Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วางแผนใช้จ่ายเงิน

Posted By SET | 26 ก.ค. 60
4,462 Views

  Favorite

“สงสัยจัง... เงินหายไปไหน”

หลายคนคงเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มสาววัยทำงานที่หลังเงินเดือนออกแค่ไม่กี่วัน แต่เงินในบัญชีกลับหายเกลี้ยงไปซะเฉย ๆ พยายามนึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าเงินหายไปไหน สุดท้ายที่พอจะทำได้ คือ หยิบเครื่องคิดเลขออกมาบวกลบคูณหารดูว่าเงินที่เหลืออยู่จะพอใช้จนถึงสิ้นเดือนหรือไม่!!!

 

ไม่ว่าคุณจะมีเงินเดือนหลักหมื่นหรือเรือนแสน แต่หากขาดการวางแผนจัดการเงินทองที่ดี เงินเดือนก็จะเป็นแค่ตัวเลขที่ผ่านมาทักทายบัญชีเงินฝาก แล้วก็จากไปไม่ล่ำลากัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้ทุกเดือน ถึงเวลาที่จะรื้อ ปรับ ขยับวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ พร้อมเริ่มต้นวางแผนใช้จ่ายเงินกันแล้ว

 

อันดับแรก...คุณต้องสะกดรอยตามเงินให้เจอก่อน และทางเดียวในโลกนี้ที่จะช่วยให้คุณรู้ว่าเงินตั้งมากมายหายไปไหน แถมยังช่วยแก้อาการชักหน้าไม่ถึงหลังของคุณได้เป็นอย่างดีก็คือ รู้จักใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการใช้จ่ายเงิน และ “จดบันทึกรายรับรายจ่าย” อย่างสม่ำเสมอ แต่พอพูดถึงการจดบันทึกรายรับรายจ่าย หลายคนอาจบอกว่าน่าเบื่อหน่ายที่สุดในโลก บ้างก็ว่าไม่จำเป็น ละเอียดถี่ยิบเกินไป แถมบางคนมองว่าเป็นการสร้างความยุ่งยากให้ชีวิตเข้าไปอีก

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการจด “สิ่งที่คุณซื้อ” เป็นงานยากเกินกว่าที่คุณจะรับไหว นั่นถือเป็นการยอมรับเป็นนัย ๆ ว่า... คุณควักเงินออกจากกระเป๋าบ่อยมากจนจดไม่ทัน

 

แต่หากคุณมั่นใจว่าคุณใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไปมีเหตุมีผลทั้งนั้น ก็มาลองดูกันสักตั้งจะเป็นไรไป...วิธีการก็ง่ายแสนง่าย แค่พกสมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ กับปากกาติดกระเป๋าไว้ แล้วควักออกมาจด จด จดทุกครั้งที่ได้รับเงินมาหรือใช้เงินไป ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะเล็กน้อย (ในสายตาคุณ) ขนาดไหนก็ตาม ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชันบันทึกรายรับรายจ่ายมากมายให้เลือกใช้บนมือถือ ทำให้สะดวกขึ้นสุด ๆ เพราะคุณสามารถจดได้ทุกที่ทุกเวลา


เมื่อมีสมุดกับปากกาแล้ว...เริ่มด้วยการจดตัวเลขรายได้ที่ได้มาในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือนลงไป ทั้งเงินเดือน ค่าเช่า ค่านายหน้า โบนัส จ๊อบพิเศษ รวมถึงรายได้ที่เป็นรายการพิเศษต่าง ๆ อย่างเงินคืนภาษี เงินคืนจากประกันชีวิต หรือเช็คของขวัญในโอกาสต่าง ๆ ฯลฯ

 

คราวนี้ลองมาดูฝั่งค่าใช้จ่ายกันบ้าง หากสังเกตดี ๆ คุณจะพบว่าค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร

 

“ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน”

คือ ค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ต้องกันไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นการจ่ายเพื่อตัวเองในการเดินตามความฝันหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น เงินออมเพื่อดาวน์รถ ดาวน์บ้าน ท่องเที่ยว แต่งงาน ค่าเล่าเรียนลูก หรือเงินออมเพื่อเกษียณอายุ ฯลฯ ที่สำคัญ...อย่าลืมแยกบัญชีเงินออมและลงทุนออกจากบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อป้องกันความสับสนและเผลอถอนเงินออมออกมาใช้

“ค่าใช้จ่ายคงที่”

คือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนทุกเดือน เช่น ค่าผ่อน (เช่า) บ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนสินค้า หรือเงินกู้ต่าง ๆ ฯลฯ

“ค่าใช้จ่ายผันแปร”

คือ ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือน มีบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่แน่นอน ยืดหยุ่นไปตามกิจกรรมที่ทำในเดือนนั้น ๆ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการดำรงชีวิตของแต่ละคน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล บันเทิงเริงใจ เงินทำบุญ ฯลฯ


หลังจาก จด จด จด สะกดรอยตามเงินครบ 4 สัปดาห์ ลองบวกลบคูณหารค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเดือนนั้น แล้วเอาสมุดโน้ตมากางดู คุณจะเห็น “รูรั่ว” ของกระเป๋าสตางค์อย่างชัดเจน

 

ทีนี้แหละ... ดวงตาที่เคยมืดมนก็เริ่มเห็นแสงสว่างขึ้นมาทันใด เมื่อสมุดเล่มเล็ก ๆ ราคาไม่กี่บาท กลับกลายเป็น “สมุดสติ” ที่ช่วยเตือนให้คุณเห็นถึงภัยร้ายจากค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ วันละ 100 200 หรือ 300 ที่ทุกวันรวมกันก็เป็นพันเป็นหมื่นได้

 

ตอนนี้รู้แล้วสินะว่าเงินของคุณหายไปไหน รู้ลาง ๆ แล้วใช่ไหมว่าทำไมเงินถึงไม่เคยพอใช้ หรือเพราะเหตุใดคุณถึงได้จนไส้แห้งทุกครั้งก่อนสิ้นเดือน เฮ้อ!!! ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะ “คุณ” นั่นแหละที่เจาะกระเป๋าตัวเอง


อันดับแรก...เอาเป็นว่า...เมื่อมีเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป ยังพอมีหนทางแก้ไขสถานการณ์ได้ ทางแรกคือ “หั่นรายจ่าย” อีกทางคือ “เพิ่มรายได้” แต่คุณเชื่อหรือไม่... ร้อยทั้งร้อยเลือกที่จะหั่นรายจ่าย เพราะดูเหมือนจะง่ายกว่าหาทางเพิ่มรายได้หลายเท่า เพียงแค่นั่งวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายทั้งหมด คุณก็พอจะรู้ว่าส่วนเกินตรงไหนที่สามารถตัดทิ้งได้บ้าง แต่การหารายได้เพิ่มนี่สิ ยากสิ้นดี

 

การหั่นรายจ่ายที่ง่ายที่สุด คือ “การหั่นรายจ่ายผันแปรที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ” อย่างค่าโทรศัพท์มือถือ ซื้อของฟุ่มเฟือย ลดการเที่ยวเตร่ ดูหนังฟังเพลง หรือทานอาหารนอกบ้านให้น้อยลง ฯลฯ ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มักจะตัดออกไม่ค่อยได้ ทำได้แค่ลดปริมาณการใช้ลง และเอาบิลไปจ่ายให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันค่าปรับจากการชำระล่าช้าเท่านั้น

 

แต่ใครอยากท้าทายกว่านั้น ลองพิจารณาลดค่าใช้จ่ายคงที่ เพราะแม้จะทำได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ซะหน่อย ยกตัวอย่างเช่น การรีไฟแนนซ์เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยลดลง หรือบางครั้งอาจต้องแลกกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคุณ เช่น หาบ้านใหม่ที่ค่าเช่าถูกลง หรือขายรถแล้วหันมาใช้บริการรถสาธารณะแทน

 

หากคุณ “เขียม” สุด ๆ แล้ว เงินก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี ก็อาจถึงเวลาที่คุณต้องมองหางานที่ให้ค่าตอบแทนสอดคล้องกับรายจ่ายของคุณหรือหางานพิเศษทำ

 

เชื่อเถอะว่า...การจดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำ นอกจากจะทำให้คุณเห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือนที่ผ่านมาแล้ว ยังช่วยให้คุณปรับวิธีใช้จ่ายเงินและควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายน้อยลง คุณก็จะมีเงินเหลือออมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังทำให้คุณสามารถวางแผนใช้จ่ายเงินได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้นด้วย เช่น ในแต่ละปี คุณรู้ว่าตอนเดือนตุลาคม คุณต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตปีละ 20,000 บาท ฉะนั้น ก่อนจะถึงช่วงเดือนตุลาคม คุณก็สามารถที่จะทยอยสะสมเงินเตรียมไว้ทุกเดือนก่อนได้

 

ถ้าเห็นข้อดีของการจดบันทึกรายรับรายจ่ายแล้ว ก็ควรทำอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะการใช้จ่ายเงินทองอย่าง “รอบคอบ” และ “ระมัดระวัง” เท่ากับว่าคุณกำลังแง้มประตูไปสู่ “ความมั่งคั่ง” ในอนาคต

 

ภาพปก : Pixabay

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • SET
  • 0 Followers
  • Follow