Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับรถยนต์คันใหม่

Posted By SET | 25 พ.ค. 60
2,306 Views

  Favorite

“งานมอเตอร์โชว์ปีนี้ค่ายรถยี่ห้อดังพากันเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
พร้อมโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถม ดาวน์น้อยผ่อนนาน
เห็นแล้วอยากซื้อรถมั่งจัง น่าจะผ่อนไหวอยู่”

 

แต่เดี๋ยวก่อน! การซื้อรถซักคันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนซื้อขนมกลับบ้าน เราอาจลืมคิดไปว่านอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อรถยนต์แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการที่ต้องศึกษาให้ดี เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนผ่อนชำระหนี้สิน หากพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องซื้อรถยนต์จริง ๆ ก็เริ่มเลือกยี่ห้อและรุ่นของรถที่ชอบโดยพิจารณาสมรรถนะและอุปกรณ์เสริมที่ตอบสนองการใช้งานของเรา จากนั้นก็สำรวจราคาและโปรโมชั่นของตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้ได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด
 

ภาพ : Pixabay

 

เมื่อตัดสินใจเลือกได้แล้ว ก็ควรทำตาม
“4 ขั้นตอนซื้อรถใหม่อย่างไรให้คุ้มค่า” ดังนี้

1. คำนวณเงินดาวน์และเงินงวดผ่อนชำระ

เพื่อประเมินตัวเองว่าสามารถจ่ายชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งทางที่ดีจำนวนเงินที่ใช้ผ่อนรถในแต่ละเดือน ควรอยู่ราว ๆ 20% ของรายได้ และหากเรายังมีหนี้บ้านหรือหนี้บัตรเครดิตอยู่อีกด้วย ก็ต้องพยายามไม่ให้เงินที่ต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดเกินกว่า 50% ของรายได้ เพราะหากมากกว่านี้อาจเป็นภาระหนี้ที่หนักเกินไป

เมื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองว่าผ่อนไหวแล้ว หากต้องการประหยัดดอกเบี้ย เงินกู้ซื้อรถยนต์ ก็ควรเก็บเงินดาวน์รถให้มากและกู้ให้น้อยลง เงินงวดก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถยนต์นั้น จะคิดในอัตราคงที่ (Flat Rate) โดยจะคำนวณดอกเบี้ยจากวงเงินกู้ทั้งหมดตั้งแต่แรก แล้วค่อยนำมาคำนวณเป็นเงินงวดที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนอีกที โดยที่ไม่ได้มีการคำนวณแบบลดต้นลดดอกเหมือนสินเชื่อบ้านนั่นเอง

 

ขั้นตอนการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์

1. ราคารถยนต์ (800,000 บาท) - เงินดาวน์ (20% = 160,000 บาท) = เงินกู้ (640,000 บาท)

2. เงินกู้ (640,000 บาท) x อัตราดอกเบี้ย (4.5% ต่อปี) x จำนวนปีที่ผ่อน (5 ปี) = ดอกเบี้ยทั้งหมด (144,000 บาท)

3. เงินกู้ (640,000 บาท) + ดอกเบี้ยทั้งหมด (144,000 บาท) = เงินที่ต้องชำระจริง (784,000 บาท)

4. เงินที่ต้องชำระจริง (784,000 บาท) / จำนวนงวดที่ผ่อน (60 งวด (5 ปี)) = เงินผ่อนต่องวด (13,067 บาท)

 

2. ประเมินค่าใช้จ่ายหลังการซื้อรถยนต์

อย่าลืมว่านอกจากภาระค่างวดผ่อนชำระ ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา ทั้งค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ค่าล้างรถ รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่ ซึ่งล้วนมีแนวโน้มที่แพงขึ้น เรื่อยๆ นอกจากนี้ ในแต่ละปีก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องอีกหลายรายการ เช่น ค่าภาษีต่อทะเบียน ค่าพ.ร.บ. และค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น

 

3. วางแผนการเงินเพื่อจัดสรรค่าใช้จ่าย

โดยจดรายการให้ละเอียดว่าจะต้องจ่ายค่าอะไร เมื่อไหร่บ้าง หลังจากนั้นก็จัดสรรเงินรายได้ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือน เช่น ถ้าทุกเดือนธันวาคมจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยของปีถัดไป จำนวน 18,000 บาท ก็ควรวางแผนออมเงินตั้งแต่เดือนมกราคมจำนวน 2,000 บาทต่อเดือน พอถึงปลายปี ก็จะมีเงินออมทั้งหมด 24,000 บาท สำหรับจ่ายเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้อีก

 

4. ใช้รถยนต์อย่างคุ้มค่า

ก่อนนำรถยนต์ออกไปใช้ทุกครั้ง ลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูให้ดี หากเดินทางคนเดียวไปใจกลางเมืองที่การจราจรติดขัด ก็อาจจะเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประหยัดทั้งเงินทั้งเวลา แต่ถ้าเดินทางไปต่างจังหวัด เป็นครอบครัว 4 – 5 คน ก็จะช่วยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ประหยัดและสะดวกกว่าการซื้อตั๋วรถทัวร์ก็ได้
 

ภาพ : Pixabay


การกู้เงินซื้อบ้านของมนุษย์เงินเดือนทำได้ไม่ยาก แต่ก็ควรจะศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนตัดสินใจกู้เงิน โดยควรคำนวณภาระเงินกู้จากธนาคารในแต่ละแห่งเพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุด หลังจากนั้นควรบริหารรายรับรายจ่าย ให้สามารถผ่อนชำระเงินกู้ในแต่ละเดือนได้ตลอดรอดฝั่ง และในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับครอบครัวในบ้านหลังใหม่ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันไปอีกยาวนาน

 

ขอบคุณภาพจาก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • SET
  • 0 Followers
  • Follow