Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพลงพื้นบ้าน

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
202,439 Views

  Favorite

 

เด็กเกือบทุกคนคงเคยฟังเพลง บางคนก็ชอบร้องเพลง เพลงในปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น เพลงสตริง เพลงสากล เพลงลูกทุ่ง แต่คงมีเด็กเพียงบางคนเท่านั้น ที่เคยได้ยินได้ฟังเพลงประเภทหนึ่งที่ขับร้องกันในกลุ่มชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น เพลงประเภทนี้ เรียกว่า เพลงพื้นบ้าน

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม34

 

เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงของชาวบ้านที่จดจำสืบทอดกันมาแบบปากเปล่า ใช้ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง โดยใช้คำที่ง่ายๆ เน้นเสียงสัมผัสและจังหวะการร้องเป็นสำคัญ เพลงพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะ คือเป็นเพลงที่ชาวบ้านอาศัยการฟังและจำ ไม่มีการจดเป็นตัวหนังสือ เนื้อร้องใช้คำง่ายๆ ใช้การปรบมือหรือใช้เครื่องประกอบจังหวะง่ายๆ ที่สำคัญต้องมีเสียงร้องรับของลูกคู่ ทำให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้น

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม34

 

จากประวัติของเพลงพื้นบ้าน พบหลักฐานว่า เพลงเรือ และเพลงเทพทอง มีการเล่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยธนบุรี ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์มีเพลงอื่นๆ อีก เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ เพลงสักวา ต่อมา ในรัชกาลที่ ๗ เพลงพื้นบ้านก็ยังเป็นที่นิยมร้องทั่วไป จนเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลควบคุมการเล่นเพลงพื้นบ้าน และสนับสนุนการรำวง ทำให้ชาวบ้านร้องเพลงพื้นบ้านน้อยลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคนั้น

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม34

 

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน ในที่นี้แบ่งตามเขตพื้นที่เป็น ๔ ภาค ดังนี้

๑. เพลงพื้นบ้านภาคกลาง  

ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่หนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบกัน มีคนร้องนำเพลงฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เพลงพวงมาลัย เพลงระบำ เพลงเหย่อย เพลงแห่นาค เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงขอทาน เพลงสำหรับเด็ก

๒. เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ 

ผูกพันอยู่กับชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เพลงที่ยังร้องเล่นอยู่ในหลายจังหวัดมี ๓ ประเภท ประเภทแรก คือ เพลงสำหรับเด็ก มีเพลงกล่อมเด็ก และเพลงร้องเล่น ประเภทที่ ๒ คือ จ๊อย เป็นเพลงที่ชายหนุ่มใช้ร้องเกี้ยวสาวในตอนกลางคืน และประเภทที่ ๓ คือ ซอ เป็นเพลงที่ชายและหญิงร้องโต้ตอบกัน หรือร้องเป็นเรื่องนิทาน

๓. เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน 

แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ร้องเพลงหมอลำ และลำเซิ้ง กลุ่มที่ ๒ เป็น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย ร้องเพลงเจรียง เป็นภาษาเขมร และกลุ่มที่ ๓ เป็นเพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช ร้องเพลงโคราช

๔. เพลงพื้นบ้านภาคใต้  

มีจำนวนไม่มากนัก แต่หลายเพลงรักษาการร้องดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี เช่น เพลงเรือ เล่นในงานชักพระหรือแห่พระ ชายและหญิงร้องโต้ตอบกันในเรือ เกี้ยวหรือหยอกเย้ากัน และยกเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาร้อง เพลงบอก เป็นเพลงที่เล่นในเทศกาลสงกรานต์ เดินไปร้องตามบ้านเพื่ออวยพรปีใหม่และยกย่องเจ้าของบ้าน เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง เป็นเพลงกล่อมเด็กให้นอน เนื้อเพลงร้องขึ้นต้นว่า "ฮาเอ้อ" และลงท้ายวรรคแรกว่า "เหอ" นอกจากเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับอย่างมีความสุขแล้ว ยังแทรกคำสอนให้เด็กเป็นคนดีด้วย

 

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม34

 

เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงของท้องถิ่นที่ชาวบ้านจดจำสืบทอดกันมาแบบปากเปล่า ใช้ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกโดยใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ แต่ใช้โวหารหรือการเปรียบเทียบที่คมคาย เน้นเสียงสัมผัส และจังหวะการร้องเป็นสำคัญ 

ประวัติของเพลงพื้นบ้าน   

จากหลักฐานสมัยอยุธยา กล่าวถึงเพลงเรือ และเพลงเทพทอง ซึ่งพบว่ามีการเล่นเป็นมหรสพสมโภชมาจนถึงสมัยธนบุรี ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เพลงพื้นบ้านที่ใช้เล่นเป็นมหรสพสมโภชในงานฉลองต่างๆ มี ๒ ชนิด คือ เพลงปรบไก่ และเพลงเทพทอง จนถึงรัชกาลที่ ๓ ปรากฏหลักฐานในวรรณคดีที่กล่าวถึงงานลอยกระทงว่า มีการเล่นสักวา เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ และดอกสร้อย

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ชาวบ้านนิยมเพลงแอ่วลาวกันมาก จึงทรงออกประกาศห้ามเล่นเพลงแอ่วลาว และให้ฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านของไทย เช่น เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ เพลงสักวา เพลงไก่ป่า เพลงเกี่ยวข้าว ในรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๗ เพลงพื้นบ้านยังเป็นมหรสพ ที่ได้รับความนิยมสืบเนื่องมา จนมาถึงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ควบคุมการละเล่นพื้นบ้านและสนับสนุนการรำวงให้แพร่หลาย ทำให้เพลงพื้นบ้านดั้งเดิมค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การร้องเล่นเพลงในสมัยรัชกาลที่ ๕
การร้องเล่นเพลงในสมัยรัชกาลที่ ๕

 

ลักษณะของเพลงพื้นบ้าน  

เพลงพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นงานของกลุ่มชาวบ้านที่สืบทอดจากปากสู่ปาก อาศัยการฟังและจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพลงที่ไม่มีต้นกำเนิดที่แน่นอน เนื้อร้องใช้คำ สำนวนโวหาร และความเปรียบง่ายๆ ที่ชาวบ้านใช้ ไม่มีศัพท์ยากที่ต้องแปล ส่วนทำนอง จำนวนคำ และสัมผัสไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ให้ความสำคัญกับเสียง และจังหวะการร้องมากกว่า ชาวบ้านร้องและเล่นเพลงพื้นบ้าน โดยใช้การปรบมือหรือมีเครื่องประกอบจังหวะง่ายๆ ได้แก่ กรับ ฉิ่ง กลอง บางครั้งก็ไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีชนิดใดเลย นอกจากเสียงเอื้อน บางครั้งนำอุปกรณ์ที่ใช้ทำกิจกรรมอยู่ มาประกอบการร้อง เช่น เพลงเกี่ยวข้าวก็ใช้รวงข้าวและเคียว สิ่งสำคัญคือ การอาศัยเสียงร้องรับ ร้องกระทุ้งของลูกคู่ เพราะเพลงพื้นบ้านเน้นความสนุกสนานเป็นหลัก

เพลงรำพาข้าวสาร เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก หน้ากฐินและผ้าป่า
เพลงรำพาข้าวสาร เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก หน้ากฐินและผ้าป่า

 

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน  

แบ่งออกได้หลายประเภท ได้แก่ แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรม โอกาสที่ร้อง จุดประสงค์ในการร้อง จำนวนผู้ร้อง ความสั้นยาวของเพลง เพศของผู้ร้อง และวัยของผู้ร้อง ในที่นี้ขอกล่าวถึงเพลงพื้นบ้านโดยแบ่งตามเขตพื้นที่เป็นภาค ๔ ภาค คือ

๑. เพลงพื้นบ้านภาคกลาง 

ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่คนหนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน มักร้องกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นวง ประกอบด้วยผู้ร้องนำเพลงฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ที่เรียกว่า พ่อเพลง แม่เพลง ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ หรือการใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะง่ายๆ เช่น กรับ ฉิ่ง แบ่งได้ ๕ กลุ่ม คือ

  • เพลงที่นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก หน้ากฐินและผ้าป่า และในช่วงเทศกาลออกพรรษา เช่น เพลงเรือ เพลงรำพาข้าวสาร เพลงร่อยภาษา
  • เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลเก็บเกี่ยว เป็นเพลงที่ร้องเล่นในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าวและนวดข้าว เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เพลงสงคอลำพวน เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน
  • เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงพิษฐาน เพลงระบำ เพลงระบำบ้านไร่ เพลงเหย่อย เพลงเข้าผี
  • เพลงที่ใช้ร้องเวลามารวมกันทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง เช่น เพลงโขลกแป้ง เพลงแห่นาคหรือสั่งนาค
  • เพลงที่ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงขอทาน เพลงสำหรับเด็ก
การขับซอ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านของภาคเหนือ
การแสดงหุ่นกระบอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัย (มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤตเอื้อเฟื้อภาพ)

 

๒. เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ   

ชีวิตของผู้คนในภาคเหนือ หรือชาวล้านนา ผูกพันอยู่กับเสียงเพลงตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ ที่ยังคงรู้จักและมีร้องเล่นกันอยู่บางแห่งจนถึงปัจจุบัน มี ๓ ประเภท คือ

  • เพลงสำหรับเด็ก ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก (เพลงอื่อ ชา ชา) และเพลงร้องเล่น เช่น เพลงสิกก้องกอ เพลงสิกจุ่งจา เพลงร้องเล่นอื่นๆ
  • จ๊อย เป็นเพลงพื้นบ้านที่เกิดจากประเพณีการพบปะพูดคุยเกี้ยวพาราสีในตอนกลางคืน เรียกว่า แอ่วสาว ร้องระหว่างที่หนุ่มๆ เดินไปเยี่ยมบ้านสาวที่หมายปองอยู่ การร้องจ๊อยเป็นการจำบทร้องและทำนองสืบต่อกันมา โดยไม่ต้องฝึกหัด อาจมีดนตรีประกอบหรือไม่มีก็ได้
  • ซอ เป็นเพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่ชายกับหญิงขับร้องโต้ตอบกัน ผู้ร้องเพลงซอ หรือขับซอ เรียกว่า ช่างซอ เริ่มจากการร้องโต้ตอบกันเพียงสองคน ต่อมา พัฒนาเป็นวงหรือคณะ และรับจ้างเล่นในงานบุญ มีดนตรีประกอบ ได้แก่ ปี่ ซึง และสะล้อ
การเล่นเพลงโคราช เป็นเพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช มีเอกลักษณ์คือ ใช้ภาษาถิ่นโคราชในการร้องโต้ตอบกัน ปัจจุบันพัฒนาเป็นคณะหรือเป็นวง
การเล่นเพลงโคราช เป็นเพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช มีเอกลักษณ์คือ ใช้ภาษาถิ่นโคราชในการร้องโต้ตอบกัน ปัจจุบันพัฒนาเป็นคณะหรือเป็นวง

 

๓. เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน  

ภาคอีสานเป็นแหล่งรวมกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง ๓ กลุ่ม จึงมีเพลงพื้นบ้านแบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

  • เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสาน เพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว มี ๒ ประเภท คือ หมอลำ และลำเซิ้ง
  • เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย) ใช้ภาษาเขมร และภาษาส่วย (กูย) มีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า เจรียง ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ เจรียงในวงกันตรึม มีวงดนตรีประกอบด้วย ปี่ออ ปี่ชลัย กลองกันตรึม ฉิ่ง ฉาบ กรับ ร้องเนื้อหาให้เข้ากับงานหรือตามที่ผู้ฟังขอ ส่วน เจรียงเป็นตัวหลัก เล่นในวันเทศกาล เช่น เจรียงตรุษ เจรียงนอรแกว (เพลงร้องโต้ตอบชาย-หญิง)
  • เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช คือ เพลงโคราช ในปัจจุบันพัฒนาจากเพลงพื้นบ้านมาเป็นคณะเป็นวง มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างแสดงในงานบุญ งานมงคล งานแก้บน เนื้อร้องเป็นการโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ใช้ปรบมือตอนจะลงเพลง แล้วร้อง "ไช ยะ"
การร้องเพลงบอกของภาคใต้ ในเทศกาลสงกรานต์หรืองานบุญต่างๆ
การร้องเพลงบอกของภาคใต้ ในเทศกาลสงกรานต์หรืองานบุญต่างๆ

๔.  เพลงพื้นบ้านภาคใต้  

เพลงพื้นบ้านภาคใต้มีจำนวนไม่มากนัก  แต่มีหลายเพลงที่ยังคงรักษารูปแบบการร้องดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี  เช่น 

  • เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ใช้เล่นในเรือ นิยมเล่นในช่วงเดือน ๑๑ - เดือน ๑๒ หลังออกพรรษาแล้ว ในงานประเพณีชักพระหรือแห่พระ มีเรือเพลงฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร้องโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทั้งในเชิงเกี้ยวพาราสี โต้คารมและกระเซ้าเย้าแหย่กัน มักยกเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสภาพแวดล้อม มาสอดแทรกในเนื้อร้องด้วย
  • เพลงบอก เป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อบอกความหรือประกาศวันสงกรานต์ อาจเล่นในงานบุญต่างๆ หรืองานประจำปีก็ได้ ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกัน ๕ - ๑๐ คน เครื่องดนตรีมีขลุ่ย ทับ ปี่ ฉิ่ง กรับ หรือเท่าที่จะหาได้ เดินร้องเพลงไปตามหมู่บ้าน เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินเสียงเพลงก็จะเชื้อเชิญขึ้นบนบ้าน เลี้ยงอาหาร หมากพลูด้วยความยินดี เพราะคณะเพลงบอกจะร้องอวยพรปีใหม่ และสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน
  • เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง เป็นเพลงที่ใช้ร้องกล่อมเด็กให้นอน ลักษณะคำประพันธ์ ๑ บท มี ๘ วรรค ในแต่ละวรรคมี ๔ - ๑๐ คำ เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้องส่วนมากมักร้องเกริ่นนำด้วยคำว่า "ฮาเอ้อ" และลงท้ายวรรคแรกด้วยคำว่า "เหอ" ส่วนเนื้อหาสาระนอกจากเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับอย่างมีความสุขแล้ว หลายบทยังสอดแทรกคำสอนในการประพฤติปฏิบัติตน หรือปลูกฝังคุณธรรมแก่เยาวชน และสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

2
ประวัติความเป็นมาของเพลงพื้นบ้าน
ในสมัยอยุธยา มีหลักฐานกล่าวถึงเพลงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการกล่าวถึงเพลงชนิดหนึ่งเรียกว่า เพลงเรือ เป็นเพลงที่ชายหญิงร้องเล่นในเรือ ซึ่งประกาศมิให้มาร้องในท่าน้ำสระแก้
6K Views
3
ลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านเป็นบทร้อยกรองท้องถิ่นที่จดจำสืบต่อกันมา และนำมาร้อง มาขับลำ เพื่อความบันเทิง เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่แพร่หลายในกลุ่มชาวบ้าน มีลักษณะเฉพาะที่สรุปได้ดังนี้ ๑.เพลงพื้นบ้านเป็นงานของกลุ่มชาวบ้านสืบทอดจากปากสู่ปาก อาศัย
9K Views
4
ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวิธีการจัดแบ่งดังนี้ แบ่งตามเขตพื้นที่ เป็นการแบ่งตามสถานที่ที่ปรากฏเพลง อาจแบ่งกว้างที่สุดเป็นภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน เพลงพื้นบ้านภาคใต้ หรืออ
24K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow