Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

องค์การสหประชาชาติ และองค์การในเครื่อ

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
5,100 Views

  Favorite

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ

      งานบางอย่างเราทำเองคนเดียวได้  ข้อขัดข้องบางอย่างเราใช้ความรู้ความคิดแก้ไขเองได้ตามลำดัง ตัวอย่างเช่น ตอนเช้าเราตื่นนอนแล้วอาบน้ำแปรงฟัน แต่งตัวไปโรงเรียน ถ้ารองเท้าเปื้อนโคลนเพราะเมื่อวานนี้ฝนตก ถนนเปียกเฉอะแฉะ เราทำความสะอาดรองเท้าของเราเองได้  งานบางอย่างเราไม่อาจทำตามลำพังได้ ข้อขัดข้องบางอย่างแม้มีความรู้ความคิดแต่ก็ไม่อาจแก้ไขได้โดยลำพังเพราะงานนั้นยากและมีปริมาณมากเกินกว่าบุคคลเพียงคนเดียวจะทำได้หรือแก้ไขได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือต้องรวมกำลังกันงานจึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ตัวอย่างเช่น การเล่นกีฬาวอลเลย์บอลหรือฟุตบอล เราต้องเล่นร่วมกันเป็นทีม ๆ การจัดงานรื่นเริงในวันปิดภาคเรียนนักเรียนทุกคนต้องร่วมมือกันทำงานตามที่ตกลงกันไว้ว่าใครจะทำหน้าที่อะไร

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ

 

      การที่นักเรียนหลายคนไม่มีอาหารกลางวันรับประทาน อาจารย์ใหญ่คิดแก้ปัญหานี้โดยจัดให้มีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงแนะนำครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนก็ช่วยกันปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดไก่ไว้เป็นอาหาร คนที่มีรายได้พอจะซื้ออาหารกลางวันได้โดยลำพังก็ต้องร่วมกับผู้ไม่มีรายได้เพื่อทำงานตามโครงการให้ได้ผลดีที่สุด ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของการทำงานของนักเรียนคนเดียวและหลายคนของครูและนักเรียนในโรงเรียนเดียวกันร่วมมือกันทำงานที่ต้องผนึกกำลังเข้าด้วยกันเพื่อให้งานที่ยาก ซับซ้อนและยิ่งใหญ่เกินกว่าบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวจะทำให้สำเร็จได้   ในทำนองเดียวกันงานของชุมชนและสังคมที่ใหญ่กว่าโรงเรียนตามลำดับ คือ ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ ทวีป และโลก บางอย่างแต่ละชุมชนและสังคมดำเนินการเองได้ บางอย่างต้องร่วมมือกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้ที่มีความร่ำรวยมีทรัพยากรมากกว่า มีความรู้ความชำนาญมากกว่าก็ช่วยเหลือผู้ที่มีน้อยกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนในสังคมโลกมีความสุขเสมอกันไม่ต้องแก่งแย่งเอาเปรียบ ทะเลาะวิวาท ทำสงครามเพื่อแย่งชิงสิ่งที่ต้องการจากผู้อื่น

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ

 

      ในประวัติศาสตร์ของโลกมีสงครามเกิดขึ้นหลายร้อยครั้งเพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน ดินแดน เพื่อขยายอำนาจของผู้ที่ต้องการเป็นใหญ่หรือเพียงเพื่อทำลายสังคมที่มีความคิด ความเชื่อ ภาษา และขนบประเพณีแตกต่างกัน สงคราม คือ การทำลายล้างบ้านเมืองถูกทำลายมีซากปรักหักพังให้เห็นอยู่เป็นหลักฐาน ผู้คนนับล้านถูกฆ่าถูกกวาดต้อนออกไปจากถิ่นฐานเดิม สงครามโลกเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ - พ.ศ.๒๔๖๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔- ค.ศ.๑๙๑๘) สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ.2482 (ค.ศ.1939) และยุติลง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ (ค.ศ.๑๙๔๕) ทำความพินาศย่อยยับแก่บุคคล และสังคมทั่วทุกแห่งในโลก 

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ


      ดังนั้นประเทศต่าง ๆ ที่เป็นฝ่ายชนะสงครามจึงร่วมกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ประกอบด้วยนานาประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก  องค์การนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ รวมกำลังกันป้องกันสงครามมิให้เกิดขึ้นอีกและช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศที่ประสบความพินาศทุกด้านให้กลับเข้าสู่ความสงบสุข ปราศจากความยากจนและความหวาดกลัวภัยสงครามตลอดไป มีการลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ.๑๙๔๕) กฎบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ปีเดียวกัน องค์การจึงกำหนดให้วันที่ ๒๔ ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสหประชาชาติ

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ

 

 

 

      องค์การสหประชาชาติเกิดขึ้นเพราะประเทศที่ชนะสงครามเห็นว่าสงครามเป็นการกระทำที่โหดร้ายทำลายล้างมนุษยชาติและสรรพสิ่ง  เพื่อความเจริญที่มนุษย์สร้างสมมาจึงจำเป็นต้องผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันมิให้สงครามเกิดขึ้นอีก ต้องร่วมมือกันหาทางยุติข้อขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธีในขณะเดียวกันต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟูประเทศที่ประสบความเสียหายระหว่างสงคราม ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากและต้องพลัดถิ่นที่มีจำนวนมหาศาลอย่างรีบด่วน การฟื้นฟูสภาพตกต่ำและพังพินาศอย่างที่สุดทั่วโลกจะทำได้ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ประเทศที่ชนะสงครามจึงได้จัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น มีสมาชิกตอนเริ่มก่อตั้ง ๕๑ ประเทศ ขณะนี้มีสมาชิก ๑๗๘ ประเทศ  ภารกิจหลักขององค์การสหประชาชาติ คือ ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพแห่งโลก ระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธีดำเนินการให้ลดอาวุธสงครามนำข้อพิพาทระหว่างประเทศเข้าพิจารณาในศาลโลกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คุ้มครองและสร้างความตระหนักในสิทธิมนุษยชน ตรากฎหมายระหว่างประเทศที่เกื้อกูลต่อการสร้างสันติภาพและเสรีภาพในโลก

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
การทำให้ชีวิตของคนในโลกมีคุณภาพสูงขึ้น

 

      องค์การสหประชาชาติประกอบด้วยหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ คือ ที่ประชุมสมัชชา สำนักงานเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) คณะมนตรีเศรษฐกิจ และสังคม (Economic and Social Council) คณะมนตรีทรัสตี (Trusteeship Council) ศาลโลก (International Court of Justice) หน่วยงานและองค์การชำนัญพิเศษต่าง ๆ หลายแผนงาน กองทุนและองค์การ  หน่วยงานและองค์การชำนัญพิเศษที่มีการปฏิบัติงานในประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งรวมเรียกว่า ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมีที่ตั้งสำนักงานภาคพื้นนี้โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีอยู่ ๙ แผนงานและกองทุนและคณะกรรมการ คือ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก กองทุนสหประชาชาติเพื่อสงเคราะห์เด็ก แผนงานสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา แผนงานสห ประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม กองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร แผนงานอาหารแห่งโลก สำนักงานผู้ว่าการใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงคราม แผนงานสหประชาชาติเพื่อควบคุมยาเสพติดในนานาประเทศและกองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี

      ชื่อของแผนงานและกองทุนบ่งบอกภารกิจหลักชัดเจน กองทุนสหประชาชาติเพื่อสงเคราะห์เด็กเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นหลังจากปีจัดตั้งองค์การสหประชาชาติเพียงปีเดียว คือ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ.๑๙๔๖) ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเด็กกำพร้าสงครามเป็นเรื่องที่ต้องจัดการช่วยเหลือโดยรีบด่วน ต่อจากนั้นอีกหนึ่งปีก็มีคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกรับผิดชอบในการฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตในประเทศด้อยพัฒนาและที่กำลังพัฒนา  สำนักงานผู้ว่าการใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ (ค.ศ.๑๙๕๑) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานนี้ได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามในประเทศเขมร ลาว และเวียดนาม ให้ไปอยู่ประเทศอื่นและช่วยผู้สมัครใจกลับภูมิลำเนาให้กลับคืนประเทศของตนเป็นจำนวนหลายแสนคน

 

องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครื่อ
การทำให้ชีวิตของคนในโลกมีคุณภาพสูงขึ้น

 

      องค์การชำนัญพิเศษเป็นองค์การปฏิบัติภารกิจเฉพาะด้านให้ความช่วยเหลือทางวิชาการให้คำแนะนำจัดฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่าง ๆ จัดหาเครื่องอุปกรณ์เพื่อใช้งานเฉพาะด้าน องค์การชำนัญพิเศษที่มีการปฏิบัติภารกิจในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมีอยู่ ๗ องค์การ คือ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ สหพันธ์การไปรษณีย์สากล องค์การอนามัยโลกและองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติองค์การที่นับว่าเก่าแก่ที่สุด คือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ ๑ และได้เข้าเป็นองค์การของสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ปีแรกนับจากการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ  องค์การนี้มีบทบาทมากในการพัฒนาฝีมือผู้ใช้แรงงาน ดูแลด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน หาวิธีประนีประนอมข้อขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติรับผิดชอบในการจัดให้ทุกคนในโลกได้รับการศึกษาอย่างน้อยในระดับประถมศึกษาให้มีโอกาสศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ช่วยเหลือในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในการพัฒนาสื่อสารมวลชน พัฒนาหนังสือและสื่อความรู้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่  องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศก็เป็นองค์การหนึ่งที่ตั้งขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ องค์การนี้มีบทบาทมากในการทำให้การเดินทางโดยทางอากาศมีความสะดวกสบายและปลอดภัย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow