Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประสบการณ์สร้างได้จาก “การเล่น”

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 17 พ.ค. 60
3,810 Views

  Favorite

ในวัยเด็กนั้น “การเล่น” ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก เด็กใช้เวลาในการเล่นมากกว่า 50 % ของการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในแต่ละวัน  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่นับเป็นเพื่อนเล่นคนแรกของลูกและเป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด

 

ซึ่งการเล่นที่เหมาะสมก็จะสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับเด็กได้ ดังนี้

 

การเล่นสร้างความสนุกสนาน

ชั่วโมงของการเล่น ถือเป็นชั่วโมงแห่งความสุขสำหรับเด็ก เด็กจะปลดปล่อยอารมณ์และจินตนาการไปกับการเล่น

การเล่นสร้างประสบการณ์

เพราะการเล่นในแต่ละครั้ง คือการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เด็กจะต้องมีการคิดค้น ทดสอบว่าการเล่นแบบนี้จะต้องเล่นอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการที่เด็กมีประสบการณ์การเล่นที่หลากหลาย ย่อมส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์การคิดใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

การเล่นสร้างทักษะการเรียนรู้

เพราะในระหว่างการเล่นนั้น เด็กจะเกิดกระบวนการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้การเล่นในครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ กำลังต่อจิ๊กซอว์อยู่ มี 1 ชิ้นที่ต่อไม่ได้ เด็กก็ต้องเรียนรู้ว่าถ้าต่อด้านนี้ไม่ได้ จะต้องมีการหมุนเพื่อกลับไปต่ออีกด้านหนึ่ง หรือในการต่อบล็อก ถ้าเด็ก ๆ ต่อบล็อกแล้วบล็อกล้ม เด็กก็ต้องเรียนรู้ในการต่อครั้งใหม่ว่า ครั้งที่แล้วทำล้มเพราะอะไร ถ้าต่อเยอะไปก็ต้องลดจำนวนลง หรือถ้าต่อแล้วมันเองก็ต้องต่อใหม่ให้มันสมดุลกันมากขึ้น

การเล่นก่อให้เกิดทักษะทางสังคม

ในระยะ 1-2 ปีแรกนั้น การเล่นของเด็กอาจจะเป็นไปในลักษณะของการเล่นคนเดียวเสียส่วนใหญ่ แต่พอเริ่มย่างเข้าวัย 3 ขวบนั้น การเล่นจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบไป เด็กจะเริ่มมีความอยากเล่นกับเพื่อน หรืออยากเล่นเป็นกลุ่มมากขึ้น ซึ่งการเล่นเป็นกลุ่มนั้น นอกจากจะทำให้เด็กสนุกสนานแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างทักษะในเรื่องของจริยธรรม การแบ่งปัน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อีกด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. หากิจกรรมที่ลูกชอบและถนัด

เพราะการเล่นต้องเหมาะสมกับความชอบ และความสามารถตามช่วงวัยของเด็ก เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มที่ ลูกไม่ควรเล่นของเล่นที่มีระดับความยากมาก หรือน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับวัยของเขาเอง เพราะของเล่นที่ซับซ้อนและยากเกินไป จะบั่นทอนกำลังใจและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในตัวลูก หรือหากมีระดับความง่ายจนเกินไปก็อาจจะทำให้การเล่นน่าเบื่อ ลูกจะขาดความสนใจ เกิดความรู้สึกว่าไม่ท้าทายความสามารถ ไม่เกิดแรงจูงใจในการเล่น จึงทำให้รู้สึกว่าการเล่นไม่ก่อให้เกิดความสนุกสนานอีกต่อไป

 

2. จัดมุมของเล่นหรือสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเล่น

บรรยากาศที่สบาย ๆ มีการเลือกจัดมุมหรือบริเวณสำหรับการเล่น ก็จะทำให้ลูกสามารถเล่นได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเมื่อเล่นเสร็จ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังสามารถส่งเสริมฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ด้วยการให้ช่วยเก็บของเล่นเข้าที่ได้อีกด้วย

 

3. เล่นกับลูกบ้าง 

คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกบ้างเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำระหว่างเล่นกับลูกก็คือ การให้คำชมเชย และแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวลูก เมื่อลูกทำได้สำเร็จ เพราะจะให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ และทำให้การเล่นของในครั้งนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

 

4. พาลูกออกไปหากลุ่มเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน

การที่ลูกได้ออกไปเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เปรียบเสมือนการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆกับเพื่อนๆ ลูกจะได้เรียนรู้วิธีการเล่น และการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ จากเพื่อน และที่สำคัญยังเป็นการฝึกในเรื่องของการรู้จักแบ่งปัน เรียนรู้กฎกติกา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อีกด้วย

 

ของเล่นที่ดีมีคุณภาพนั้นไม่ได้อยู่ที่ราคาแพง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำของเล่นนั้นมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่มีเวลามากน้อยแค่ไหนในการเล่นกับลูก เพราะเพื่อนเล่น “คนแรก” ของลูก ก็คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow