Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
5,496 Views

  Favorite

ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก

       นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปเป็นทฤษฎีอธิบายสาเหตุการเกิดของแผ่นดินไหว  ในปัจจุบันทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (Plate Tectonics Theory) ได้รับการยอมรับมากที่สุดทฤษฎีนี้พัฒนามาจากทฤษฎีว่าด้วยทวีปเลื่อน (Theory of Continental Drift) ของอัลเฟรด โลทาร์ เวเกเนอร์ (Alfred Lothar Wegener พ.ศ. ๒๔๒๓ - ๒๔๗๓ นักวิทยาศาสตร์ ชาวเยอรมัน) ซึ่งเสนอไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ต่อมา แฮร์รี แฮมมอนด์ เฮสส์ (Harry Hammond Hess พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๕๑๒ นักธรณีวิทยา ชาวอเมริกัน) ได้เสนอแนวคิดที่พัฒนาใหม่นี้ในทศวรรษ ๒๕๐๐ 

       ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ได้อธิบายว่าปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้ เมื่อโลกแยกตัวจากดวงอาทิตย์มีสภาพเป็นกลุ่มก๊าซร้อนต่อมาเย็นตัวลงเป็นของเหลวร้อน แต่เนื่องจากบริเวณผิวเย็นตัวลงได้เร็วกว่าจึงแข็งตัวก่อนส่วนกลางของโลกยังคงประกอบด้วยของธาตุหนักหลอมเหลวในทางธรณีวิทยาได้แบ่งโครงสร้างของโลกออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ เรียกว่า เปลือกโลก (crust) เนื้อโลก (mantle) และแก่นโลก (core) เปลือกโลกเป็นส่วนที่เป็นของแข็งและเปราะห่อหุ้มอยู่ชั้นนอกสุดของโลกจนถึงระดับความลึกประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรณีภาคชั้นนอกหรือลิโทสเฟียร์ (Lithosphere)  ใต้ชั้นนี้ลงไปเป็นส่วนบนสุดของชั้นเนื้อโลก เรียกว่า ฐานธรณีภาคหรือแอสเทโนสเฟียร์ (asthenosphere) มีลักษณะเป็นหินละลายหลอมเหลวที่เรียกว่า หินหนืด (magma) มีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นได้อยู่ลึกจากผิวโลกลงไป ๑๐๐ - ๓๕๐ กิโลเมตร ใต้จากฐานธรณีภาคลงไปยังคงเป็นส่วนที่เป็นเนื้อโลกอยู่ จนกระทั่งถึงระดับความลึกประมาณ ๒,๙๐๐ กิโลเมตรจากผิวโลก จึงเปลี่ยนเป็นชั้นแก่นโลกซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชั้นย่อย คือ แก่นโลกชั้นนอกและแก่นโลกชั้นใน โดยแก่นโลกชั้นในนั้นจะอยู่ลึกสุดจนถึงจุดศูนย์กลางของโลกที่ระดับความลึก ๖,๓๗๐ กิโลเมตร จากผิวโลก 

 

ภาพจำลองแผ่นเปลือกโลก
ภาพจำลองแผ่นเปลือกโลก ที่รองรับมหาสมุทร มุดลง ไปใต้แผ่นเปลือกโลกที่รองรับทวีป



      การเกิดแผ่นดินไหวนั้นส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะที่ชั้นของเปลือกโลกโดยที่เปลือกโลกไม่ได้เป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากว่าเมื่อของเหลวที่ร้อนจัดปะทะชั้นแผ่นเปลือกโลกก็จะดันตัวออกมา แนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกจึงเป็นแนวที่เปราะบางและเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดมาก จากการบันทึกประวัติปรากฏการณ์แผ่นดินไหวทำให้สามารถประมาณการแบ่งของแผ่นเปลือกโลกได้เป็น ๑๕ แผ่น คือ

- แผ่นยูเรเชีย (Eurasian Plate)
- แผ่นแปซิฟิก (Pacific Plate)
- แผ่นออสเตรเลีย (Australian Plate)
- แผ่นฟิลิปปินส์ (Philippines Plate)
- แผ่นอเมริกาเหนือ (North American Plate)
- แผ่นอเมริกาใต้ (South American Plate)
- แผ่นสโกเชีย (Scotia Plate)
- แผ่นแอฟริกา (African Plate)
- แผ่นแอนตาร์กติก (Antarctic Plate)
- แผ่นนัซกา (Nazca Plate)
- แผ่นโคโคส (Cocos Plate)
- แผ่นแคริบเบียน (Caribbean Plate)
- แผ่นอินเดีย (Indian Plate)
- แผ่นฮวนเดฟูกา (Juan de Fuca Plate)
- แผ่นอาหรับ (Arabian Plate)

      แผ่นเปลือกโลกที่กล่าวมาแล้วไม่ได้อยู่นิ่งแต่มีการเคลื่อนที่คล้ายการเคลื่อนย้ายวัตถุบนสายพานลำเลียงสิ่งของ จากผลการสำรวจท้องมหาสมุทรในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ พบว่า มีแนวสันเขากลางมหาสมุทรรอบโลก (Global Mid Ocean Ridge) ซึ่งมีความยาวกว่า ๕๐,๐๐๐ กิโลเมตร กว้างกว่า ๘๐๐ กิโลเมตร จากการศึกษาทางด้านธรณีวิทยา พบว่าหินบริเวณสันเขาเป็นหินใหม่มีอายุน้อยกว่าหินที่อยู่ในแนวถัดออกมาจึงได้มีการตั้งทฤษฎีว่า แนวสันเขากลางมหาสมุทรนี้คือรอยแตกกึ่งกลางมหาสมุทรรอยแตกนี้เป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลกซึ่งถูกแรงดันจากหินหนืดภายในเปลือกโลกดันออกจากกันทีละน้อยรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกที่กล่าวมาแล้วทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกต่าง ๆ
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow