Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บทสรุป

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
198 Views

  Favorite

บทสรุป

เพลงพื้นบ้านเป็นผลงานที่สร้างสรรค์มาจากความคิดอิสระของชาวบ้าน มิได้ผลิตงานเพลงเป็นอาชีพ แต่จะขับลำร้องเพลงกัน ในระหว่างเวลาทำงานอาชีพหลัก คือ การทำไร่ ทำนา เนื่องจากสังคมไทยดั้งเดิม ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำมาหากินอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการยังชีพ คนไทยจึงคิดสร้างพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเจริญงอกงาม ที่เห็นได้ชัดที่สุด ได้แก่ พิธีกรรมในฤดูเก็บเกี่ยว ดังนั้น เพลงที่ใช้ร้องในฤดูกาลเก็บเกี่ยวจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการฉลองความอุดมสมบูรณ์ หลังจากเสร็จสิ้นงานหนักในไร่นา มาเป็นเวลาเกือบปี เมื่อถึงฤดูร้อนซึ่งเป็นระยะเวลาหลังเก็บเกี่ยวพืชผล ก็เป็นเวลารื่นเริง มีเพลงที่ร้องเล่นในเทศกาลสงกรานต์ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาด้วย

เพลงสงฟางเป็นเพลงที่คิดขึ้นร้องเล่นกันในฤดูเก็บเกี่ยว
เพลงสงฟางเป็นเพลงที่คิดขึ้นร้องเล่นกันในฤดูเก็บเกี่ยว

 

เพลงพื้นบ้านเป็นสมบัติของชาวบ้าน แสดงให้เห็นภูมิปัญญาการใช้ภาษาของคนไทย โดยใช้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทางความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นแหล่งบันดาลใจในการสร้างภาษา เพื่อความสนุกเพลิดเพลิน และในทางอ้อมก็เป็นสื่อในการอบรมสั่งสอน โดยสอดแทรกคำสอนทางศาสนา ค่านิยม หรือกฎเกณฑ์ ที่ควรปฏิบัติในสังคม ใช้ระบายความในใจที่มีต่อธรรมชาติแวดล้อมอีกด้วย ในยุคก่อนที่จะมีวิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เพลงพื้นบ้านก็ทำหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชนกระจายข่าวสารในสังคม เช่น เพลงร่อยภาษา เชื้อเชิญให้คนร่วมทำบุญ เป็นการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม แต่ปัจจุบันบทบาทเหล่านั้นหมดไปจากสังคมไทยแล้ว เนื่องจาก เกิดระบบสื่อสาร และเครื่องมือใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งเข้ามาทดแทน โดยทำหน้าที่ได้รวดเร็วกว่า และทันสมัยกว่า ประกอบกับวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่เกษตรกรรมลดลง ในขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจน วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมไทยเกือบทุกด้าน เกิดเพลงและดนตรีแบบสากลหลากหลายรูปแบบ เป็นความบันเทิงสมัยใหม่ ที่คนไทยสามารถเลือกสรรที่จะฟังอย่างเพลิดเพลินได้ โดยไม่มีข้อจำกัด ขณะที่พ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านค่อยๆ ตายจากไปตามอายุขัย และแทบจะไม่มีผู้สืบทอดเลยในชุมชนแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบัน เพลงพื้นบ้านยังมีจัดแสดงร้องเล่นให้ฟังและชมกันได้ ในบางโอกาส ซึ่งก็เป็นเพียงการ"ฟื้นอดีต" และเป็นความพยายาม ที่จะสืบทอด "มรดกภูมิปัญญา" แขนงนี้ให้คงอยู่ในฐานะ "สมบัติวัฒนธรรมของชาติ" สืบไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow