Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

Posted By Plookpedia | 04 เม.ย. 60
4,955 Views

  Favorite

ประวัติการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

มนุษย์รู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ปีแล้ว จีนเป็นชาติแรกที่นำเส้นใยไหมมาทอเป็นอาภรณ์เครื่องนุ่งห่ม และเป็นผู้ผูกขาดทำสินค้าผ้าไหมส่งไปขายต่างประเทศเป็นเวลานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี ความลับเรื่องไหมจึงได้แพร่ไปถึงประเทศญี่ปุ่น ประมาณ พ.ศ. ๗๓๘ และที่ยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ประมาณ พ.ศ. ๑๘๑๘ ในอินเดียไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้รับความรู้นี้ไปจากจีน หรือคิดค้นขึ้นเอง แต่เชื่อว่า อินเดียมีการเลี้ยงไหมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือ ไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปี เพราะมีบันทึกในพุทธบัญญัติไว้ว่า ห้ามสาวกของพระพุทธเจ้า บิณฑบาตผ้าที่ใช้ทำที่รองนั่ง (สันถัต) ที่ทำจากไหม

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยและอบรมไหมนครราชสีมา

 

สำหรับวิชาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเมืองไทยสันนิษฐานว่า ได้รับมาจากจีน ในสมัยโบราณที่ไทยเสียดินแดนให้แก่จีน ก็อพยพถอยร่นลงมายังตอนใต้ของแหลมอินโดจีน ซึ่งคนไทยที่อพยพสมัยนั้นคงจะนำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไหมติดตัวมาด้วย และได้เลี้ยงไหมสืบต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงไหม โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ซึ่งมี ดร. โทยาม่า เป็นหัวหน้าคณะ ให้มาสร้างสถานีเลี้ยงไหมปลูกหม่อน ณ ตำบลทุ่งศาลาแดง กรุงเทพฯ และได้ยกแผนกไหมขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ แล้วขยายงานจัดตั้งสาขาขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๔๘ ได้ตั้งสาขาขึ้นอีกที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด กิจการก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ การส่งเสริมการเลี้ยงไหมจึงชะงัก และล้มเลิกไปเพราะมีอุปสรรคนานาประการ เช่น ไหมเป็นโรคตายเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๘ ทางราชการได้กลับมาสนใจการเลี้ยงไหมอีกครั้งหนึ่ง โดยฟื้นฟูอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นการใหญ่ จัดตั้งโรงสาวไหมกลางขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์กลางของกสิกรไหม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๔ จังหวัด ในระยะนั้นมีรายงานของกรมเกษตร และการประมงว่า มีกสิกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอยู่ถึง ๓๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน การส่งเสริมการเลี้ยงไหมในระยะนั้นเป็นไปอย่าลุ่มๆ ดอนๆ เพราะขาดกำลังทรัพย์ และกำลังคน รังไหมที่ผลิตได้ ก็มีคุณภาพต่ำมาก โรงสาวไหมกลางก็ต้องหยุดกิจการไป ประกอบทั้งมีสงครามเอเชียบูรพาด้วย จึงทำให้การเลี้ยงไหมชะงักไปเกือบ ๓๑ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลจึงได้หันมาส่งเสริมกันใหม่อีก งานด้านส่งเสริมดำเนินเรื่อยๆ มา โดยจัดตั้งหมวดส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นที่ปากช่อง พุทไธสง หนองคาย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงได้ยกฐานะขึ้น เป็นสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา กรมกสิกรรรมจึงโอนงานมาดำเนินการขยายสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นอีก ๒ แห่ง คือ สถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหม ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดบุรีรัมย์ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นตามแผนโคลัมโบ ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและอบรมไหมนครราชสีมาขึ้น ที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างจริงจัง และเป็นศูนย์กลางวิชาการเรื่องหม่อนไหม ที่จะนำไปส่งเสริมให้กสิกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามแผนใหม่ ให้ได้ผลดีเช่นเดียวกับต่างประเทศ นอกจากนี้สถานศึกษาในระดับสูง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิทยาลัยเกษตรกรรมต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้เปิดสอนวิชาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมความรู้ในระดับการศึกษาชั้นสูงควบคู่กันไปด้วย

ปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพนี้มี ๕ ประการ คือ
 

๑. หม่อน ต้องมีพันธุ์หม่อนที่ดีและปริมาณมากพอ
๒. ไหม ต้องมีพันธุ์ไหมที่ดี แข็งแรง โตเร็ว ทนทานต่อโรค ให้ผลผลิตสูง
๓. วิธีการเลี้ยง ต้องดัดแปลงวิธีเลี้ยงที่ทำให้ไหมโตเร็วแข็งแรง ประหยัดแรงงาน
๔. โรคและแมลงศัตรูของหม่อนและไหม ต้องควบคุมโรคและแมลงต่างๆ ที่ทำความเสียหายแก่หม่อนหรือไหมให้ได้
๕. การจัดการ การวางแผนการเลี้ยงที่ถูกต้อง กล่าวคือ การดูแลสวนหม่อนระยะไหน ควรปฏิบัติตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยอย่างไร และกะระยะเวลาเริ่มเลี้ยงไหมตอนไหน ต้องกระทำให้สัมพันธ์กับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต และระยะที่มีใบหม่อนมากเพียงพอในขณะที่เลี้ยง ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow