Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ข้อควรระวังในการใช้ยาปราบศัตรูพืช

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
4,861 Views

  Favorite

ข้อควรระวังในการใช้ยาปราบศัตรูพืช

๑. อันตรายของยาปราบศัตรูพืช

ยาปราบศัตรูพืชทุกชนิด (ยาฆ่าแมลง ยาป้องกันโรคพืชยาปราบวัชพืช) มีอันตรายสามารถเข้าร่างกายได้ทางปาก ผิวหนัง และโดยการหายใจ การเป็นพิษฉับพลันเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาจำนวนมากๆ เพียงครั้งเดียว ส่วนพิษสะสมเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ได้รับยาปราบศัตรูพืช จำนวนเล็กๆ น้อยๆ เป็นเวลานาน

๒. อาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษยา และข้อควรปฏิบัติ

๑. อาการทั่วไป หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ คลื่นเหียน กระวนกระวาย ท้องร่วง รายที่เป็นมากจะมีอาการชัก ให้ผู้ป่วยนอนอย่างสงบ ให้ความอบอุ่น นำผู้ป่วยนอนในร่มให้อยู่ห่างจากแปลงพ่นยา ถอดเสื้อผ้าชุดพ่นยาออก และทำความสะอาดร่างกาย ส่วนที่ถูกยาด้วยสบู่หรือน้ำสะอาด

๒. รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

๓. ถ้าหากหัวใจเต้นอ่อน หรือหยุดเต้น จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจให้ทำงาน ทำการผายปอด หรือเป่าลมเข้าปาก

๔. ถ้าหากได้รับพิษยาทางปาก ทำให้อาเจียนด้วยน้ำเกลือ (เกลือ ๑ ช้อนโต๊ะต่อน้ำ ๑ แก้ว) หรือล้วงคอด้วยนิ้วมือที่สะอาด

๕. ถ้าหากยาเข้าตา ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย ๑๕ นาที

๖. บอกชื่อของสารออกฤทธิ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับยาปราบศัตรูพืชแก่แพทย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรือถ้ายากที่จะจำก็ควรนำสลากยาติดตัวไปด้วยเมื่อไปหาแพทย์

๗. อาโทรปินซัลเฟต เป็นยาช่วยแก้พิษของยาประเภทสารประกอบฟอสเฟตและคาบาเมต ส่วนฟิโนบาร์มิตอล แคลเซียมกลูโคเนต และอีฟีเนฟฟรีน เป็นยาแก้พิษจากสารพวกคลอริเนตเตด ไฮโดรคาร์บอน

๘. ในกรณีของยาประเภทสารประกอบคลอรีนอย่าใช้มอร์ฟีน หรือธีโอฟิลลีน

๓. ข้อควรระวังในการผสมยาและการใช้ยาปราบศัตรูพืช 

๑. สวมเสื้อผ้าเพื่อป้องกันพิษยา ในกรณีที่ใช้ยาแฟนไนโตรไทออน ขณะผสมยาควรใช้ถุงมือ และเสื้อผ้าป้องกันพิษยา

๒. อย่าให้เด็ก และผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาใกล้ขณะผสมยา

๓. ตรวจดูคำแนะนำบนฉลากยาอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเราใช้ยาถูกต้องตามคำแนะนำ

๔. ระวังอย่าให้ยาถูกผิวหนัง โดยเฉพาะตาและปากขณะเทน้ำยา หรือยาผง ระวังอย่าให้กระเด็นไปถูกหน้า หรือปลิวเข้าหน้า ถ้าหากถูกผิวหนังรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที และถ้ายาเข้าตาต้องล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย ๑๕ นาที 

๕. ควรสวมหน้ากาก หรือใช้ผ้าขาวม้าสะอาดคาดจมูกหรือปาก ขณะเดียวกันควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ (ขณะทำการพ่นยา)

๖. อย่ารับประทาน ดื่มน้ำ สูบบุหรี่ ในขณะผสมยา หรือกำลังพ่นยา

๗. ผสมยาให้ถูกต้องตามอัตราส่วน เพราะถ้ามากเกินไปจะเป็นอันตรายทั้งพืชและผู้ฉีดเอง

๘. หลีกเลี่ยงการหายใจเอาพิษยาเข้าไป ควรอยู่เหนือลมเมื่อทำการพ่นยา

๙. อย่าเป่าหรือดูดหัวฉีด หรือท่อลมที่อุดตันด้วยปาก

๑๐. ระมัดระวังการปลิวของน้ำยา อย่าพ่นยาถ้าหากลมมีความเร็วมาก (เกินกว่า ๕ เมตรต่อวินาที หรือ ๑๘ กิโลเมตรต่อ ๑ ชั่วโมง)

๑๑. อย่าทิ้งยาที่เหลือไว้ในไร่ เด็กหรือสัตว์เลี้ยงอาจสัมผัสหรือได้รับอันตรายจากยาเหล่านี้ได้

๑๒. ผู้พ่นยาจะต้องมีช่วงเวลาสำหรับพักผ่อนให้เพียงพอ เวลาเหนื่อยมากๆ จะทำให้การผสมยา และพ่นยาผิดพลาดได้

 

วิธีการพ่นยาจากเครื่องบิน

 

๔. ข้อควรระวังภายหลังการพ่นยา 

๑. เทยาส่วนที่เหลือใช้เก็บเข้าที่ ถ้าทิ้งไว้กลางแดดนานๆ ยาจะสลายตัว ทำให้หมดประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช

๒. ควรเก็บวัตถุมีพิษไว้ในที่มิดชิด ควรจะเก็บไว้ในตู้หรือห้องที่สามารถใส่กุญแจได้ และควรจะห่างจากที่เก็บอาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง

๓. ทำลายถังบรรจุยาที่ไม่ใช้แล้ว ห้ามล้างทำความสะอาดเพื่อใช้บรรจุน้ำและอาหารอีกต่อไป

๔. ภาชนะที่บรรจุยาทำด้วยโลหะหรือแก้ว ควรจะล้างให้สะอาดทุบให้แตก แล้วฝังให้ลึกไม่น้อยกว่า ๑ เมตร ภาชนะที่เป็นพลาสติกควรเผา และอย่าให้ควันไฟรมตัวเรา

๕. อย่าทิ้งยาที่ผสมใช้แล้วไว้ในถังพ่นยา ตัวยาอาจจะกัดโลหะ หรือพลาสติกของถังพ่นยาได้ ตัวทำลายของยาอาจระเหย ส่วนที่เหลือจับตัวกัน ทำให้เหนียว ล้างออกยาก และอาจจะไปอุดตันที่กรองและหัวฉีด

๖. ถอดเสื้อผ้าที่ใช้ออกซัก หลังการพ่นยาเสร็จแต่ละครั้ง

๗. ทำความสะอาดร่างกาย โดยการถูสบู่หลายๆ ครั้ง และสวมเสื้อผ้าใหม่ที่สะอาด

๘. อย่าให้ผู้อื่นเข้าไปในแหล่งพ่นยา หลังการฉีดยาใหม่ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow