Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การตกแต่งตู้พระธรรม

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
3,219 Views

  Favorite

การตกแต่งตู้พระธรรม

      ตู้พระธรรมส่วนมากมักตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ ของตู้ด้วยลวดลายไทย เป็นลายรดน้ำบนพื้นรักดำที่ทำเป็นลายกำมะลอ ลายจำหลักประดับกระจก และลายประดับมุกก็มีบ้างแต่เพียงส่วนน้อย สำหรับลายที่ใช้ตกแต่งในแต่ละส่วนของตู้ช่างก็จะเลือกใช้ลายตามประเภทหรือหน้าที่อันเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะลายไทย เช่น ลายหน้ากระดาน จะใช้ตกแต่งเฉพาะขอบบนและขอบล่างของตู้ ส่วนลายเชิงใช้เฉพาะเสาขอบตู้ตอนบนและตอนล่าง

๑. ส่วนต่างๆ ของตู้พระธรรมที่มีการตกแต่ง

ด้านหน้าและด้านข้างของตู้

      ด้านหน้าซึ่งทำเป็นบานประตู ๒ บาน และด้านข้างทั้งซ้ายและขวาเป็นส่วนที่ตกแต่งลวดลายลักษณะเดียวกัน เช่น มีลายกระหนกเปลวเครือเถา ลายกระหนกใบเทศ ลายก้านขด ลายเหล่านี้ช่างมักตกแต่งให้มีนกคาบ นาคคาบ หรือออกเถาแบบต่าง ๆ เคล้าภาพสัตว์มีนก กระรอก ลิง เป็นอาทิ บางตู้ก็มีภาพประกอบทั้งภาพเล่าเรื่องและภาพลอยตัว เช่น ภาพพุทธประวัติ วรรณกรรมชาดก รามเกียรติ์ เทพทวารบาล และสัตว์หิมพานต์

 

ลายก้านขด
ลายก้านขด

 

ขอบตู้ด้านบนและด้านล่าง
      จะใช้ลายหน้ากระดาน เช่น ลายประจำยามลูกฟัก ลายประจำยามลูกฟักก้ามปู ลายดอกซีก ดอกซ้อน ลายหมอนทอง ลายเกลียวใบเทศ ลายสังวาลเพชรพวง
เสาขอบตู้ทั้ง ๔ เสา
      ระหว่างช่วงกลางเสานิยมเขียนลายก้านต่อดอก ลายรักร้อย ซึ่งมีทั้งลายรักร้อยหน้าสิงห์ ลายรักร้อยบัวร้อยและลายรักร้อยใบเทศ ส่วนตอนบนและตอนล่างของเสาขอบตู้มักเป็นลายกรวยเชิงและมีบางตู้ที่ช่วงกึ่งกลางเสาตกแต่งด้วยลายประจำยามรัดอก

เชิงตู้
      ตู้พระธรรมที่มีเชิงตู้ส่วนมากจะทำเป็นรูปปากสิงห์หรือหูช้างซึ่งนิยมทำด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ กัน เช่น ลายรดน้ำประดับกระจกและจำหลักฉลุโปร่ง สำหรับลวดลายที่ใช้มีลายก้านขด ลายดอกพุดตานลายกระหนกเปลวเครือเถา นกคาบ นาคคาบ ออกเถาเทพนม ช่อเปลวหางโต

 

ลายกระหนกเปลวเครือเถา
ลายกระหนกเปลวเครือเถา

 

เสาขาตู้
      โดยเฉพาะตู้ขาหมูนิยมตกแต่งด้วยลายกรวยเชิง ลายกาบพรหม-สิงห์ ลายครุฑจับนาค และที่เขียนเป็นภาพยักษ์แบก ลิงแบก และท้าวเวสสุวัณยืนถือตระบองก็มี ส่วนตู้เท้าสิงห์นั้นนอกจากจะจำหลักขาตู้เป็นรูปเท้าสิงห์ซึ่งมีเล็บสิงห์เรียวแหลมแล้วยังนิยมทำเท้าสิงห์นั้นเหยียบอยู่บนลูกแก้วด้วยและบางตู้ยังตกแต่งเพิ่มเติมด้วยลายต่าง ๆ เช่น ลายก้านขด และที่เขียนเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคก็มี

 

ลายจำหลักประดับกระจกที่ตกแต่งส่วนต่างๆ ของตู้ฐานสิงห์
ลายจำหลักประดับกระจกที่ตกแต่งส่วนต่างๆ ของตู้ฐานสิงห์

 

      สำหรับตู้ฐานสิงห์นั้นส่วนใหญ่จะทำเป็นฐานจำหลักประดับกระจกส่วนที่เป็นลายหน้ากระดานมักทำเป็นลายประจำยามลูกฟักก้ามปูเรียงลำดับชั้นฐานด้วยลายบัวหลังสิงห์ ปากสิงห์ และเท้าสิงห์ ลายทั้งหมดประดับด้วยกระจกสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว และสีน้ำเงิน โดยส่วนใดที่ไม่ประดับกระจกสีก็จะลงรักปิดทองทึบ องค์ประกอบของลายจำหลักประดับกระจกแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันชาญฉลาดของช่างไทยโบราณที่ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของตู้ ให้มีความผสมผสานกันระหว่างกระจกสีและลายทองซึ่งดูกลมกลืนงดงามได้สัดส่วนอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ขาตู้อีกประเภทหนึ่งคือ ตู้เท้าคู้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมตกแต่งลวดลายมักลงรักทึบเพียงอย่างเดียว

๒. การตกแต่งด้วยภาพเคล้ากระหนก

      ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ช่างนิยมตกแต่งตู้พระธรรมด้วยลายกระหนกซึ่งส่วนมากทำเป็นเถากระหนกโดยเริ่มต้นโคนเถาจากขอบล่างของตู้และพุ่งยอดเถาขึ้นสู่ขอบบนเปรียบเสมือนพันธุ์ไม้เลื้อย ถ้าลักษณะไม้มียอดอ่อนสะบัดพลิ้วแบบเปลวเพลิงต้องลมจะเรียกว่า ลายกระหนกเปลวเครือเถา ถ้าลวดลายนั้นมีลักษณะเหมือนทรงของใบฝ้ายเทศเรียกว่า ลายกระหนกใบเทศ หรือถ้าเหมือนรวงข้าวเรียกว่า ลายกระหนกรวงข้าว หากในระหว่างเถากระนกเขียนภาพสัตว์จำพวกลิง กระรอก และนก ที่เกาะหรือไต่ตามกิ่งก้านของลายกระหนกซึ่งสะท้อนภาพความเป็นไปตามธรรมชาติ ของไม้เถาไม้เลื้อยเรียกตามศัพท์ช่างว่า ลายกระหนกเครือเถาเคล้าภาพสัตว์
      นอกจากนี้ยังมีภาพเคล้ากระหนกที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของช่างไทยในการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติอีกหลายลักษณะ  โดยภาพเหล่านั้นช่างจะเขียนคละไปกับลวดลายถ้าเป็นภาพสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จะแสดงด้วยตัวภาพหรือรูปร่าง แต่หากเป็นภาพคนจะประกอบด้วยเครื่องแต่งกายและกิริยาท่าทางอันเป็นแบบฉบับหรือเป็นไปตามจารีตประเพณีซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปเพราะเป็นเหมือนกิริยาท่าทางในการแสดงบทบาทและอารมณ์ของตัวละครในนาฏศิลป์ไทยที่เป็นแบบฉบับอิริยาบถดังกล่าวใช้แทนอาการเคลื่อนไหวที่ให้ความรู้สึกบ่งบอกอารมณ์ ประกอบกับองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งช่างสามารถเขียนให้เห็นสภาพป่าเขา บ้านเมือง พระราชวัง ชนชั้นสูง กษัตริย์ เทวดา ชนชั้นสามัญ ภิกษุ ลิง ยักษ์ สัตว์ป่า สัตว์หิมพานต์ ทำให้ผู้ดูสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า เป็นภาพอะไร ถ้าเป็นภาพเล่าเรื่องก็จะรู้ว่า เรื่องอะไร อยู่ในตอนใดของเรื่อง ภาพเคล้ากระหนกที่มักปรากฏอยู่ตามตู้พระธรรม ได้แก่ ภาพต่าง ๆ ดังนี้

๑. ภาพบุคคลเต็มเนื้อที่
         นิยมเขียนเป็นภาพเทพารักษ์ เทพทวารบาล หรือเซี่ยวกาง ยืนบนแท่นหรือนาคบัลลังก์โดยมีลายช่อกระหนกหรือช่อดอกไม้เป็นพื้นหลัง 

๒. ภาพจับ
        เป็นภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ในอิริยาบถต่าง ๆ กันด้วยท่าโลมและท่าต่อสู้โดยจับกันเป็นคู่และจับเป็นหมู่ ๓ ตน ๔ ตน หรือมากกว่านั้นก็มี เช่น ภาพพระรามกำลังรบกับทศกัณฐ์ หนุมานรบกับยักษ์หลายตนและหนุมานโลมนางสุวรรณมัจฉา

 

ภาพจับ
ภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ ในอิริยาบถท่าต่อสู้ เรียกว่า ภาพจับ

 

๓. ภาพเล่าเรื่อง

     ภาพเคล้ากระหนกที่เป็นภาพเล่าเรื่องที่ตู้พระธรรมช่างมักเขียนเรื่องเหมือนกับเรื่องที่ใช้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติ วรรณกรรมชาดก และรามเกียรติ์ การเขียนภาพเล่าเรื่องบนตู้พระธรรมมีทั้งแบบตัดทอนมาเขียนเรื่องเดียวทั้งตู้และแบบเขียนหลายเรื่องรวมอยู่ในตู้เดียวซึ่งตำแหน่งของภาพแยกสัดส่วนกันชัดเจนสามารถเข้าใจภาพได้ถูกต้อง
        ภาพในท้องเรื่องที่นำมาเขียนประดับตู้มักจะเลือกตอนที่สำคัญหรือตอนที่เห็นซ้ำ ๆ กันในภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ทุกตอนแล้วผูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างมีกฎเกณฑ์ในการแสดงออกของตัวภาพที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ภาพพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประธานของเรื่อง ช่างจะสร้างให้เป็นภาพที่ผสมผสานกันระหว่างลักษณะสมจริงกับพุทธลักษณะอันเป็นอุดมคติที่ระบุไว้ในคัมภีร์พุทธลักษณะกับเน้นให้เห็นพุทธบารมีโดยช่างจะสร้างภาพให้มีกรอบประภามณฑล รอบพระวรกายหรือรอบพระเศียร หรือมีรัศมีรูปเปลวเหนือพระเศียร ส่วนตัวภาพอื่น ๆ ช่างจะทำให้มีรูปร่างลักษณะอย่างอุดมคติกึ่งสมจริงโดยที่ไม่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวภาพทางใบหน้า แต่สื่อความหมายแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยกิริยาท่าทาง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

       ก. ภาพพุทธประวัติ ปางมหาภิเนษกรมณ์

      ช่างจะเขียนเป็นภาพพระราชฐานชั้นใน มีพระนางพิมพาบรรทมอยู่กับพระราหุลบนบรรจถรณ์และสาวสรรกำนัลในนอนอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ ตามพื้นพระราชฐาน ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะกำลังก้าวพระบาทออกไปทางพระทวารที่หน้าพระราชฐานมีภาพนายฉันนะยืนอยู่กับม้ากัณฐกะ เมื่อเห็นภาพนี้ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงลาพระนางพิมพากับพระราหุลแล้วกำลังเสด็จออกจากห้องบรรทมไปทรงม้ากัณฐกะซึ่งนายฉันนะเตรียมไว้รอรับเสด็จ บางทีช่างก็เขียนเป็นภาพตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่บนหลังม้ากัณฐกะมีนายฉันนะเกาะหางม้าตามเสด็จและมีเทวดาแห่ห้อมโดยเสด็จด้วย บางภาพเบื้องหน้าม้ามีพระยามารซึ่งเขียนเป็นรูปยักษ์ยืนขวางทางห้ามการเสด็จหรือบางภาพก็เขียนตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแสดงอิริยาบถในท่าตัดพระเกศามีนายฉันนะกับม้ากัณฐกะนอนฟุบอยู่ด้านข้างภาพพุทธประวัติปางนี้ บางตู้อาจเขียนตลอดทุกตอนบางตู้ก็เขียนเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น

 

ภาพพุทธประวัติ
ภาพพุทธประวัติ ซึ่งเขียนบนตู้พระธรรม

 

       ข. ทศชาติ
      เป็นคัมภีร์ชาดกว่าด้วยเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ รวม ๑๐ ชาติ โดยมีทั้งแบบที่เขียนทั้ง ๑๐ ชาติในตู้เดียว แบบที่คัดเลือกมาบางชาติและแบบที่เขียนเพียงชาติเดียวทั้งตู้ แต่ละเรื่องมักมีหลายตอนที่นำมาเขียนเป็นภาพโดยอาจเขียนภาพต่อเนื่องกันไปตามความยาวของเนื้อเรื่อง แต่หากไม่ต้องการให้เปลืองเนื้อที่มากนักก็จะตัดเรื่องยกมาเขียนภาพเป็นตอนสั้น ๆ ดังตัวอย่างชาดกแต่ละเรื่อง ดังนี้

  • เตมิยชาดกแสดงเนกขัมบารมี ส่วนใหญ่จะเขียนภาพตอนพระเตมิยกุมารถูกทดสอบเพื่อให้ตกใจกลัวด้วยอาวุธและสัตว์ร้าย  โดยเขียนเป็นภาพพระเตมิยกุมารนั่งสมาธิบนพระแท่นมีทหารยกดาบทำท่าจะฟันหรือจับงูพุ่งเข้าใส่หรือตอนพระเตมิยกุมารทรงยกราชรถขึ้นแกว่งเหนือพระเศียรมีนายสารถีกำลังขุดหลุมอยู่ด้านข้าง
  • มหาชนกชาดกแสดงวิริยะบารมี นิยมเขียนภาพตอนเรือสำเภาอับปางในภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำอยู่อย่างไม่ลดละท่ามกลางปลาใหญ่และสัตว์ร้ายในทะเลมีนางเมขลาเทพธิดาแห่งทะเล เหาะลงมาพาพระองค์ขึ้นจากทะเลหรือภาพตอนพระมหาชนกบรรทมหลับอยู่ในอุทยานมีราชรถหยุดอยู่หน้าพระแท่น

 

ภาพมหาชนกชาดก
ภาพมหาชนกชาดก

 

  • สุวรรณสามชาดกแสดงเมตตาบารมี ตอนสำคัญของเรื่องที่เห็นกันบ่อย ๆ มักเป็นภาพสุวรรณสามแบกหม้อน้ำมีกวางและสัตว์ป่านานาชนิดอยู่ล้อมรอบ โดยมีกษัตริย์ปิลยักษ์เล็งศรมาที่สุวรรณสามหรือตอนที่สุวรรณสามถูกศรของกษัตริย์ปิลยักษ์ซวนเซจะล้มลงมีหม้อน้ำหกคว่ำอยู่ด้านหน้า บางทีก็ตัดมาเขียนเฉพาะตอนสามีภรรยาซึ่งตาบอดทั้งคู่นั่งฟุบสลบอยู่กับร่างสุวรรณสามที่ถูกศรมีกษัตริย์ปิลยักษ์แสดงอาการสลดพระทัยอยู่ด้านข้าง
  • เนมิราชชาดกแสดงอธิษฐานบารมี ภาพที่เห็นบ่อยเป็นตอนที่พระเนมิราชประทับอยู่บนราชรถมีมาตุลีเทพบุตรเป็นสารถีนำเสด็จชมเมืองนรกและเมืองสวรรค์
  • มโหสถชาดกแสดงปัญญาบารมี มีตอนสำคัญที่นิยมนำมาเขียนหลายตอน เช่น ตอนมโหสถกับนางปริพาชิกา ถามตอบกันด้วยหัตถปัญหา ช่างจะเขียนเป็นภาพนางปริพาชิกายกมือลูบหัวเป็นคำถามมโหสถว่าเหตุใดไม่บวช มโหสถยกมือลูบท้องเป็นคำตอบว่า มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือตอนมโหสถทำอุบายลักพาตัว พระราชมารดาพระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีไปซ่อนในอุโมงค์ หรือตอนมโหสถยกพระขรรค์ขู่พระเจ้าจุลนี
  • ภูริทัตตชาดกแสดงศีลบารมี ภาพที่เห็นบ่อย ๆ คือ ภาพตอนพราหมณ์อาลัม - พายณ์จับนาคภูริทัตต์  ซึ่งลำตัวพันอยู่รอบจอมปลวกชูเศียรขึ้นเบื้องบน
  • จันทกุมารชาดกแสดงขันติบารมี ตอนที่ตัดมาเขียนภาพส่วนใหญ่จะเป็นตอนท้าวสักกะเสด็จลงมาทำลายพิธีบูชายัญในภาพประกอบด้วยพระเจ้าเอกราชประทับนั่งอยู่ในพลับพลามีกองเพลิงอยู่ในพานเบื้องพระพักตร์ ตอนบนมีภาพท้าวสักกะกำลังเหาะลงมาหักฉัตรทำลายพิธีบูชายัญและบางทีก็มีภาพฝูงชนกำลังชุลมุนวุ่นวายไล่ฆ่าพราหมณ์กัณฑหาลด้วย

 

ภาพจันทกุมารชาดก
ภาพจันทกุมารชาดก 
ตอนที่นิยมนำมาเขียนบนตู้พระธรรม

 

  • นารทชาดกแสดงอุเบกขาบารมี  ที่นิยมนำมาเขียนภาพเป็นตอนที่พระพรหมนารทหาบภาชนะทองคำเหาะลงมาเพื่อมอบให้เจ้าหญิงรุจาใช้บริจาคทาน
  • วิธุรชาดกแสดงสัจจบารมี ตอนสำคัญของเรื่องที่นิยมนำมาเขียนภาพ  มักเป็นตอนที่วิธุรบัณฑิตถูกปุณณกยักษ์แกล้งให้เกาะหางม้าเหาะมาในอากาศหรือตอนที่วิธุรบัณฑิตถูกปุณณกยักษ์จับโยนลงไปที่หน้าผา
  • เวสสันดรชาดกแสดงทานบารมี ชาดกเรื่องสุดท้ายนี้เรียกว่า มหาชาติหรือชาติใหญ่เป็นเรื่องที่นิยมนำมาเขียนภาพมากกว่าชาดกเรื่องอื่น ๆ เนื้อเรื่องมีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ช่างนิยมตัดเรื่องยกมาเขียนเป็นตอน ๆ  เช่น ตอนทานกัณฑ์ เขียนเป็นภาพพระเวสสันดรทรงหลั่งน้ำลงบนมือพราหมณ์แสดงการพระราชทานช้างเผือกแก่พราหมณ์ ตอนกัณฑ์ชูชก เขียนเป็นภาพพระเวสสันดรยืนอยู่ริมสระน้ำซึ่งมีสองกุมารซ่อนตัวอยู่ใต้ใบบัวในสระนั้น บางทีก็เป็นภาพพระเวสสันดรประทับนั่งในบรรณศาลามีสองกุมารอยู่บนพระเพลากำลังหลั่งน้ำลงในมือชูชกแสดงว่ายกสองกุมารให้แก่ชูชก หรือภาพพระนางมัทรีกำลังเก็บผลไม้ใส่ตะกร้ามีราชสีห์กับเสือนอนขวางทางเสด็จ

       ค. ภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์
      นิยมจับเรื่องตอนยกทัพ เขียนเป็นภาพกองทัพฝ่ายเมืองหรือฝ่ายยักษ์มีทศกัณฐ์หรือยักษ์กษัตริย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์ ๑ - ๒ ตัว แวดล้อมด้วยหมู่พลยักษ์มีท่าทางเหี้ยมหาญทะยานศึกเขม้นหมายเข่นฆ่าศัตรู อีกฝ่ายหนึ่งหันหน้าเข้าหากันเป็นกองทัพฝ่ายพลับพลาหรือฝ่ายพระราม มีพระรามทรงราชรถเทียมม้า ๑ - ๒ ตัว พระลักษมณ์ประทับอยู่หน้าราชรถ ซึ่งแวดล้อมด้วยขุนกระบี่และหมู่พลลิงในท่าทางเขม้นหมายประหารศัตรูเช่นเดียวกันและช่างมักเขียนภาพแสดงความซุกซนของลิงแฝงไว้ด้วย ในกลุ่มภาพเล่าเรื่องช่างเขียนมักสอดแทรกภาพกากหรือภาพแสดงให้เห็นความเป็นอยู่อย่างธรรมดาสามัญของคน ภาพสัตว์ทั่ว ๆ ไป และสัตว์หิมพานต์ เช่น ภาพคนขณะทำงานกำลังเล่นหัวหยอกล้อเกี้ยวพาราสีกัน ภาพคนและสัตว์ส่วนปลีกย่อยเหล่านี้ เป็นการแสดงออกอย่างอิสระของช่างซึ่งมักจะเขียนภาพด้วยอารมณ์สนุกเปิดเผยเป็นไปตามสภาพแท้จริง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow