งยอดพลิ้วขึ้นสู่เบื้องบนทำให้ดูอ่อนช้อยได้สัดส่วนกลมกลืนและงดงามอย่างยิ่ง หากเป็นตู้ลายรดน้ำสมัยธนบุรีความพิถีพิถันในการเขียนลายมีน้อยกว่าสมัยอยุธยา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นฟื้นฟูให้เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากสิ้นสุดสมัยอยุธยาและการสงครามเริ่มลดน้อยลง ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นช่างนิยมสร้างงานศิลปะที่มีแบบอย่างหรือมีต้นแบบที่ร่างไว้เพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับการเขียนลายจึงทำให้ลวดลายของตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะลายกระหนกมีลักษณะเหมือนกันตลอดทั้งตู้ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่าถูกบังคับให้เขียนลายอย่างเดียวกัน นอกจากนั้น ปลายเส้นกระหนกก็ไม่อ่อนช้อยเหมือนสมัยอยุธยาลักษณะโดยรวมของลวดลายจึงดูค่อนข้างแข็งกระด้างขาดความเป็นอิสระในตัวเอง แม้กระนั้นก็ยังให้ความรู้สึกว่างดงามอีกแบบหนึ่ง

 

ตู้ฐานสิงห์ ลายกระหนกเปลว สมัยอยุธยา
ตู้ฐานสิงห์ ลายกระหนกเปลว สมัยอยุธยา ฝีมือครูวัดเชิงหวาย

 

       ตู้พระธรรมลายรดน้ำที่จัดว่ามีความงดงามเป็นเอกคือ ตู้ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเรียกว่า ตู้ฝีมือครูวัดเซิงหวาย ปัจจุบันพบว่ามีอยู่ ๒ ตู้ เป็นตู้ฐานสิงห์ตกแต่งด้วยลายกระหนกเปลวเครือเถาตู้หนึ่งและอีกตู้หนึ่งตกแต่งด้วยลายกระหนกรวงข้าว ความงดงามของลวดลายทั้ง ๒ ตู้ กล่าวได้ว่าเป็นแบบฉบับของลายกระหนกที่สวยงามที่สุด พราะนอกจากลายกระหนกที่อ่อนช้อยดุจเปลวเพลิงต้องลมแล้วยังมีภาพสัตว์จำพวกนก กระรอก และแมลง เป็นต้น ที่คละเคล้าอยู่ตามกิ่งก้านของเถากระหนกด้วยท่าทางที่แสดงอาการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตตามธรรมชาติอันแท้จริงของสัตว์เหล่านั้น บังเกิดเป็นความงามประการหนึ่งที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของลายกระหนกแสดงให้เห็นถึงความคิดอิสระของช่างไทยสมัยอยุธยาที่สามารถใช้จินตนาการของตนสร้างงานศิลปะขึ้นด้วยความกล้าและความสามารถอย่างอัจฉริยะโดยไม่เกรงว่าจะกระทบกระเทือนถึงระเบียบแบบแผนหรือข้อเท็จจริงแห่งกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ ผลงานที่ปรากฏจึงสมควรนับเป็นศิลปะชิ้นเอกที่มีค่าควรเมืองทีเดียว 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow