Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาการของโรคบนใบ

Posted By Plookpedia | 01 มี.ค. 60
11,770 Views

  Favorite

อาการของโรคบนใบ

โรคที่เกิดบนใบ แสดงอาการแตกต่างกันไปหลายแบบ อาการเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งขาดธาตุอาหาร หรือเกิดจากเชื้อไวรัส บัคเตรี และเชื้อราเข้าทำลาย อาการบนใบที่มักพบเสมอ ได้แก่

 

อาการใบจุดของพริก เกิดจากเชื้อรา

 

อาการใบจุด 

จะพบแผลแห้งเป็นจุดกระจายบนใบแผลมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยอาจจะเกิดเป็นแผลกลม หรือแผลเหลี่ยม ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีจำนวนแผลมาก และลามติดต่อกันและทำให้ใบแห้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา และบัคเตรี

อาการใบไหม้ แผลแห้งมีขนาดใหญ่ อาจจะแห้งบริเวณเนื้อในหรือจากขอบใบก็ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคใบจุดแล้ว แผลที่เกิดจากอาการใบไหม้จะมีขนาดแผลที่ใหญ่กว่า และเป็นบริเวณกว้างกว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา เชื้อบัคเตรี และอาจเกิดจากการให้ปุ๋ย หรือการฉีดสารเคมี เช่น ยาปราบวัชพืช ยากันรา มากเกินไปในเวลาที่มีอากาศร้อนจัด

 

 

อาการใบไหม้ของทุเรียน เกิดจากเชื้อรา

 

อาการใบเปลี่ยนสี มีหลายแบบ เช่น 

ใบด่าง อาการใบด่างมีหลายลักษณะ เช่น ด่างเขียวเข้มสลับเขียวอ่อน ด่างเขียวสลับเหลือง ด่างโดยเกิดวงเหลือง หรือวงสีเขียวบนใบ อาการใบด่างอาจเกิดจากเชื้อไวรัส การขาดธาตุอาหาร แมลงดูดกิน หรือ เกิดจากลักษณะกลายพันธุ์ของพืช โดยเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือร่วมกัน แต่โดยทั่วไปมักเกิดจากเชื้อไวรัส

 

อาการด่างเป็นทางเขียวสลับเหลืองของกล้วยไม้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางกรรมพันธุ์


ใบขาวหรือเหลือง เนื้อใบสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด หรือเขียวอ่อนถึงสีขาว โดยมักจะเปลี่ยนสีทั้งใบ สาเหตุเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา และขาดธาตุอาหารบางประเภท

 

อาการด่าง หงิก และหด ของใบถั่วฝักยาว

 

อาการแคงเคอร์ของมะเขือเทศ เนื่องจากเชื้อบัคเตรี

 

อาการใบหงิกและใบหด 

เนื้อใบไม่แผ่เรียบ มักจะหงิกงอเป็นคลื่น ขอบใบมักจะม้วนขึ้น หรือม้วนลง พืชมีการเจริญไม่ปกติ มักแคระแกร็น มีขนาดเล็กลงเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับต้นปกติ สาเหตุมักเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแมลงดูดกิน ถ้าเป็นการดูดกินของแมลง มักสังเกตเห็นตัวแมลง และรอยแผลเล็กๆ บนพืชนั้นๆ

อาการแคงเคอร์ 

บางทีเรียกว่า แผลสะเก็ด โดยเกิดเป็นแผลตุ่มนูนสีน้ำตาลทั้งด้านบน และด้านล่างของใบ พบได้ทั้งบนผลและกิ่ง มักเกิดกับพืชตระกูลส้ม สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อบัคเตรี

อาการสแคป 

หรือ แผลสะเก็ด คล้ายแคงเคอร์มากแต่มักเกิดเฉพาะบนใบเท่านั้น ส่วนอาการบนผลและกิ่ง เหมือนโรคแคงเคอร์ สาเหตุเกิดจากเชื้อราและเชื้อบัคเตรี

 

อาการสแคปของส้ม เนื่องจากเชื้อรา

 

 

อาการสนิมเหล็กของใบถั่ว เนื่องจากเชื้อรา

 

อาการสนิมเหล็ก 

เกิดแผลเป็นตุ่มขุยสีสนิม พบได้ทั้งด้านบนใบ ด้านล่างของใบ รวมทั้งบริเวณก้าน และลำต้น พบเป็นมากกับพืชตระกูลหญ้า เมื่อเกิดอาการรุนแรงจะเห็นผงสนิมมาก และเมื่อเอานิ้วลูบจะมีละอองสีเหลืองส้มติดนิ้วให้เห็น สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

 

อาการราแป้งขาว 

จะเห็นเชื้อราซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีขาวขึ้นปกคลุมบนใบ คล้ายแป้งฝุ่น หรือผงชอล์กปกคลุมทั่วไป อาการเริ่มแรกมักเป็นหย่อมๆ แล้วขยายจนเต็มใบ ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ใบแห้งตาย อาการส่วนใหญ่มักเกิดกับใบอ่อน ยอดอ่อน และทำให้ส่วนต่างๆ เหล่านี้ ได้รับความเสียหายมากกว่าส่วนที่เจริญเต็มที่แล้ว สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

 

อาการราแป้งขาวของใบถั่ว เนื่องจากเชื้อรา

อาการราน้ำค้าง 

บนใบเกิดบริเวณเหลืองๆ เมื่อพลิกดูใบจะเห็นลักษณะแผลเด่นชัดกว่าด้านบน บางครั้งพบอาการเซลล์ตายบนรอยแผลใต้ใบ และถ้าอากาศเย็นชื้นจะเห็นผงขาวๆ ซึ่งเป็นส่วนของเชื้อราสาเหตุได้ชัดเจน อาการของโรคนี้จะต่างกันไปในแต่ละพืช เช่น แตง คะน้า ข้าวโพด ถ้าเป็นกับข้าวโพดจะแสดงอาการด่างเป็นปื้นเหลืองสลับเขียว และมักผิดปกติ

 

อาการราแป้งขาวของใบถั่ว เนื่องจากเชื้อรา

อาการราดำ

ใบจะมีผงคล้ายเขม่าดำปกคลุมผิวใบหรือตามส่วนต่างๆ ของพืช เมื่อใช้มือลูบ ผงดำนี้จะหลุดออก อาการราดำนี้มักพบพร้อมๆ กับแมลงจำพวกเพลี้ย เพราะเชื้อราชนิดนี้ชอบน้ำหวานจากเพลี้ยที่ขับออกมา

 

อาการราดำของละมุด เกิดจากเชื้อรา

 

อาการแอนแทรคโนส 

เกิดแผลแห้งตายสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นวงๆ คล้ายวงแหวน เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ อาจเกิดบริเวณเนื้อใบ หรือจากปลายใบเข้ามา ถ้าเป็นรุนแรงใบจะแห้งตายในที่สุด เกิดกับส่วนใบ กิ่ง และผล สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

 

อาการแอนแทรกโนส ของกล้วยไม้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow