Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
1,620 Views

  Favorite

ารเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๗

      เดิมเคยเชื่อกันว่าในบริเวณมหาสมุทรอินเดียคงจะไม่มีปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่รุนแรงเกิดขึ้น เพราะถึงแม้ว่าทางด้านตะวันออกของทะเลอันดามันจะเป็นแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurasian Plate) และมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็ไม่เคยมีคลื่นสึนามิที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เกิดคลื่นสึนามิครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์มีผู้คนเสียชีวิตถึงประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ คน นับเป็นภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๓ ของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้โดยภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๑ เกิดจากพายุไซโคลนพัดผ่านประเทศบังกลาเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน และภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๒ เกิดจากแผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒๕๕,๐๐๐ คน

 

แผนที่แสดงความสูงต่ำของแผ่นดิน
แผนที่แสดงความสูงต่ำของแผ่นดินในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงแนวที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียมุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ในทะเลอันดามัน 
ที่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ และเกาะสุมาตรา

 

      คลื่นสึนามิดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นที่จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของหัวเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซียแล้วเคลื่อนตัวแผ่ขยายไปทั่วทะเลอันดามันจนถึงชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียและเกาะศรีลังกาบางส่วนของคลื่นยังเคลื่อนตัวไปถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาด้วยรวมประเทศที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิและมีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น ๑๑ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ โซมาเลีย แทนซาเนีย และเคนยา ในกรณีของประเทศไทยพิบัติภัยจากคลื่นสึนามิได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพราะมีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากใน ๖ จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุดเป็นพิบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วโดยไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนจึงไม่ได้มีการระมัดระวังและป้องกันไว้ล่วงหน้า
ลำดับเหตุการณ์ของการเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มีดังนี้

  • เวลา ๐๗.๕๙ น. ตามเวลาในประเทศไทยได้เกิดแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตกทางตอนเหนือของหัวเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซียที่ละติจูด ๓.๓ องศาเหนือ ลองจิจูด ๙๕.๘ องศาตะวันออก ลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีขนาดความรุนแรง ๙.๐ ตามมาตราริกเตอร์ นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันและรุนแรงมากเป็นอันดับ ๕ ของโลก นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ดังแสดงในตารางข้างล่างนี้

 

ตารางการเกิดแผ่นดินไหว

 

  • หลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นานได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตราในจังหวัดอาเจะห์ ความสูงและความรุนแรงของคลื่นทำให้เมืองและชุมชนตามชายฝั่งถูกทำลายอย่างกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน บริเวณที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่เมืองบันดาอาเจะห์ (Banda Ajeh) ซึ่งเป็นเมืองหลักของจังหวัดรองลงมาคือที่เมืองเมอลาโบะห์ (Meulaboh) ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลอยู่ไปทางใต้ของเมืองบันดาอาเจะห์ นับเป็นการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย
  • เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. คลื่นสึนามิได้เริ่มเคลื่อนตัวมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหายในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของประเทศมาเลเซียและภาคใต้ของไทย มีผู้เสียชีวิตที่เกาะปีนังในประเทศมาเลเซีย ประมาณ ๗๐ คน และใน ๖ จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง รวมกัน ประมาณ ๕,๔๐๐ คน
  • คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวต่อขึ้นไปทางเหนือจนถึงชายฝั่งของประเทศพม่าและประเทศบังกลาเทศซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๗๐๐ กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีของประเทศพม่าประมาณ ๖๐ คน ส่วนในประเทศบังกลาเทศมีรายงานผู้เสียชีวิต ๒ คน
  • คลื่นสึนามิส่วนที่เคลื่อนตัวจากเกาะสุมาตรามุ่งไปทางตะวันตกเคลื่อนที่ผ่านหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศอินเดียกลางทะเลอันดามัน จากนั้นเคลื่อนตัวต่อไปถึงชายฝั่งของรัฐทมิฬนาฑูและทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียรวมทั้งบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศศรีลังกาซึ่งเป็นเกาะใหญ่ทางใต้ของอินเดียมีผู้เสียชีวิตที่หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ประมาณ ๙๐๐ คน และที่รัฐทมิฬนาฑู ประมาณ ๘,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองนาคาปัตตินัม (Nagapattinum) ส่วนในประเทศศรีลังกามีผู้เสียชีวิตประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน
  • ต่อจากประเทศศรีลังกาคลื่นสึนามิได้เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรอินเดียไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียห่างจากเกาะศรีลังกาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร เนื่องจากประเทศนี้มีภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะปะการังเตี้ย ๆ จึงได้รับความเสียหายมาก มีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ ๘๒ คน
  • คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งยังคงเคลื่อนตัวต่อไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาซึ่งอยู่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหว ประมาณ ๕,๕๐๐ กิโลเมตร แม้จะอ่อนกำลังบ้างแล้วแต่ก็ทำความเสียหายให้แก่บริเวณชายฝั่งของประเทศโซมาเลียและประเทศเคนยาได้มากพอสมควร มีผู้เสียชีวิตที่ประเทศโซมาเลียประมาณ ๓๐๐ คน และที่ประเทศเคนยา ๑ คน

      นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่าคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันครั้งนี้  มีสาเหตุมาจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียขยับตัวเลื่อนมาทางทิศตะวันออกและมุดลงใต้ขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเลื่อน (fault) ขนาดใหญ่เป็นแนวยาวตั้งแต่ทางตะวันออกของพม่าและตะวันตกของไทยลงไปตามแนวของหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์จนถึงทางเหนือของเกาะสุมาตราและเนื่องจากแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากถึงระดับ ๙.๐ ตามมาตราริกเตอร์ จึงเกิดเป็นคลื่นสึนามิแผ่ขยายออกไปโดยรอบในทะเลอันดามันและบางส่วนของมหาสมุทรอินเดียดังกล่าวแล้ว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow