Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การป้องกันและกำจัดโรคพืช

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
7,824 Views

  Favorite

การป้องกันและกำจัดโรคพืช

สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

๑. การเลือกที่ปลูก

ควรคำนึงถึงความเหมาะสม ๒ ประการ คือ

๑.๑ ด้านเศรษฐกิจ ให้เลือกบริเวณปลูกใกล้ตลาดที่มีการขนส่งสะดวก และระยะใกล้ที่สุด เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษา และลดระยะเวลาเสี่ยงต่อความเสียหายที่พืชผลหลังเก็บเกี่ยว จะถูกทำลายด้วยโรคและแมลง เช่น โรคเน่าเละของพืชผัก โรคผลเน่าของไม้ผล เป็นต้น 

๑.๒ ด้านการเพาะปลูก เลือกบริเวณที่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะแก่พืชที่ปลูก เพื่อให้พืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะกล้า และต้นอ่อน ซึ่งเป็นระยะที่อ่อนแอต่อโรคต่างๆ เจริญเติบโตเร็ว เป็นการหลีกเลี่ยงการเป็นโรค เช่น โรคเน่าระดับคอดิน โรคราน้ำค้างข้าวโพด เป็นต้น 

เลือกปลูกพืชในบริเวณที่ไม่เคยมีโรคระบาดมาก่อน หรือไม่ควรปลูกพืชเดิมซ้ำแปลงเดิมที่เป็นโรค ควรเว้นระยะปลูกพืชนั้น ให้นานพอประมาณ เพื่อลดปริมาณเชื้อที่เคยระบาดวิธีนี้จะช่วยลดการเกิดโรคได้มาก โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อสาเหตุ ที่อาศัยอยู่ในดิน

๒. การเตรียมดินและการปรับปรุงดิน

๒.๑ การเตรียมดิน วัตถุประสงค์หลักของการเตรียมดิน โดยการขุด ไถพลิกดิน หรือพรวนด้วยเครื่องมือนานาชนิด เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วน มีการระบายหรืออุ้มน้ำดี และอุณหภูมิภายในดินเหมาะสมแก่การปลูกพืช ซึ่งนอกจากจะทำให้พืชเจริญเติบโตเร็ว หลีกเลี่ยงการเกิดโรคแล้ว การตากดินเป็นครั้งคราวประมาณครั้งละ ๑๐-๑๕ วัน ยังช่วยลดปริมาณเชื้อโรคในดิน และกำจัดวัชพืชต่างๆ โรคหลายชนิด เช่น โรคราน้ำค้าง โรคเขม่าดำ โรคตากลของถั่วเหลือง เชื้อสาเหตุจะยังเจริญอยู่ในเศษส่วนหนึ่งที่เน่าเปื่อยของพืชเป็นโรค หรือส่วนขยายพันธุ์ที่เรียกว่า สปอร์ ยังตกค้างอยู่ในดิน ซึ่งการไถพลิกดินตากแดดนี้ช่วยลดปริมาณเชื้อ และการเกิดโรคในฤดูปลูกต่อไปได้ ส่วนแปลงที่มีไส้เดือนฝอยรากแผลระบาด การไถพลิกดินตากแดดในฤดูร้อนจะช่วยฆ่าไส้เดือนฝอยรากแผล ซึ่งไม่ทนต่อความร้อนแห้ง และฆ่าตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยรากปม ส่วนไข่จะได้รับออกซิเจน และความอบอุ่น เร่งให้ฟักเป็นตัว และถูกความร้อนฆ่าต่อไป 

๒.๒ การปรับปรุงดิน ดินในบางท้องที่เป็นกรดมากเกินไป (เรียกว่า ดินเปรี้ยว) หรือเป็นด่างมากเกินไป ซึ่งเป็นส่วนส่งเสริม ให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญได้ดี หรือธาตุอาหารบางอย่างอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ไม่ได้ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการผิดปกติ และโรคระบาดเกิดขึ้น ฉะนั้นควรตรวจดูความเป็นกรดเป็นด่างของดินเป็นครั้งคราว ถ้าทำเองไม่ได้ ก็ควรส่งตัวอย่างดินหรือพืช มาวิเคราะห์ที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งก็จะได้คำตอบพร้อมทั้งคำแนะนำในการปรับปรุงดินที่เหมาะสมต่อไป สำหรับวิธีแก้ไขง่ายๆ เมื่อทราบว่าดินเป็นกรด คือการใส่ปูนขาวแล้วคลุกดินให้ดี ไม่ควรโรยที่ผิวหน้า เพราะเมื่อปูนขาวถูกน้ำ จะจับกันเป็นก้อนแข็ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการปลูกพืช การใส่ปูนขาวจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความเป็นกรดของดินที่จะปรับ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยอนินทรีย์ (ปุ๋ยวิทยาศาสตร์) มาช่วยในการปรับปรุงดิน ตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณีไป

๓. การเลือกพืชปลูกสลับหรือพืชหมุนเวียน

เป็นวิธีที่จะช่วยป้องกัน และลดความเสียหายจากการระบาดของโรคบางชนิดได้ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดิน การพิจารณาว่า จะใช้พืชอะไรมาปลูก และนานเท่าใดนั้น ควรมีหลักดังนี้

๓.๑ ความสามารถที่จะอยู่ในบริเวณแปลงเป็นโรคนานเท่าไร

๓.๒ ปริมาณเชื้อมีมากน้อยแค่ไหน และความสามารถในการแพร่ขยายพันธุ์

๓.๓ พยายามมาลดปริมาณของเชื้อให้น้อยลง โดยการปลูกพืชที่ทำลายเชื้อสาเหตุ เช่น ดาวเรือง ซึ่งขับสารทำลายไส้เดือนฝอย ทำให้ปริมาณไส้เดือนฝอยลดลง

๓.๔ ต้องระวังพืชบางชนิดที่เชื้อเข้าเจริญขยายพันธุ์ได้ดี แต่พืชไม่แสดงอาการโรคให้เห็นเด่นชัด เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ เมื่อปลูกพืชเศรษฐกิจก็อาจจะถูกเชื้อเข้าทำลายเสียหายรุนแรง

จากหลักดังกล่าว พืชที่นำมาปลูกสลับ หรือหมุนเวียนนั้น ส่วนใหญ่ไม่ควรใช้พืชพวกเดียวกัน เช่น ปลูกพริกแล้วเป็นโรคเหี่ยว ก็ควรใช้ข้าวโพด ถั่ว หรือ ผัก มาปลูกสลับ ๑-๒ ปี แล้วจึงหันมาปลูกพริกใหม่ พวกไส้เดือนฝอย รากแผลซึ่งเข้าทำลายข้าวโพด แต่ไม่ทำลายฝ้ายกับถั่วลิสง ดังนั้นเมื่อปลูกฝ้าย และถั่วลิสงหลังข้าวโพด จะให้ผลผลิตของพืชทั้งสอง และจำนวนไส้เดือนฝอยจะลดลง เมื่อถึงเวลาปลูกข้าวโพดใหม่ข้าวโพดจะไม่เสียหาย เนื่องจากไส้เดือนฝอยชนิดนี้ ในทางตรงข้าม ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดความเสียหายจากไส้เดือนฝอยรากปม ไม่ค่อยได้ผล เพราะไส้เดือนฝอยรากปมมีพืชอาศัย (กว่า ๒,๕๐๐ ชนิด) นอกจากจะปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วโครตาลาเลีย ซึ่งมีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอยรากปม และต้องใช้วิธีอื่น ในการป้องกัน และกำจัดไส้เดือนฝอยรากปม เป็นต้น

๔. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ และส่วนขยายพันธุ์ที่ปราศจากโรค เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องมีการคัดเลือก เพื่อนำมาปลูก เพราะจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงควรคัดเลือกจากต้นพืชปกติ หรือซื้อหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

 

การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี นำไปเพาะปลูก

 

กรณีที่กสิกรผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์เองควรจะมีการวางแผน เช่น เลือกบริเวณปลูกส่วนใดส่วนหนึ่งที่เหมาะสม มีการดูแลทั่วถึง เพื่อปลูกพืช ส่วนที่จะใช้ขยายพันธุ์ต่อไป หรือกสิกรควรมีการคัดเลือกพืชต้นที่แข็งแรง ไม่แสดงอาการเป็นโรคต่างๆ มีการดูแลรักษาพิเศษ พร้อมทั้งศึกษาวิธีการเก็บส่วนขยายพันธุ์ที่ถูกต้อง และมีคุณภาพดี ควรทราบว่า มีโรคหลายชนิดที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ กิ่งตอน หรือท่อนพันธุ์ เช่น โรคใบขาวของอ้อย โรคราน้ำค้างข้าวโพด วิธีการเก็บเมล็ดข้าวโพด คือ ต้องตากเมล็ดให้แห้ง พบว่าเมล็ดที่มีความชื้นน้อยกว่า ๙ เปอร์เซ็นต์ จะไม่ถ่ายทอดโรคราน้ำค้างนี้

 

การคัดเลือกพืชที่ปราศจากโรค นำมาขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

 

กรณีที่กสิกรจำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งอื่น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียง ควรสืบประวัติที่มา ของส่วนขยายพันธุ์นั้นๆ ว่า มาจากแหล่งที่มีโรคระบาดหรือไม่ และควรซื้อจากผู้จำหน่ายที่เชื่อถือได้ ถ้าไม่แน่ใจว่า พืชมีโรคติดมาหรือไม่ ควรมีการป้องกันการเกิดโรคที่ติดมากับส่วนขยายพันธุ์ โดยวิธีที่เหมาะสม เช่น ใช้ยาคลุกเมล็ด หรือแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน หรือสารเคมีบางชนิด ตัวอย่างเช่น โรคแอนแทรคโนสของพริก ถ้าจำเป็นต้องเก็บเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรค ให้แช่เมล็ดในน้ำร้อนอุณหภูมิ ๕๐-๕๒ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที หรือคลุกยาเดลเซน เอ็มเอ็กซ์ (Delsene MX) ก่อนนำไปปลูกจะช่วยลดการเกิดโรคได้ ส่วนท่อนพันธุ์อ้อย ซึ่งต้องเก็บจากแปลงที่เป็นโรคใบขาว ควรแช่ในสารละลายเตตราไซคลิน (Tetracycline HCI) เข้มข้น ๕๐๐ ppm. ทำให้ร้อน ๔๕-๕๕ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที สามารถทำให้อ้อยไม่เป็นโรคจนเป็นอ้อยตอปีที่ ๑

 

 

 

การคัดเลือกพืชที่ปราศจากโรค นำมาขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ


กรณีที่กสิกรสั่งพันธุ์จากต่างประเทศ ควรมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่า ปราศจากโรค ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการนำเชื้อโรค ซึ่งเดิมอาจไม่เคยมีในประเทศไทยเข้ามาแพร่ระบาด และอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงได้ ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศมาแล้ว สำหรับประเทศไทยสันนิษฐานว่า โรคใบไหม้ของข้าว ที่เคยทำความเสียหายให้กับข้าว ได้รับมาจากประเทศญี่ปุ่น หรือโรคราน้ำค้างข้าวโพด พบรายงานครั้งแรกในปี ๒๕๑๑-๑๒ อาจติดเข้ากับเมล็ดพันธุ์ ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ปัจจุบันระบาดทำความเสียหายมาก และยังไม่มีวิธีที่เหมาะสม ที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดโรคได้ เพราะฉะนั้น การสั่งพันธุ์จากต่างประเทศ จึงควรระมัดระวังการนำเชื้อโรคข้ามประเทศมาระบาด ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขั้นรุนแรงได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

๕. การเลือกเวลาปลูก

โรคบางอย่างอาจหลีกเลี่ยง หรือหนีโรคได้ ถ้าเราเลือกเวลาปลูกให้ดี เช่น ถ้าพืชนั้นเกิดโรครุนแรงในฤดูฝน ก็ควรเลี่ยงมาปลูกต้น หรือปลายฤดูฝน ถ้าเกิดโรคมากในฤดูหนาวมีควรเลี่ยงมากปลูกต้นหรือปลายฤดูแทน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โรคราน้ำค้างของข้าวโพดเริ่มระบาดในช่วงต้นฝน คือ ประมาณเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม และข้าวโพด จะเป็นโรครุนแรงในช่วงอายุน้อยกว่า ๑ เดือน จึงควรทำการปลูกข้าวโพดก่อนกำหนดเวลาปลูก โดยทั่วไปประมาณ ๑ เดือน จะช่วยให้ข้าวโพดเจริญเติบโต และแข็งแรงพอที่จะต้านทานโรคได้ และทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยลง

๖. การใช้สารเคมี

ปัจจุบันสารเคมี เช่น ยาป้องกัน และกำจัดรา ยังมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ช่วยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก การใช้สารเคมีเหล่านี้จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ทราบเสียก่อนว่า มียาอะไรบ้างที่ฉีดแล้วได้ผล ควรจะฉีดระยะเวลาใด และควรฉีดบ่อยครั้งแค่ไหน กสิกรไม่ควรไปขอซื้อยาตามตลาด ซึ่งทั้งผู้ซื้อและขายก็ไม่ทราบว่า จะเอาไปฉีดป้องกันโรคอะไร ใช้แล้วให้ผลอย่างไร ซึ่งเป็นการเสี่ยงมาก ที่กล่าวว่า เป็นการเสี่ยงมาก เพราะถ้าใช้ยาผิดทำให้ยาไม่ได้ผล เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว บางครั้งยังทำให้เชื้อโรคสาเหตุเพิ่มความรุนแรงของโรคมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการจะพิจารณาใช้ยาอะไร ควรคิด และสอบถามผู้รู้ หรือหน่วยงานราชการทางการเกษตรให้รอบคอบเสียก่อนจึงตัดสินใจใช้

สารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชนี้ สามารถแบ่งการใช้ประโยชน์ได้ ๓ ประเภท คือ

๖.๑ กำจัดศัตรูพืชให้หมดสิ้นไปมากที่สุด มักจะกระทำก่อนเริ่มปลูกพืช เช่น การอบดินฆ่าเชื้อ ซึ่งมีผลฆ่าทั้งศัตรูพืช เช่น ไส้เดือนฝอย เชื้อโรคในดิน วัชพืช และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจมีประโยชน์ด้วย หรืออาจกระทำให้ขณะที่ปลูกพืชแล้ว แต่ต้องมีการคัดเลือกชนิดของยาให้เหมาะสม และไม่เป็นอันตรายต่อพืช

๖.๒ การฉีดยาป้องกันศัตรูพืช การใช้ยาประเภทนี้จะมีการวางแผน และฉีดยาล่วงหน้าก่อนเกิดโรค โดยใช้หลักว่า ปลูกพืชอะไร พืชนั้นมีโรคอะไรบ้างเกิดโรคในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างไร จากนั้นจะมีการคัดเลือกชนิดยาที่เหมาะสม (ส่วนมากมักเป็นยาเคลือบคลุมส่วนต่างๆ ของพืช) ส่วนการวางตารางการฉีดยาว่า จะบ่อยครั้งแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น โรคราน้ำค้างขององุ่น มียาหลายชนิดที่ใช้ได้ผล และโดยทั่วไปนิยมฉีด ๓ ครั้ง คือ ก่อนดอกบาน หลังดอกบานและอีก ๒๑ วันหลังจากฉีดครั้งที่ ๒ อย่างไรก็ตามความบ่อยครั้งของการฉีด ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และสภาพของแต่ละท้องถิ่น ถ้ามีฝนตกชุก จะต้องมีการฉีดบ่อยครั้งขึ้น แต่ที่ต้องทำแน่นอนคือ ก่อนและหลังดอกบาน และควรคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับใบดอก ผลที่ติดใหม่ ซึ่งยาบอร์โอมิกซ์เจอร์มักทำให้เกิดอันตรายต่อองุ่น

การป้องกันที่เห็นได้ชัดและทำกันเสมอ คือ การใช้ยาคลุกเมล็ดหรือแช่ท่อนพันธุ์ ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย เช่น เมล็ดข้าวโพด คลุกยาเมทาแลกซีล (metalaxyl) ก่อนคลุก ใช้น้ำพรม แล้วคลุกเมล็ดให้เปียกพอประมาณ เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง เมล็ดพริก คลุกยา เดลเซน เอ็มเอ็กซ์ (Delsene MX) ป้องกันโรคแอนแทรคโนส ยาสูบ คลุกยาแคปแตน ๕๐ (Captan 50) ป้องกันโรคตากบ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา มะเขือเทศ คลุกยาแคปแตน ๗๕ เปอร์เซ็นต์ (captan 75%) เพื่อป้องกันโรคเหี่ยว ส่วนการแช่ท่อนพันธุ์ นิยมทำกันมากกับพืชบางชนิด เช่น อ้อย (ดูหัวข้อ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และส่วนขยายพันธุ์)

 

วิธีการเตรียมท่อนพันธุ์อ้อยก่อนปลูก เพื่อลดโรคใบขาว

 

การฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อทำลายแมลงนำเชื้อโรค

เป็นการฉีดยาที่จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน โรคพืชหลายชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือไมโคพลาสมามีแมลงพวกเพลี้ย จักจั่น เพลี้ยกระโดด แมลงหวี่ขาว เป็นตัวนำเชื้อโรค และถ่ายทอดไปยังต้นปกติใกล้เคียง หรือที่ที่แมลงบินไปถึง ฉะนั้น การฉีดยาฆ่าแมลงเป็นครั้งคราว จะช่วยงดการระบาดของโรคได้ตัวอย่างเช่น โรคใบสีส้มของข้าว มีเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นตัวนำโรค ใบหดของยาสูบมีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวนำโรค เป็นต้น
๖.๓ การฉีดยารักษาต้นพืชที่เป็นโรค พืชบางชนิดโดยเฉพาะพวกที่มีราคาแพง หรือหายาก เช่น กล้วยไม้ หรือไม้ยืนต้นบางประเภท ถ้าเป็นโรคจะเผาทิ้งทันที ก็เสียดาย จึงพยายามหาทางรักษา หรือพืชผลที่ปลูกในพื้นที่มากๆ เมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว จะต้องคัดเลือกหายา ที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม (ดูข้อ ๖) ฉีดกำจัดโรคนั้น เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด หรือลดความเสียหายลง แต่โดยหลักปฏิบัติ ในการป้องกันและกำจัดโรคนั้น จะต้องยึดถือหลักที่ว่า ควรทำการป้องกัน ไม่ให้พืชเป็นโรค มากกว่าการรักษา (ดู ๖.๒) เพราะการรักษาพืชให้หายดี เช่น พืชปกตินั้น ย่อมทำได้ยาก

 

การฉีดเททระไซคลินเข้าต้นลำไย เพื่อรักษาโรคพุ่มไม้กวาด

 

๗. การตัดแต่งส่วนเป็นโรคหรือทำลายต้นเป็นโรค

เมื่อพบโรคระยะเริ่มต้น เป็นเพียงเล็กน้อยที่กิ่งก้านหรือใบ ควรตัดส่วนที่แสดงอาการออกทิ้ง หรือขุดต้นที่เป็นโรคออกทำลายโดยการเผา หรือฝังลึกๆ ไม่ควรกองทิ้งไว้ในบริเวณแปลงปลูก เพราะเชื้อสาเหตุในชิ้นส่วนเป็นโรคเหล่านั้นยังไม่ตาย และจะแพร่ระบาดเข้าทำลายพืชปกติต่อไป ในบางกรณีจำเป็นต้องขุดต้นออกทิ้ง เนื่องจากเชื้อเข้าทำลายจนทำให้ต้นทรุดโทรม รักษาให้หายได้ยาก เช่น โรครากเน่าของทุเรียน โรครากเน่าของส้ม เป็นต้น

ข้อควรระวัง 

๑. ในการตัดแต่งกิ่งก้าน หรือแต่งทรงพุ่มของไม้ผล การตัดไม้ดอกเพื่อจำหน่าย เช่น ดอกกล้วยไม้ ดอกหน้าวัว หรือแม้กระทั่ง การตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคทำลายทิ้ง ควรทราบว่า มีโรคบางชนิดที่ติดไปกับมีด หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถถ่ายทอดโรคได้ง่ายโดยเชื้อในน้ำเลี้ยงพืชเป็นโรคติดไปกับมีด หรือเครื่องมือที่ใช้ เมื่อนำไปตัดต้นปกติ ก็จะทำให้ต้นปกติเกิดโรค และทำให้เกิดการแพร่ระบาด เช่น โรคไวรัสของกล้วยไม้ ซึ่งมีระบาดทั่วไปทุกแหล่ง เนื่องจาก การขยายพันธุ์โดยขาดความระมัดระวัง ดังนั้นจึงต้องมีการฆ่าเชื้อที่ติดมากับเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ด้วย

๒. แผลที่เกิดจากการตัดแต่งดังกล่าว จะต้องมีการทายากันราหรือฉีดยาบริเวณที่เป็นโรค ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายทางบาดแผล และเพื่อลดปริมาณ หรือฆ่าเชื้อในบริเวณที่พบโรค ซึ่งจะเป็นทางป้องกันการแพร่ระบาดโรคต่อไป

๘. การใช้พันธุ์ต้านทานโรคปลูก

พืชที่จะนำมาปลูก นอกจากจะมีการคัดพันธุ์ทางด้านการเจริญเติบโตให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดีแล้ว ยังจะต้องมีการคัดพันธุ์ หรือพยายามผสมพันธุ์ใหม่ให้ได้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรคมาปลูก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาต้นทุนการผลิตสูง คือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในด้านการดูแลรักษา และการใช้ยาฉีดป้องกันโรคหรือแมลง ปัจจุบันบ้านเราก็มีพืชพันธุ์ต้านทานโรค ที่ใช้ได้ผล และแพร่หลาย อยู่ในขณะนี้ เช่น ข้าวพันธุ์ ก.ข. ๑,๓,๕ ซึ่งต้านทานโรคใบสีส้ม ข้าวพันธุ์ ก.ข. ๗. ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ข้าวโพดพันธุ์ "สุวรรณ๑" ต้านทานโรคราน้ำค้าง เป็นต้น

ความต้านทานของพืชต่อโรคในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ชนิดของเชื้อ เช่น โรคใบไหมของข้าว จะมีพันธุ์ต้านทานแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น

ภาคเหนือ ใช้พันธุ์ เหนียวสันป่าตอง คอเหลือง ๖๘๗ คำผาย ๑๕ และ ดอกมะลิ ๓
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์ทางยี ๗๑ เหนียวสันป่าตอง คำผาย ๔๑ น้ำสะกุย ๑๙ ขาวดอกมะลิ และขาวปากหม้อ ๖๗
ภาคกลาง ใช้พันธุ์ นางมล เอส ๔ ขาวปากหม้อ
ภาคใต้ ใช้พันธุ์ เผือกน้ำ ๔๓ พวงไร่ ๒

งานทางด้านการคัดพันธุ์นี้จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา ดังได้กล่าวแล้วว่าเชื้อโรคส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตและพยายามปรับตัว หรือผสมข้ามพันธุ์ ทำให้ได้เชื้อใหม่ที่มีความสามารถในการเข้าทำลายพืชต้านทานของเรา ดังนั้น พืชต้านทานแต่ละพันธุ์จึงมักมีช่วงระยะจำกัด จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับความสามารถของเชื้อ พืชบางชนิดจะมีความต้านทานในระยะสั้นมาก เช่น ข้าวสาลี เพราะเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคราสนิมเหล็กในแต่ละท้องถิ่น มีหลายพันธุ์ และมักมีการผสมหรือปรับตัว เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่จะเข้าทำลาย และเกิดโรคกับพันธุ์ต้านทานได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ถ้าจะเลือกใช้แต่เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งมักจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปัจจุบันได้มีการเน้นถึงการใช้วิธีการต่างๆ ดังกล่าวร่วมเข้าด้วยกัน ในลักษณะผสมผสาน (integrated control) และพยายามลดการป้องกันและกำจัดโดยการใช้ยา ทั้งนี้ เพราะการใช้ยา ซึ่งเป็นสารเคมี ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีที่เห็นผลรวดเร็ว ในการควบคุมและกำจัดโรค แต่ก็เป็นวิธีที่ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค จึงสมควรนำมาใช้ เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ส่วนวิธีการแบบผสมผสานโดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การคัดพันธุ์ปลูก การเลือกเวลาปลูกให้เหมาะสม รวมทั้งการปลูกพืชสลับหมุนเวียนที่ถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาศัตรูพืชได้ผลดีพอควร ซึ่งจะต้องมีการศึกษา และปรับปรุงวิธีดังกล่าวนี้ ให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมในแต่ละกรณีต่อไป

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow