Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสร้างระบบเตือนภัยและการให้ความรู้แก่ประชาชน

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
1,383 Views

  Favorite

การสร้างระบบเตือนภัยและการให้ความรู้แก่ประชาชน

      จากผลของพิบัติภัยคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรงและรวดเร็ว เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นสิ่งบ่งบอกให้ทราบว่าประเทศไทยและประเทศอื่นnๆ ที่มีชายฝั่งติดต่อกับทะเลอันดามัน อยู่ในข่ายที่อาจได้รับพิบัติภัยเช่นนี้อีกเมื่อใดก็ได้ในอนาคต การจะป้องกันมิให้เกิดคลื่นสึนามินั้นคงจะกระทำมิได้แต่การลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมีทางเป็นไปได้ ถ้าหากมีการใช้มาตรการที่ดีโดยอาจแยกมาตรการ ออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ การสร้างระบบเตือนภัยและการให้ความรู้แก่ประชาชน

การสร้างระบบเตือนภัย

      บรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับพิบัติภัยจากคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันมีความเห็นพ้องร่วมกันว่าควรมีการสร้างระบบเตือนภัยเหมือนอย่างในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จากผลการประชุมระหว่างประเทศที่ดำเนินไปหลายครั้งได้มีมติว่า ให้แต่ละประเทศสร้างระบบเตือนภัยของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ควบคุมใหญ่อยู่ในประเทศใดโดยเฉพาะและให้มีการแจ้งและแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกันอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดคลื่นสึนามิขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในทะเลอันดามัน ระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการจัดสร้างอย่างรีบด่วนประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องมือและมาตรการ ต่าง ๆ ดังนี้
ก. การติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ
      อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิประกอบด้วยฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ท้องทะเลและทุ่นลอยส่งสัญญาณที่พื้นผิวทะเล รวมเรียกว่า DART ย่อมาจาก Deep - ocean Assessment and Reporting of Tsunamis System ฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ท้องทะเลจะส่งสัญญาณข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในด้านความดันของน้ำทะเล การสั่นสะเทือนของเปลือกโลกและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นทะเล ไปยังทุ่นลอยบนพื้นผิวน้ำในขณะเดียวกันทุ่นลอยบนพื้นผิวน้ำก็จะเก็บวัดข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ความเร็วของกระแสลม อุณหภูมิ และความกดของอากาศ แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดเป็นสัญญาณผ่านดาวเทียมไปยังฐานรับส่งข้อมูลคลื่นสึนามิที่อยู่บนฝั่งต่อไป จากนั้นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ ทั้งด้านสมุทรศาสตร์ อุทกศาสตร์ และธรณีวิทยา จะประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับผ่านดาวเทียมโดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบเพื่อทำนายแนวโน้มของการเกิดคลื่นสึนามิ หากผลการวิเคราะห์พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดคลื่นสึนามิก็จะแจ้งไปให้ศูนย์เตือนภัยตามชายฝั่งต่าง ๆ ทราบทันทีเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นเตรียมตัวอพยพหนีภัยได้ทันเวลา

 

หอเตือนภัย
หอเตือนภัย (Warning Tower) ซึ่งติดตั้งไว้ที่บริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

 

เครื่องเตือนภัยคลื่นสึนามิ
เครื่องเตือนภัยคลื่นสึนามิ


ข. การวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเตือนภัยระหว่างหน่วยงานต่างๆ
      เพื่อให้การเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วจึงให้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดและการรับภัยคลื่นสึนามิระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการของนายกรัฐมนตรี ศูนย์ปฏิบัติการของหน่วยงาน ทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรมรวมทั้งให้มีกลไกในการดำเนินงานและการวินิจฉัยสั่งการในพื้นที่รับผิดชอบแต่ละแห่งโดยฉับไว
ค. การติดตั้งระบบเตือนภัยในท้องถิ่น
      ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อาจได้รับภัยจากคลื่นสึนามิให้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยแก่ประชาชน เช่น การส่งสัญญาณจากหอเตือนภัยที่สร้างไว้ตามจุดต่าง ๆ การออกข่าวด่วนทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ การติดตั้งป้ายบอกเส้นทางอพยพหนีภัยไปยังจุดปลอดภัยที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมทั้งคำแนะนำในการหนีภัยตลอดจนการวางแผนและซ้อมปฏิบัติการตามแผนของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับคลื่นสึนามิที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้

การให้ความรู้แก่ประชาชน

      การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องคลื่นสึนามิจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้มาก เมื่อเกิดปรากฏการณ์คลื่นสึนามิขึ้นในพื้นที่เนื่องจากประชาชนในท้องถิ่นจะมีการระมัดระวังตนและรู้วิธีการหนีภัยได้ทันการณ์
ความรู้เรื่องคลื่นสึนามิอาจสรุปได้เป็น ๒ ส่วน คือ ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและธรรมชาติของคลื่นสึนามิและความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้นในพื้นที่
ก. ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและธรรมชาติของคลื่นสึนามิ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลื่นสึนามิที่ควรทราบ มีดังนี้

  • คลื่นสึนามิเกือบทั้งหมดเกิดจากแผ่นดินไหวรุนแรงใต้ท้องทะเลหรือใกล้บริเวณชายฝั่งทะเล ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในระดับ ๘ ของมาตราริกเตอร์ขึ้นไป อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขึ้น ณ บริเวณจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แล้วแผ่ขยายตัวออกไปโดยรอบในทะเลและมหาสมุทรที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกัน
  • คลื่นสึนามิบางลูกมีขนาดใหญ่มากเมื่อเคลื่อนที่เข้ามาถึงบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งโดยอาจมีความสูงตั้งแต่ ๕ - ๖ เมตร จนถึงกว่า ๓๐ เมตร และสามารถไหลท่วมเข้าไปภายในบริเวณชายฝั่งได้ไกลถึงหลายร้อยเมตร
  • คลื่นสึนามิประกอบด้วยคลื่นจำนวนหลายลูกซัดเข้าสู่ฝั่งทุก ๆ ๑๐ - ๖๐ นาที โดยคลื่นลูกแรกอาจไม่ใช่คลื่นลูกใหญ่ที่สุดและภัยที่เกิดจากคลื่นสึนามิอาจกินเวลายาวต่อเนื่องกันหลายชั่วโมงนับจากคลื่นลูกแรกซัดเข้าสู่ฝั่งแล้ว
  • คลื่นสึนามิยังคงเคลื่อนตัวได้รวดเร็วมากถึงแม้จะซัดขึ้นบนฝั่งแล้ว ดังนั้นคนที่เผชิญหน้ากับคลื่นสึนามิซึ่งโถมขึ้นบนฝั่งจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ยาก
  • ในบางครั้งก่อนที่คลื่นสึนามิลูกแรกจะมาถึงบริเวณใกล้ชายฝั่งน้ำที่บริเวณชายฝั่งหรือหาดทรายจะลดระดับลงอย่างผิดปกติจนมองเห็นพื้นทะเลได้ เป็นปรากฏการณ์เตือนให้ทราบล่วงหน้าว่า คลื่นสึนามิกำลังเคลื่อนตัวมาใกล้จะถึงชายฝั่งแล้ว
  • คลื่นสึนามิมีพลังมากเพราะเป็นการเคลื่อนที่ของมวลน้ำขนาดใหญ่สามารถพัดพาก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักหลายตันรวมทั้งเรือ รถยนต์ และซากปรักหักพังอื่น ๆ ขึ้นมาบนฝั่ง ในระยะทางไกลหลายร้อยเมตร ทำลายอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้พังทลายลงได้และเมื่อคลื่นถอยกลับไปก็พัดพาเอาสิ่งต่าง ๆ บนบกลงไปในทะเลกลายเป็นขยะอยู่ที่ใต้ทะเลใกล้ชายฝั่ง
  • คลื่นสึนามิสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยไม่เกี่ยวข้องกับสภาพลมฟ้าอากาศ ดังนั้นแม้ในขณะที่ท้องฟ้าแจ่มใสก็อาจเกิดคลื่นสึนามิขึ้นได้
  • คลื่นสึนามิสามารถเคลื่อนที่ลึกเข้าไปจากบริเวณปากแม่น้ำหรือลำน้ำที่อยู่ติดต่อกับทะเลได้ภัยจากคลื่นสึนามิจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณชายฝั่งเท่านั้น

 

ลำดับเหตุการณ์การไหลบ่าของน้ำ
ลำดับเหตุการณ์การไหลบ่าของน้ำ เข้าท่วมบริเวณชายฝั่งอย่างรวดเร็ว เมื่อคลื่นสึนามิซัดเข้าสู่หาดกมลา จังหวัดภูเก็ต

 

ข. ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้นในพื้นที่ 

ในกรณีที่อยู่บนฝั่ง ให้ปฏิบัติตนดังนี้

  • หากอยู่ในโรงเรียนและได้ยินเสียงเรียกเตือนให้ฟังคำสั่งและคำแนะนำจากครูและผู้บริหารโรงเรียน
  • หากได้รับสัญญาณเตือนภัยการเกิดคลื่นสึนามิควรเคลื่อนย้ายครอบครัวและตนเองออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเร็วและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยรีบด่วน
  • หากอยู่ที่บริเวณชายหาดและรู้สึกได้ถึงแผ่นดินไหวตรงเท้า (เท้าสั่นสะเทือน) ให้รีบหนีไปอยู่บริเวณที่สูงและให้อยู่ห่างบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำหรือคลองที่อยู่ติดต่อกับทะเล
  • หากเกิดคลื่นสึนามิในบริเวณที่อยู่ห่างไกลออกไป อาจมีเวลาเหลือพอที่จะหาบริเวณที่สูงเพื่อหลบภัยหรือจุดที่ทางการจัดเตรียมไว้ให้ แต่ถ้าคลื่นสึนามิเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงเมื่อรู้สึกถึงแผ่นดินไหวจะมีเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีที่จะหาที่หลบภัย ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติการโดยรวดเร็วและฉับพลัน
  • หากอยู่บนอาคารสูงหลายชั้นที่มีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรงชั้นบนของอาคารก็สามารถใช้เป็นที่หลบภัยคลื่นสึนามิได้ หากไม่มีเวลาพอในการหาที่สูงอื่น ๆ เป็นที่หลบภัย

 

เครื่องหมายที่นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ
เครื่องหมายที่นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ เพื่อช่วยในการหนีภัยของประชาชน

 

ในกรณีที่อยู่ในเรือ ให้ปฏิบัติตนดังนี้

  • ให้นำเรือออกจากฝั่งไปยังบริเวณน้ำลึกนอกชายฝั่งทันที เพราะในบริเวณนั้นความสูงของคลื่นและพลังทำลายยังมีไม่มาก
  • ติดต่อท่าเรือโดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยราชการชายฝั่งอย่างรวดเร็ว เพื่อรับฟังสถานการณ์และคำแนะนำต่าง ๆ รวมทั้งแจ้งจุดที่เรือลอยลำอยู่เพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีที่ต้องการ
  • อาจเกิดคลื่นสึนามิหลายลูกต่อเนื่องกันเป็นระลอก ดังนั้นก่อนกลับเข้าฝั่งให้ติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ชายฝั่ง เพื่อทราบสถานการณ์และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าเรือหรือเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow