Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 07 มิ.ย. 60
7,279 Views

  Favorite

ประวัติการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้ป่าอยู่ตามธรรมชาติ เป็นจำนวนมาก สภาพแวดล้อมธรรมชาติมีความเหมาะสม กับการเลี้ยงกล้วยไม้อย่างกว้างขวาง ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ได้มีการเริ่มสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกขึ้นในประเทศไทย ในกลุ่มบุคคลสูงอายุและมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอสมควร ในช่วงเวลา ๑๐ ปีระหว่างนี้ ได้มีความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับการเลี้ยงกล้วยไม้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลเล็กๆ อาทิเช่น มีการแปลหนังสือตำราความรู้เกี่ยวกับลักษณะกล้วยไม้ชนิดต่างๆ จากภาษาต่างประเทศมาเป็นตำราภาษาไทย และยังได้เพิ่มข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการปลูกเท่าที่ประสบการณ์ในสมัยนั้น พึงมีการสั่งกล้วยไม้บางชนิด จากภายนอกประเทศเข้ามาเลี้ยง และได้มีการรวบรวมกล้วยไม้พื้นเมืองภายในประเทศมาเลี้ยงด้วย แต่เนื่องจากสมัยนั้น ความรู้ทางวิชาการ และความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยยังมิได้ขยายตัวกว้างขวางนัก คนทั่วไปในสังคม ซึ่งได้พิจารณากลุ่มผู้สนใจกล้วยไม้แล้ว ทำให้เข้าใจไปว่า การเลี้ยงกล้วยไม้เป็นกิจกรรมของผู้มีอันจะกิน และผู้สูงอายุ

 

ออปซิสไทลิส ลานนาไทย (Opsistylis Lanna Thai)

 

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้มีกลุ่มนักวิชาการเกษตร อาวุโสพยายามรวมกลุ่มผู้สนใจต้นไม้ทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งกล้วยไม้ด้วย เพื่อจัดตั้งเป็นสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์ให้มี การปลูกฝังความรักและสนใจต้นไม้ในหมู่ประชาชน แต่เนื่องจาก กิจกรรมดังกล่าวเป็นงานอาสาสมัคร ประกอบกับการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ในขณะนั้นก็ยังอยู่ในวงแคบ กิจกรรมดังกล่าว จึงยังคงจำกัดตัวเองอยู่อย่างไม่กว้างนัก

 

 

เอี้องพร้าว ขึ้นตามธรรมชาติ

 

ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้น แล้ว ประเทศต่างๆ ได้มีการเร่งรัดพัฒนาตนเองและประสาน งานร่วมมือกับประเทศอื่นๆ กว้างขวางออกไป วงการกล้วยไม้ ในหลายประเทศได้มีการตื่นตัว เผยแพร่ความรู้และข่าวสาร ตลอดจน กิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้ ของประเทศต่างๆ เป็นผลให้ประเทศไทยมีความสนใจกล้วยไม้มากยิ่งขึ้น จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าแบบอาสาสมัคร ของบุคคลผู้สนใจเกิดขึ้น และต่อมา ก็ได้มีการรวมกลุ่มประกอบกิจกรรม ทั้งในด้านการศึกษาวิจัย และการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ เมื่อมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาทางด้านวิทยุกระจายเสียง ก็ได้มีการจัดทำรายการเผยแพร่ความรู้ เรื่องกล้วยไม้ด้วย ซึ่งนับเป็นรายการโทรทัศน์ครั้งแรกของประเทศไทย ที่ได้มีการนำเอาความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ออกสู่ประชาชน นอกจากนั้น ยังได้เปิดอบรมเผยแพร่ความรู้เรื่องกล้วยไม้แก่ประชาชนในภาคค่ำ ในรูปอาสาสมัครขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นประจำ และผลิตสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ตลอดจน ข่าวสารเกี่ยวกับกล้วยไม้ได้เร็วพอสมควร ทั้งๆที่สมัยนั้น ยังไม่มีการส่งเสริมงานอดิเรกประเภทนี้ ไปสู่ประชาชนแต่อย่างใด

ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการรวมกลุ่มผู้สนใจกล้วยไม้จดทะเบียน เป็นสมาคมกล้วยไม้บางเขน ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้สถาปนา เป็นสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย และได้เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ริเริ่มเปิดการสอนการวิจัย เรื่องกล้วยไม้ขึ้น ในคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อผลิตนักวิชาการในสาขาวิชากล้วยไม้ และทำงานประสานกับสมาคม อันเป็นองค์กรที่จัดการโดยประชาชนผู้สนใจอย่างใกล้ชิด เพื่อหวังผลการพัฒนาวงการกล้วยไม้ บนโครงสร้างสมบูรณ์แบบ

 

 

 

งานชุมนุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๗ ณ ประเทศโคลัมเบีย วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

ประเทศไทยได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในวงการกล้วยไม้สากลอย่าง เป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่องานชุมนุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๔ ได้มาจัดขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้น ยังเป็นเมืองหนึ่งของประเทศมาเลเซีย โดยศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน เป็นผู้บรรยายเสนอผลงานเกี่ยวกับกล้วยไม้ของประเทศไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก ในคณะกรรมาธิการร่างกฎเกณฑ์ ในการจดทะเบียนตั้งชื่อกล้วยไม้ลูกผสมของสากล จากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีบทบาทในวงการกล้วยไม้สากล กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว การที่บุคคลในประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติงาน ในกิจกรรมระหว่างประเทศนี้ นอกจากเป็นการเผยแพร่ความก้าวหน้าของ ประเทศไทยในด้านกล้วยไม้ และในด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว ในมุมกลับ ก็ได้ข้อมูลต่างๆ ไว้เป็นประสบการณ์ เพื่อนำกลับมาพัฒนากิจกรรมกล้วยไม้ของประเทศ ให้สามารถสอดคล้องและทัดเทียม กับสากลประเทศด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีงานชุมนุมกล้วยไม้โลกขึ้น ประเทศไทยก็ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรม และได้รับความนิยมยิ่งขึ้น เป็นลำดับ

 

 

แอแรนดาคริสติน (Aranda Christine)

 

ภายในประเทศนั้นก็ได้มีการให้การศึกษาเกี่ยวกับกล้วยไม้ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมทั้งมีงานวิจัยต่างๆ มากยิ่งขึ้นด้วย พันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศไทยได้รับความ สนใจนำมาคัดพันธุ์ ผสมพันธุ์ เผยแพร่ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ บุคคลผู้ที่ได้รับความรู้จากผลการส่งเสริมเรื่องกล้วยไม้ ซึ่งแพร่กระจาย ไปทั่วประเทศ ได้มีการรวมกลุ่มในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเผยแพร่การเลี้ยงกล้วยไม้ จนกระทั่งในที่สุด ประเทศไทยก็ได้รับความเห็นชอบจากประเทศต่างๆ ให้เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๙ ในประเทศไทย เมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งมีทั้งกิจกรรมการประชุมทางวิชาการ การจัดแสดง และการประกวดกล้วยไม้ที่ส่งมาจากประเทศต่างๆทั่วโลก และการจัดทัศนศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม และสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ของประเทศด้วย ในการชุมนุมครั้งนี้ ปรากฏว่า มีชาวต่างประเทศจาก ๔๑ ประเทศ เป็นจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ คน มาร่วมงานนี้ ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมนานาชาติครั้งใหญ่ เป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย และได้รับการชมเชยจากทั่วโลกว่า เป็นงานชุมนุมกล้วยไม้โลกที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด เท่าที่ได้เคยมีมาแล้ว

 

 

 

 

การเตรียมการบรรจุกล้วยไม้ตัดดอกลงหีบห่อ เพื่อส่งจำหน่ายยังต่างประเทศ

ในด้านธุรกิจการค้ากล้วยไม้ หลังจากได้มีการพัฒนากิจกรรมกล้วยไม้มาพอสมควร ประเทศไทยสามารถส่งกล้วยไม้ ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ผสมออกไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างกว้างขวาง การค้าต้นกล้วยไม้ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยง และผลิตต้นจากสวนในบ้าน โดยใช้แรงงานภายในครอบครัว ซึ่งนับเป็นการเสริมฐานะทางเศรษฐกิจให้ประเทศในแนวที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า การรวบรวมพันธุ์ ผสมพันธุ์ และเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เหล่านี้ ได้เติบโตขึ้นมาจากงานอดิเรก ซึ่งกระจายอยู่ทั่วๆ ไป โดยเริ่มจากบริเวณกรุงเทพฯ ก่อน จากนั้น ก็แพร่ออกสู่ต่างจังหวัด ผู้ที่มีงานประจำทำอยู่แล้ว จึงสามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านจิตใจ และเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัว  

การค้าดอกกล้วยไม้ได้เริ่มต้นตามมาภายหลัง ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ ในขณะที่วงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ได้กระจายการเลี้ยงกล้วยไม้ออกสู่ประชาชนในระดับที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก พันธุ์กล้วยไม้ก็เริ่มมีราคาลดต่ำลงมา อยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงเริ่มมีการปลูกกล้วยไม้ตัดออกเป็นการค้าขึ้น กล้วยไม้ที่ปลูกตัดออกเป็นการค้าในระยะแรกๆ นั้น ได้แก่ หวายลูกผสมที่มีชื่อว่า ปอมปาดัวร์ (Dendrobium Pompadour) ตลาดดอกกล้วยไม้ของประเทศไทยในต่างประเทศนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเยอรมนีตะวันตก ฮอลันดา อิตาลี และสวีเดน เป็นต้น ต่อมาในระยะหลัง ได้มีการเปิดตลาดดอกกล้วยไม้ขึ้นในประเทศ ญี่ปุ่น ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ และใน พ.ศ. ๒๕๒๓ ก็ได้มีการสำรวจตลาด และทดลองส่งดอกไม้ไปยังสหรัฐอเมริกา และแคนาดา มูลค่าทั้งหมดของดอกกล้วยไม้ที่ส่งจากประเทศไทย ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ในด้านการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้เพื่อตัดออกเป็นการค้านั้นได้ เริ่มมีการวิจัย และส่งเสริมเผยแพร่ ให้ชาวสวนกล้วยไม้ได้ขยายการผลิตออกไปสู่พันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา การปลูกกล้วยไม้ตัดออก ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นอาชีพของชาวสวนเป็นจำนวนมาก และประสบการณ์จากการพัฒนา กล้วยไม้ยังได้มีส่วนสร้างแนวทาง ในการพัฒนาการปลูกต้นไม้อย่างอื่นในชีวิตประจำวันของประชาชนอีกด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow