Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เก็บเงินให้ “แต๊ะเอีย” อย่างไร สบายกระเป๋าคนให้ สบายใจคนรับ

Posted By SET | 05 มิ.ย. 60
2,246 Views

  Favorite

ตรุษจีนมาแค่ปีละครั้ง แต่ทำไมบางคนเวลาจะใส่ซองแต่ละซองก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะกี่ร้อยกี่พันบาท ครั้นใส่มากก็กลัวว่าจะเหลือเงินติดกระเป๋าไม่ถึงสิ้นเดือน แต่ถ้าใส่นิดเดียวก็รู้สึกไม่สบายใจ
 

เรามีเทคนิคแสนง่ายที่จะทำให้ตรุษจีนในปีถัด ๆ ไปของคุณมีความสุข ใส่ซองแต๊ะเอียด้วยความสบายใจ ผู้รับยิ้มแก้มปริ

 

ภาพ : Pixabay


1. วิธีสุดแสนจะคลาสสิกแต่น้อยนักที่จะคาดถึงว่าได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ แบ่งเงินใส่ซองเพื่อเป็นรายจ่ายประจำวัน เช่น 200 บาทต่อซอง และก่อนออกจากบ้านให้หยิบไปใช้วันละซอง การทำเช่นนี้ ทำให้รู้ว่ามีค่ากินค่าใช้ต่อเดือนเท่าไหร่ เช่น ถ้าวันละ 200 บาท ตกเดือนละประมาณ 6,000 บาท นับเป็นวิธีฝึกวินัยด้านการใช้จ่ายที่ได้ผล แล้ววันไหนเงินเหลือก็ให้รีบไปหยอดกระปุก เป็นการสร้างวินัยการออมอีกทางด้วย


2. ออมวันละ 30 บาท อย่าดูถูกการเก็บเล็กผสมน้อย ให้ทดลองทำก่อนแล้วมาดูว่าสิ้นเดือนจะได้เท่าไหร่ วิธีการคือ ตกเย็นหลังกลับจากออฟฟิศ ให้นำเงิน 30 บาทไปหยอดกระปุก สิ้นเดือนจะได้ 900 บาท สิ้นปีได้ 10,800 บาท และเพื่อให้การออมเงินสนุกสนานขึ้น คุณอาจจะมองว่า 900 บาท เป็นตัวเลขไม่สวย ถ้าเป็นเช่นนั้น ตอนสิ้นเดือนลองเติมอีก 100 บาท คุณจะมีเงินเก็บ 1,000 บาทต่อเดือน สิ้นปีเบาะ ๆ ก็ 12,000 บาท


3. หากคุณต้องการเพิ่มรสชาติชีวิตด้านการเก็บเงิน ลองตั้งโจทย์กับตัวเองว่าถ้าไปซื้อของแล้วแม่ค้าทอนเงินกลับมาเป็นแบงก์ 50 บาท อย่านำไปใช้แต่ให้ไปหยอดกระปุกแทน ถึงสิ้นเดือนลองดูสิว่าได้เยอะแค่ไหน สมมติว่าสัปดาห์หนึ่งแม่ค้าทอนแบงก์ 50 บาท 3 ใบ สิ้นเดือนจะมีเงินเก็บ 600 บาท สิ้นปีก็ 7,200 บาท ลองคิดดูถ้าเปลี่ยนจากแบงก์ 50 บาท เป็นแบงก์ 100 บาทล่ะ


4. แบงก์ใหม่อย่าใช้ เมื่อคุณได้แบงก์ใหม่มา ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ 20 บาท, 50 บาท, 100 บาท, 500 บาท หรือ 1,000 บาท ให้นำไปหยอดกระปุกทันที ขอบอกเลยว่าวิธีการนี้เป็นการลุ้นสนุกๆ ได้ดีทีเดียว แล้วคุณจะยิ้มไม่หุบเมื่อเห็นเงินเต็มกระปุกตอนสิ้นปี  


5. หักเศษเงินเดือน ตื่นเต้นไม่แพ้วิธีอื่น ๆ โดยเมื่อเงินเดือนเข้ามาในบัญชี อย่าพึ่งใช้แต่ให้ดูว่ามียอดเท่าไหร่ สมมติว่าอยู่ที่ 28,860 บาท ก็ให้นำไปหยอดกระปุกทันที 860 บาท ถ้าทำแบบนี้ทุกๆ เดือน คิดดูว่าสิ้นปีจะมีเงินเก็บเท่าไหร่


6. หยอดกระปุก 15% ของเงินเดือน หากใครคิดไม่ออกว่าจะเก็บเงินยังงัย ง่ายที่สุดในโลกใบนี้เห็นจะไม่เกินวิธีการหัก 15% ของเงินเดือนไปเก็บออม เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ก็ออม 1,500 บาท เงินเดือน 20,000 บาท ออม 3,000 บาท คิดดูแล้วกันว่าถึงสิ้นปีจะมีเงินออมเยอะขนาดไหน
 

ภาพ : Pixabay


มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะมีคำถามว่าจะเลือกใช้วิธีไหน คำตอบคือ เอาที่คุณสบายใจ เพราะการออมหรือแม้แต่การลงทุนเป็นเรื่องส่วนตัวจริง ๆ ขึ้นอยู่กับความชอบ ความพอใจ หรือกำลังของแต่ละคน บางคนอาจชอบออมวันละ 30 บาท เพราะดูแล้วว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง แต่พอเห็นเงินออมตอนสิ้นปีก็ทะลุหมื่นบาท


บางคนชอบความสนุกสนานและตื่นเต้น อาจจะเลือกหยอดกระปุกด้วยแบงก์ 50 บาท หรือแบงก์ 100 บาท นอกเหนือจากนี้บางคนเลือกออมเงิน 2 – 3 วิธีพร้อมๆ กันเลย บางคนมองว่าถ้าใช้วิธีเดียวไปตลอดทั้งปีคงน่าเบื่อ อาจจะสลับวิธีการออมเงินเป็นเดือน ๆ ไป เช่น เดือนมกราคมใช้วิธีหนึ่ง เดือนถัดไปก็เปลี่ยนวิธีออมเงิน หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จนถึงเดือนธันวาคม


อยากจะบอกว่าการออมเงินถ้าทำให้เป็นเรื่องสนุกเหมือนตอนดูคอนเสิร์ตศิลปินที่คุณชื่นชอบ ดูละครหลังข่าว หรือดูทีมฟุตบอลในดวงใจแข่งขัน รับรองจะไม่รู้สึกเลยว่าเป็นภาระของชีวิต เผลอๆ พอออมเงินไปสักพักแล้วมองว่าเก็บได้น้อยเกินไป อาจจะมีพลังบางอย่างที่ทำให้คุณต้องการหยอดกระปุกเพิ่มก็เป็นได้


หากคุณเริ่มใช้เทคนิคการออมเงินตามที่บอกมาตั้งแต่ตอนนี้ มั่นใจได้ว่า ตรุษจีนปีหน้าคุณจะมีเงินออมมากพอที่จะจัดสรรเป็นแต๊ะเอียได้อย่างสบายใจแน่นอน

 

ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้ช่วยผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • SET
  • 0 Followers
  • Follow