Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัตถุประสงค์ของการใช้วัสดุการแพทย์

Posted By Plookpedia | 28 เม.ย. 60
1,384 Views

  Favorite

วัตถุประสงค์ของการใช้วัสดุการแพทย์

      วัสดุการแพทย์สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายลักษณะทั้งการนำตัววัสดุนั้นไปใช้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ต่าง ๆ โดยตรงและการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์เพื่อที่จะนำไปใช้งานทางการแพทย์อีกต่อหนึ่งก็ได้ วัสดุบางประเภทอาจนำไปใช้งานเป็นระยะเวลานานบางประเภทอาจใช้งานได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ หากมองถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานโดยรวมของวัสดุการแพทย์แล้วอาจแบ่งออกได้ ดังนี้

๑. ใช้ในการทดแทนส่วนของร่างกายที่เสียหาย

      เมื่ออวัยวะหรือส่วนของอวัยวะภายในร่างกายเกิดความเสียหายทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเช่นเดิมไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการเจ็บป่วยหรือจากการเสื่อมสภาพของอวัยวะดังกล่าวก็ตามจะต้องเอาอวัยวะหรือส่วนของอวัยวะดังกล่าวออกไปแล้วนำวัสดุหรืออุปกรณ์การแพทย์มาใช้ทดแทนการทำหน้าที่ของอวัยวะหรือส่วนของอวัยวะดังกล่าวนั้น เพื่อให้สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงอวัยวะนั้น ๆ ดังเดิม ตัวอย่างของวัสดุการแพทย์ที่นำมาใช้งานในลักษณะนี้ ได้แก่ ข้อเทียม หมอนรองกระดูกเทียม เครื่องล้างไตเทียม

 

เครื่องล้างไตเทียม ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไตวาย และไม่สามารถขจัดของเสียได้ตามธรรมชาติ

 

๒. ช่วยรักษาการบาดเจ็บของร่างกาย

      การบาดเจ็บของผู้ป่วยในบางลักษณะ เช่น การฉีกขาดของผิวหนังหรือการแตกหักของกระดูกร่างกายสามารถรักษาบาดแผลเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง แต่เพื่อให้การรักษานั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแพทย์จะใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการช่วยรักษาตัวเองของร่างกาย ตัวอย่างของวัสดุการแพทย์ที่ใช้เพื่อจุดประสงค์นี้ ได้แก่ ไหมเย็บแผล สำหรับยึดติดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ เฝือก แผ่นดามกระดูก และสกรูดามกระดูกสำหรับยึดติด ในบริเวณที่เกิดการแตกหักของกระดูก

๓. ปรับปรุงการทำงานของร่างกาย

      ในบางครั้งอวัยวะของมนุษย์อาจจะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเราก็ต้องการวัสดุการแพทย์ที่จะเข้าไปช่วยเสริมหรือปรับปรุงการทำงานของอวัยวะดังกล่าว ให้กลับมาทำงานได้ดีเช่นเดิมโดยไม่ต้องเปลี่ยนอวัยวะนั้น เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ สำหรับควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ เลนส์สัมผัสหรือคอนแทกเลนส์ (contact lens) ที่ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตา

๔. เพื่อเพิ่มความสวยงาม

      บางครั้งอาจไม่ได้นำวัสดุการแพทย์ไปใช้งานเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ แต่ใช้เกี่ยวกับการเพิ่มความสวยงามของผู้ที่ไม่พึงพอใจในอวัยวะที่ตนเองมีอยู่ในลักษณะที่เป็นการตกแต่งหรือเสริมแต่งให้อวัยวะต่าง ๆ มีความสวยงามมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เต้านมเทียม คางเทียม ดั้งจมูกเทียม

 

ดั้งจมูกเทียม
ดั้งจมูกเทียม

 

เต้านมเทียม
เต้านมเทียม

 

๕. ช่วยในการวิเคราะห์โรคและการรักษา

      ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคต่าง ๆ แพทย์ต้องมีการใช้วัสดุการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการทำงาน วัสดุการแพทย์เหล่านี้มักใช้งานได้ในระยะสั้น ๆ เช่น สายสวน สายล้าง ท่อยางต่าง ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow