Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การป้องกันอันตรายจากศัตรู

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
6,461 Views

  Favorite

การป้องกันอันตรายจากศัตรู

ผีเสื้อที่ออกบินจะมีศัตรูน้อยลงกว่าในระยะที่ยังเป็นตัวหนอน ศัตรูที่สำคัญในเวลากลางวัน ได้แก่ นกจาบคา (bee-eaters) และนกแซงแซว (drongos) นกพวกนี้บินได้ว่องไวสามารถจับผีเสื้อในขณะที่บินในอากาศได้ เมื่อจับได้แล้วมันจะคาบมาเกาะกินบนกิ่งไม้ ผู้เขียนเคยพบนกจาบคาหัวสีส้ม (Merops leschenaulti) บินจับผีเสื้อหนอนคูน (Catopsiliasp.) กินหลายตัวที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ศัตรูที่สำคัญรองลงมา คือ พวกกิ้งก่าที่จับผีเสื้อที่ชอบเกาะตามพุ่มไม้ ก้อนหิน และตามพื้นดินกินเป็นอาหาร ในเวลากลางคืนศัตรูที่สำคัญคือ ค้างคาวกินแมลงชนิดต่างๆ

 

 

 

 

 

เวลากลางวัน ผีเสื้อบางชนิดชอบเกาะพักนอนตามพุ่มไม้หนาทึบ เพื่อให้พ้นตาศัตรู


การป้องกันอันตรายจากศัตรูของผีเสื้อพอจะแยกออกได้ เป็น ๕ วิธีด้วยกันคือ

๑. วิธีการบิน 

ผีเสื้อมีวิธีการบินเป็น ๒ พวก คือ พวกที่บินเร็วอย่าง เช่น ผีเสื้อตาลหนาม (Charaxes) ผีเสื้อหางติ่ง (Papilio) บินได้เร็วมาก จนมีศัตรูน้อยชนิดที่อาจบินไล่จับได้ทัน พวกนี้ส่วนมากมีสีสดใส อีกพวกหนึ่งบินได้ช้า และบินแปลกไปจากผีเสื้อทั่วไป เพื่อให้ศัตรูงงเวลาเห็น จนไม่คิดว่าเป็นผีเสื้อ เช่น ผีเสื้อกะลาสี (Neptis) และ ผีเสื้อแผนที่ (Cyrestis) กลุ่มหลังนี้บินร่อนไปช้าๆ นานๆ จะกระพือปีกสักที มักมีลวดลายลวงตาบางอย่างบนปีก ทำให้ศัตรูติดตามได้ยาก

ปกติพวกที่มีสารพิษอยู่ในตัวมักบินช้า เพื่อให้ศัตรูรู้จัก และเป็นการประกาศคุณสมบัติในตัวของมัน หรือเป็นการลวง ตาศัตรู 

๒. การป้องกันตัวด้วยสีและลวดลายบนปีก

ผีเสื้อส่วนมากที่ไม่มีสารพิษในตัว และไม่มีสีสดใส เพื่อประกาศคุณสมบัตินี้ มักป้องกันตัวเองด้วยสีสัน และลวดลาย ที่อยู่ทางด้านใต้ปีก โดยเฉพาะปีกคู่หลัง เนื่องจากผีเสื้อเวลาเกาะพักจะพับปีกขึ้น และช่วงเวลาพักเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ลวดลายอาจจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่มันอาศัย เช่น ใต้ปีกของผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ (Hebomoia glaucippe) อาจเป็นใบไม้ ดังพบในผีเสื้อใบไม้ใหญ่ (Kallima) และในผีเสื้อตาลสายัณห์บางแบบ และผีเสื้อแพนซีมยุราบางแบบ เพื่อที่จะให้สภาพกลมกลืนดียิ่งขึ้น ผีเสื้อพวกนี้มักเกาะตามกิ่ง หรือตามลำต้นไม้ แล้วทอดปีกไปตามแนวกิ่งไม้

ผีเสื้อบินเร็ว และผีเสื้อป่าตลอดจนผีเสื้อตาลสายัณห์ มักมีสีน้ำตาล หรือมีลายเปรอะ ถึงแม้ว่าบางชนิดชอบอาศัยอยู่ตามที่ร่มครึ้ม และค่อนข้างมืด ซึ่งปลอดภัยจากศัตรูตามธรรมชาติหลายจำพวก

ส่วนพวกที่มีจุดตากลมๆ ใต้ปีกดังเช่น พวกผีเสื้อป่านั้น เชื่อกันว่า มันใช้ในการทำให้ศัตรูตกใจ หรือทำให้ศัตรูโจมตีตรงจุดที่ไม่สำคัญนัก เช่นเดียวกับหางเส้นเล็กๆ ตามขอบปีกคู่หลังในพวกผีเสื้อสีน้ำเงิน โดยจะมีปีกยื่นออกมาเป็นติ่ง ซึ่งมีจุดดำตรงกลางประกอบกับมีหางยื่นออกมา ทำให้ดูคล้ายเป็นหัวและหนวด

การป้องกันตัวอีกแบบหนึ่งพบในพวกผีเสื้อสีน้ำเงิน โดยมีสีน้ำเงินวาวทางด้านบนปีก และสีดำคล้ำทางด้านใต้ปีก ทำให้พวกนกที่กำลังไล่ผีเสื้อสีน้ำเงินอยู่ หาลำตัวผีเสื้อสีคล้ำที่กำลังเกาะอยู่ไม่พบ

 

 

 

 

เสื้อกลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าทึบ ที่มีแสงแดดเล็ดลอดลงไปถึงพื้นบ้าง

 

ผีเสื้ออีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในป่าทึบ ที่มีแสงแดดเล็ดลอดลงไปถึงพื้นได้บ้าง จะมีสีดำจุดขาว ทำให้กลมกลืนกับสภาพพื้นป่า เช่น ผีเสื้อกะลาสี ผีเสื้อจ่า(Athymal) พวกเหล่านี้เวลาบิน จะร่อนแผ่ปีกออกตามแนวนอนอีกด้วย
๓. นิสัย 

นิสัยของผีเสื้อบางชนิดช่วยให้รอดพ้นจากศัตรูได้ ผีเสื้อบินเร็วหลายชนิด ผีเสื้อป่า และผีเสื้อตาลสายัณห์ มีนิสัยชอบออกหากินเวลาเช้ามืด หรือตอนโพล้เพล้ เพื่อหลบนกที่ออกหากินกลางวัน แต่ยังไม่ทราบว่า จะถูกพวกค้างคาวกินบ้างหรือไม่ ผีเสื้อพวกนี้ยังชอบเกาะอยู่ตามที่มืดๆ หรือในพุ่มไม้หนาทึบ ผีเสื้อตัวเมียส่วนมากมีนิสัยเช่นเดียวกันนี้

๔. การป้องกันตัวโดยกลิ่นและรสที่ไม่ดี 

ผีเสื้อบางพวกที่กินพืชที่มีพิษ จะได้พิษนั้นๆ ติดไปด้วย ซึ่งพวกสัตว์กินแมลงและกิ้งก่าไม่ชอบสารพวกนี้ พวกนี้จะมีสีสันฉูดฉาด เป็นการประกาศคุณสมบัติของตัว และบินไปมาอย่างช้าๆ เพื่อให้ศัตรูมีเวลาจ้องดูนานๆ จนจำได้ บางทีนกที่ยังรุ่นหนุ่ม มีประสบการณ์น้อย อาจจับผีเสื้อพวกนี้กินได้ ผีเสื้อพวกนี้จึงต้องมีผนังลำตัวแข็งเหนียว และบางคราวอาจแกล้งทำตายได้อีกด้วย

 

 

 

การเลียนแบบของผีเสื้อ ๒ ชนิด ๒ คู่

๕. การเลียนแบบ 

จากคุณสมบัติป้องกันตัวได้ของผีเสื้อในข้อที่ ๔ ทำให้ผีเสื้ออีกพวกที่ไม่มีคุณสมบัตินั้นๆ และจะตกเป็นเหยื่อของศัตรูได้ง่ายๆ พากันเลียนแบบรูปร่าง นิสัย ตลอดจนวิธีการบิน ของพวกที่ป้องกันตัวได้ดี อาจจะเลียนแบบทั้งสองเพศ หรือเลียนแบบเฉพาะเพศเมียเท่านั้น ส่วนมากจะเลียนแบบเฉพาะด้านบนของปีก แต่บางทีก็ด้านใต้ปีก หรือทั้งสองด้าน

การเลียนแบบแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑. การเลียนแบบแบบเบตส์ (batesian mimicry) 

ตัวที่มีสีสดใส มีกลิ่นและรสไม่ดี เป็นตัวแบบ(model) ให้ตัวเลียนแบบ (mimic) ซึ่งเป็นผีเสื้อที่ศัตรูชอบกิน มาเลียนแบบทั้งรูปร่าง สีสัน และนิสัยการบิน

 

 

 

 

 

การเลียนแบบแบบเบตส์


ของผีเสื้อ ๒ ชนิด

 

การเลียนแบบแบบมูลเลอร์ ของผีเสื้อจรกา ๔ ชนิด

 

๒. การเลียนแบบแบบมูลเลอร์ (mullerian mimicry) 

กลุ่มผีเสื้อที่ศัตรูไม่ชอบกินอยู่ แล้วมาเลียนแบบกันเอง ทำให้ลักษณะของแบบนั้น ศัตรูรู้จักได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่า เดิม เช่น พวกผีเสื้อหนอนใบรักสีฟ้า (Danaus)หลายชนิด และพวกผีเสื้อจรกา (Euploea)

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow