Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การปลูก ดูแลรักษา และการลอกเส้นใย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
1,514 Views

  Favorite

 

การปลูกปอคิวบาในนาข้าว
การปลูกปอคิวบาในนาข้าว
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ก. ฤดูปลูก 


ปอเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสงมาก ซึ่งกระตุ้นให้ปอออกดอกในช่วงเวลาของวันสั้น ปอกระเจาเริ่มออกดอกราวเดือนสิงหาคม ปอคิวบาออกดอกประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม สำหรับปอแก้วช่วงแสงในเวลากลางวัน มีผลให้ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม การออกดอกของปอทำให้การเจริญเติบโตทางลำต้นสิ้นสุด การสร้างผลิตผลของเส้นใยก็สิ้นสุดลงด้วย การปลูกปอจึงจำเป็นต้องให้ปอเจริญเติบโตทางลำต้นยาวนานที่สุด เพื่อจะให้ได้ผลิตผลเส้นใยสูงสุด ตามปกติเกษตรกรจะเริ่มปลูกปอ เมื่อฝนเริ่มตกในระยะแรก ประมาณเดือนเมษายน หรืออย่างช้าเดือนพฤษภาคม การปลูกปอช้าไปกว่านี้ จะทำให้ปอมีโอกาสเจริญเติบโตทางลำต้นน้อยลง เป็นผลให้ปลูกปอได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง

 

การปลูกปอแบบหยอดตามรอยไถ
การปลูกปอแบบหยอดตามรอยไถ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17



ข. การเลือกพื้นที่ปลูกและการเตรียมดิน

ปอแต่ละชนิดมีความต้องการแตกต่างกัน สภาพพื้นที่จึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของปอมาก ปอแก้วเป็นปอที่สามารถเจริญเติบโตได้ ในสภาพที่แห้งแล้ง มีฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ชอบดินร่วนซุย ที่มีการระบายน้ำได้ดี ในสภาพน้ำขัง หรือมีฝนตกชุก จะมีโรคโคนเน่าระบาด จึงเหมาะสมที่จะปลูกในที่ดอน ส่วนปอคิวบาเป็นปอที่ทนต่อความแห้งแล้งได้น้อยกว่าปอแก้ว สภาพที่ฝนทิ้งช่วง จะทำให้ปอคิวบาชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ปอคิวบายังต้องการดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าปอแก้ว แต่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพน้ำขัง เช่น ในนาข้าว เนื่องจากมีความต้านทานต่อโรคโคน เน่าได้ดี ปอคิวบาจึงเป็นพืชที่ปลูกได้ก่อนปลูก ข้าวในนา ปอกระเจาเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้ง ได้น้อยกว่า ปอแก้วและปอคิวบา มีความต้องการ ดินที่อุดมสมบูรณ์มาก ปอกระเจาจึงไม่สามารถ ขึ้นกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป ได้ ปอกระเจาฝักยาว ส่วนใหญ่จะปลูกกัน บริเวณริมแม่น้ำโขงที่มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์ มาก มีฝนตกทั่วไปตลอดฤดูปลูก เช่น ในเขตจังหวัดหนองคาย และสกลนคร ส่วนปอกระเจาฝักกลมสามารถปรับตัวได้ดีกว่าปอกระเจาฝักยาว สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพที่แห้งแล้ง หรือน้ำขังได้ดีกว่า ในอดีตได้พบว่า ปลูกมากในเขตภาคกลาง ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้ทำเชือกมัดฟ่อนข้าว แต่ปัจจุบันการปลูกปอกระเจาฝักกลมมีเพียงเล็กน้อย

การเตรียมดินเป็นการกำจัดวัชพืชแ ละเพิ่มพูนคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้มีอากาศถ่ายเท และสามารถเก็บความชื้นได้ดี การเตรียมดินในการปลูกปอ ก็เหมือนกับการเตรียมดินของพืชไร่อื่นๆ คือ เริ่มไถ เมื่อฝนตกครั้งแรก ประมาณเดือนเมษายน แต่ไม่ควรไถในช่วงที่ดินเปียกเกินไป เพราะจะทำให้ดินอัดตัวแน่น มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี มีโรคระบาดได้ง่าย ควรไถดะ และไถแปรอย่างละ ๑ ครั้ง และไถลึก ประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ก็เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของปอ สำหรับการเตรียมดินของ ปอกระเจาจะต้องมีการเตรียมให้หน้าดินเรียบ สม่ำเสมอ เนื่องจากปอกระเจามีเมล็ดขนาดเล็ก ไหลตามน้ำได้ง่าย เมื่อเวลาฝนตก น้ำฝนจะชะเมล็ด ไหลมารวมกันขึ้นเป็นกลุ่มในที่ต่ำ ไม่กระจายออกทั่วแปลง นอกจากนี้ต้องทำให้หน้าดินละเอียดพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดปอกระเจาตกลงไปลึกระหว่างก้อนดิน ทำให้การงอกของปอไม่สม่ำเสมอ

การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง
การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17


ค. วิธีปลูก 

การปลูกปอให้ได้ผลิตผลสูง ควรปลูกให้มีจำนวนต้นปอต่อไร่อยู่ระหว่าง ๕๓,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ต้นต่อไร่ ถ้าปลูกให้มีจำนวนมากกว่านี้ ผลิตผลก็ไม่เพิ่มขึ้น แต่ขนาดของลำต้นจะเล็กลง เนื่องจากการแข่งขันกันเอง ทำให้เสียเวลาในการเก็บเกี่ยว และแช่ฟอก ทั้งอาจจะมีการระบาดของโรคและแมลงได้ง่าย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าปลูกปอให้มีจำนวนน้อยกว่าที่กำหนด ปอจะแตกกิ่ง และล้มง่าย มีปัญหาเรื่องวัชพืชมาก และผลิตผลต่ำ ตามปรกติการปลูกปอนิยมปลูกอยู่ ๒ วิธี คือ

๑. การปลูกเป็นแถว 

โดยมีการปลูกที่ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว ๓๐ เซนติเมตร ระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร ปอ ๑ ต้นต่อหลุม แต่การปลูกโดยวิธีนี้ ทำให้ปลูกได้ช้า เสียค่าใช้จ่ายมาก อาจปลูกโดยโรยเมล็ดปอเป็นแถว เพิ่มระยะระหว่างแถวเป็น ๕๐ เซนติเมตร สำหรับปอ แก้วใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา ๓ กิโลกรัมต่อไร่ และปอกระเจาใช้ในอัตราประมาณ ๐.๕ กิโลกรัม ต่อไร่ ข้อดีของการปลูกเป็นแถวคือทำให้ดูแล รักษาได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้มีการถ่ายเท อากาศได้ดี ลดโอกาสการระบาดของโรคและ แมลงลงได้ 

๒. การปลูกแบบหว่าน 

เป็นวิธีการที่กสิกร ปฏิบัติกันมาก เพราะสามารถปลูกได้เร็ว ใช้แรงงานน้อย วิธีการนี้จะเหมาะสมในสภาพที่มีวัชพืชรบกวนน้อย แต่ถ้าเกิดโรคขึ้นในแปลงปลูก โรคจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าการปลูกเป็น แถว สำหรับอัตราเมล็ดพันธุ์ที่แนะนำให้กสิกร หว่านคือ ปอแก้วใช้ในอัตรา ๓ กิโลกรัมต่อไร่ ปอกระเจาใช้ในอัตรา ๐.๕-๑.๐ กิโลกรัมต่อไร่

ง. การดูแลรักษา 

ตามปกติปอเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ต้องการการดูแลรักษาไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่นๆ สำหรับการดูแลรักษาโดยทั่วไป ได้แก่ การถอนแยก เพื่อให้ปอคงประชากรในแปลงปลูกประมาณ ๕๓,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ต้นต่อ ไร่ การถอนแยกโดยทั่วๆ ไป จะทำเมื่ออายุไม่ เกิน ๒๐ วัน ทำพร้อมกับการกำจัดวัชพืชและ ใส่ปุ๋ย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินมีความ อุดมสมบูรณ์ต่ำควรใช้ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ ใน อัตรา ๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ในขณะที่ดินยัง มีความชื้นอยู่ 

แมลงที่ระบาดเป็นประจำ และเป็นศัตรูสำคัญของปอแก้ว และปอคิวบา ได้แก่ เพลี้ยจักจั่น แมลงชนิดนี้จะพบทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบาดรุนแรง เมื่อฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ตามปกติระบาดสูงในช่วงเดือนมิถุนายน- กันยายน แมลงทำลายปอโดยการดูดน้ำเลี้ยง ใต้ใบ ทำให้ใบปอเหลือง ซีดและม้วนลง เป็นผล ให้ปอชะงักการเจริญเติบโต ถ้าระบาดในช่วง ปอมีอายุน้อยต้นปออาจตายได้ ปอแก้วทนต่อ การทำลายของเพลี้ยจักจั่นได้ดีกว่าปอคิวบา การระบาดของแมลงชนิดนี้จะหายไป เมื่อมีฝนตก สำหรับปอกระเจา หนอนคืบเป็นอันตรายร้ายแรงที่สุด ทำลายโดยกัดกินใบให้เป็นรูพรุน ปอจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าระบาดในช่วงปอออกดอก ก็จะไม่มีผลต่อผลิตผลปอ
 

โรคโคนเน่า
ต้นปอที่เป็นโรคโคนเน่า
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

โรคโคนเน่า (Collar rot) 

เป็นอันตราย และทำความเสียหายให้แก่ปอแก้วมากที่สุด พบได้ในแหล่งปลูกทุกๆ ที่ โรคนี้เกิดจากเชื้อรา ไฟทอฟทอรา ไมโคเทียมี พรรณ พาราสิติคา (Phytophthora micotiame Var. Parasitica) ที่อาศัยอยู่ในดิน เชื้อรานี้สามารถเข้าทำลายปอได้ทุกช่วงอายุ แต่โดยทั่วไปจะพบในช่วงที่ปอใกล้ออกดอก และช่วงที่มีฝนตกชุก โรคนี้ทำให้ปอเหี่ยวและตายได้ ปอคิวบาต้านทานต่อโรคนี้ได้ดีกว่าปอแก้ว จึงสามารถปลูกในสภาพชื้นแฉะได้ แต่ปอคิวบาอ่อนแอต่อโรครากปม (Root knot) ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยที่พบว่า ระบาดมากในดินร่วนปนทรายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ปลูกปอคิวบาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมีจำกัด

 

ต้นปอที่เน่า
ต้นปอที่เน่า
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

โรคเน่าคอดิน (Damping-off) 

เกิดจากเชื้อรามาโครฟอมินา คอร์โคไร (ฟาริโอลินา) (Macrophomina Corchori (phareolina) ซึ่งสามารถอาศัยอยู่ในดินตามซากพืช หรือติดมากับเมล็ด เชื้อรานี้ระบาดมากในช่วงฝนตก และอากาศอบอ้าว ป้องกันได้โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่ไม่ เป็นโรคและปลูกปอแต่เนิ่นๆ 

จ. การเก็บเกี่ยว 

ปอเป็นพืชเส้นใยที่ได้ผลิตผลจากส่วนของเปลือกของลำต้น ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวปอแก้ว และปอคิวบา ที่ทำให้ได้เส้นใยที่มีคุณภาพ และผลิตผลดี คือ ระยะที่ปอออกดอกประมาณร้อยละ ๕๐ สำหรับปอกระเจาควรเก็บเกี่ยว เมื่อปอติดฝักอ่อน ถ้าเก็บเกี่ยวปอช้ากว่าระยะนี้แล้ว ปอจะแก่และเปลือกเหนียว เก็บเกี่ยวได้ยากขึ้น เส้นใยหยาบกระด้างและต้องใช้เวลาแช่ฟอกนานขึ้น ถ้าเก็บเกี่ยวก่อนกำหนดผลิตผลจะลดลง แลเส้นใยไปกับการแช่ฟอก เนื่องจากปอเป็ยพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสง จึงจำเป็นจะต้องปลูก ให้มีเวลาที่ปอสามารถเจริญเติบโตทางลำต้นยาวนานที่สุด เพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุด

ฉ. การลอกเส้นใย 

เป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่จะแยกส่วนของเส้นใยออกจากส่วนของลำต้นและเปลือก สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับการนำประโยชน์ไปใช้ วิธีการลอกทำให้เกิดเส้นใย ๔ ชนิด คือ 

๑. เส้นใยปอกลีบแห้ง 

ได้จากการลอก เปลือกของต้นปอออกจากแกนต้น เรียกว่า ปอกลีบ นำไปตากให้แห้ง จะได้ปอกลีบแห้ง ซึ่งจะไม่เห็นส่วนของเส้นใย ใช้มัดของแทนเชือก วิธีนี้ไม่นิยมใช้ และได้ราคาต่ำกว่าปอฟอก เนื่องจากมีส่วนของเปลือก ซึ่งไม่ใช่เส้นใยติดอยู่ด้วย

๒. เส้นใยปอกลีบขูดผิว 

ได้จากการลอกเปลือกต้นปอออกจากแกนแล้ว ขูดผิวด้านนอกออก ก่อนนำไปตากแดด เส้นใยนี้สามารถนำไปทอกระสอบได้ แต่มีผู้ผลิตน้อย เนื่องจากใช้แรงงาน และเวลามาก 

๓. เส้นใยปอกลีบสดฟอก 

ได้จากการ นำปอกลีบ ซึ่งลอกจากแกนต้นด้วยมือ หรือเครื่องลอก ไปแช่ในน้ำให้เปื่อย แล้วนำมาฟอกเป็นเส้นใย เป็นวิธีการที่พัฒนาไปใช้สำหรับบริเวณที่มีน้ำค่อนข้างน้อย 

 

ผึ่งต้นปอ
การผึ่งต้นปอให้ใบร่วงและมีน้ำหนักเบาขึ้น เพื่อสะดวกในการขนย้ายไปแช่ฟอก
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๔. เส้นใยปอฟอก 

ได้จากการนำต้นปอทั้งต้น ไปทำให้เปื่อย โดยใช้จุลินทรีย์ แล้วฟอกให้ได้เส้นใย

 

ไร่ปอคิวบาในนาข้าว
ไร่ปอคิวบาในนาข้าว
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ปัจจุบันเส้นใยปอฟอกเป็นที่ต้องการมาก ในอุตสาหกรรมทอกระสอบ การผลิตปอฟอก ทำได้ ๓ วิธี คือ 

๑. การแช่ฟอกต้นปอ 

เป็นการแช่ต้นปอ ในแหล่งน้ำ และเป็นวิธีการผลิตของเกษตรกรในปัจจุบัน ก่อนฟอกต้องมัดต้นปอ เพื่อความสะดวกในการขนส่ง มัดให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด ๑ คืบ หรือ ๒๐-๒๕ เซนติเมตร มัดเป็นจำนวน ๒-๓ เปลาะ แล้วแต่ความยาวของต้นปอ ทิ้งไว้ในแปลงประมาณ ๒-๓ วัน เพื่อให้ใบร่วง ลงบำรุงดินและลดน้ำหนักการขนส่ง การมัดปอ ให้มีขนาดพอดีจะทำให้ปอเปื่อยพร้อมกันทั้งมัด การแช่เริ่มจากการตั้งมัดปอให้ทางโคนจมอยู่ ใต้น้ำเป็นเวลา ๒-๓ วัน เพื่อให้ปอเปื่อยพร้อม กันทั้งต้น หากแช่พร้อมกันยอดปอจะเปื่อยได้ เร็วกว่าทางโคน ทำให้สูญเสียเส้นใย การแช่ ควรวางมัดปอลงในน้ำตามแนวราบเป็นแถว ซ้อนกัน ในชั้นแรกวางให้โคนไปทางเดียวกัน ชั้นต่อไปจึงวางยอดสลับกับโคน การซ้อนแถว ปอ มักซ้อนกันไม่เกิน ๓ ชั้น แล้วจมต้นปอ ด้วยหินหรือเสาคอนกรีต ให้ต้นปอจมอยู่ใต้น้ำไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร ถ้าแช่ปอในแหล่งน้ำธรรมชาติ การเน่าเปื่อยที่เหมาะสมกับการฟอก ใช้เวลาประมาณ ๑๔-๒๑ วัน ทั้งนี้ขึ้นกับอุณหภูมิของน้ำ ถ้าอากาศเย็นจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น จากนั้น นำขึ้นมาลอก จะลอกได้ทั้งต้นเดี่ยวและทั้งมัด เมื่อลอกออกแล้วนำไปฟอก คือ ล้างน้ำ โดยฟาด กับน้ำเพื่อทำให้เส้นใยสะอาด จากนั้นจึงนำเส้นใย ไปตากบนราวไม้ไผ่ประมาณ ๒-๓ วัน เส้นใย ที่ได้จากวิธีนี้อาจมีคุณภาพเลว หากเกษตรกรจม ต้นปอด้วยก้อนดินหรือจมต้นปอจนใกล้โคลน จะทำให้เส้นใยที่ได้มีสีคล้ำ ทั้งยังทำให้แหล่งน้ำ ตื้นเขินและเน่าเสีย

๒. การแช่ฟอกปอกลีบสด 

เป็นการนำเฉพาะปอกลีบสดที่ลอกด้วยมือหรือใช้เครื่องลอก ไปแช่ในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้อย การตัดต้นปอ และการลอกปอกลีบสด ควรทำในวันเดียวกัน ก่อนแช่ต้องเรียงหัวปอให้เสมอกัน แล้วมัดเป็นเปลาะๆ เพื่อไม่ให้ปอพันกันยุ่ง ทำให้ ง่ายต่อการทำความสะอาด การแช่ไม่ควรให้ ส่วนของปอกลีบสัมผัสพื้นบ่อ โดยแช่ปอให้ มีปริมาณเหมาะสมกับปริมาณน้ำในบ่อ หรือใช้แกนปอที่ลอกแล้ว รองก้นบ่อก่อน (วิธีนี้ทำให้บ่อตื้นเขินเร็ว) ใช้เวลาแช่ประมาณ ๑๕-๒๐ วัน แล้วจึงล้างทำความสะอาด และนำเส้นใยไปตากให้แห้ง เส้นใยที่ได้เรียกว่า "ปอกลีบสดฟอก"

๓. การแช่ฟอกเส้นใยจากต้นปอฝังดิน 

เป็นการฝังปอทั้งต้นในดิน เพื่อให้จุลินทรีย์ในธรรมชาติเข้าไปทำให้เปลือกปอเน่าเปื่อย วิธีนี้เหมาะสำหรับบริเวณที่ไม่มีแหล่งน้ำ หรือไกลจากแหล่งน้ำที่ใช้แช่ปอ ทำได้โดยฝังปอในหลุมลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ความยาวหลุม เท่าความยาวของต้นปอ ความกว้างแล้วแต่ ปริมาณปอที่มีอยู่ วางต้นปอในหลุมเป็นชั้นๆ แล้วเอาดินกลบบนชั้นปอแต่ละชั้น และกลบปากหลุมให้แน่น รดน้ำทุกวัน เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้เร็วขึ้น ใช้เวลาประมาณ ๓๐ วัน จึงขุดดินออก และนำมาลอกเส้นใยออกจากแกนต้น แล้วล้างน้ำให้สะอาด และตากให้แห้งต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow