Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การนวดไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
2,923 Views

  Favorite

การนวดไทย

      การนวดไทยหรือหัตถเวชกรรมไทยเป็นศาสตร์และศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่สำคัญของหลักวิชาการแพทย์แผนไทยในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ การนวดไทยในปัจจุบันเป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้ผ่านการบูรณาการร่วมกับองค์ความรู้ของศาสตร์การแพทย์ในระบบการแพทย์อื่น ๆ จนพัฒนาเป็นการนวดไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ
 

การแพทย์แผนไทย
การนวดตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยเป็นการนวดเพื่อบำบัดรักษาและเพื่อผ่อนคลาย

 

      การนวดไทยเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการตรวจ การวินิจฉัย การบำบัด การส่งเสริม และการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง การประคบ และการอบทั้งนี้ตามหลักวิชา การแพทย์แผนไทย การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร รวมทั้ง กายบริหารฤๅษีดัดตน ก็จัดเป็นองค์ความรู้ในวิชาการนวดไทยด้วย  การนวดไทยอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ การนวดเพื่อผ่อนคลายและการนวดเพื่อบำบัดรักษา การนวดเพื่อผ่อนคลายเป็นการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายส่วนการนวดเพื่อบำบัดรักษาเป็นการนวดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการบำบัดโรคหรือรักษาผู้ป่วย เช่น นวดแก้สะบักจม นวดแก้คอเคล็ด

 
 

      นอกจากนั้นการนวดไทยยังอาจมีลีลาวิธีการนวดแตกต่างกันไป ๒ แบบ คือ การนวดแบบราชสำนักและการนวดแบบเชลยศักดิ์ การนวดแบบราชสำนักแต่เดิมเป็นการนวดเพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก การถ่ายทอดวิธีการนวดแบบนี้ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างละเอียดถี่ถ้วนมีขั้นตอนในการสอนโดยเน้นที่จรรยามารยาทในการนวด ปัจจุบันนำมาใช้บำบัดโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ส่วนการนวดแบบเชลยศักดิ์หรือแบบทั่วไปเป็นการนวดแบบสามัญชนใช้การสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยการฝึกฝนและการบอกเล่ามีแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่นประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมของครูนวด แต่เดิมการถ่ายทอดศาสตร์การนวดไทยแบบนี้มักสอนและเรียนกันตามบ้านของครูนวดแต่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนกันทั่วไปตามสถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย

การแพทย์แผนไทย
การนวดตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยเป็นการนวดเพื่อบำบัดรักษาและเพื่อผ่อนคลาย

 

      ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยนั้นร่างกายคนเราประกอบด้วย "เส้น" หรือ "เอ็น" หรือ "เส้นเอ็น" จำนวนมาก ภายในเส้นเหล่านี้จะเป็นทางไหลเวียนของ "เลือด" และ "ลม" ซึ่งในภาวะปกติจะไหลเวียนอย่างสมดุลหากมีการอุดกั้นหรือขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและลมดังกล่าวก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยและมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดเมื่อย มึนงง ท้องอืดเฟ้อ แพทย์แผนไทยก็จะบำบัดความเจ็บป่วยหรืออาการต่าง ๆ ด้วยการใช้ยาหรือด้วยการนวดโดยการกด คลึง บีบ ดัด และดึง ตามจุดและเส้นที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้เลือดและลมไหลเวียนเป็นปกติ
 

การแพทย์แผนไทย
การนวดตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยเป็นการนวด เพื่อบำบัดรักษา และเพื่อผ่อนคลาย
การแพทย์แผนไทย
การนวดตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยเป็นการนวด เพื่อบำบัดรักษา และเพื่อผ่อนคลาย
 

 

๑. เส้นประธานสิบ    

      เป็นเส้นหลักที่สำคัญของร่างกายมีรวม ๑๐ เส้น เส้นประธานทั้ง ๑๐ เส้น มีจุดเริ่มต้นบริเวณรอบ ๆ สะดือ แล้วแยกกันไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปสิ้นสุดที่อวัยวะต่าง ๆ ได้แก่เส้นดังต่อไปนี้

 

๑) เส้นอิทา
      เป็นเส้นประธานที่เริ่มจากบริเวณสะดือแล่นลงไปบริเวณหัวเหน่าลงไปตามต้นขาข้างซ้ายจนถึงหัวเข่าแล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบแนวกระดูกสันหลังด้านซ้ายแล่นกระหวัดขึ้นบนศีรษะแล้วกลับมาสิ้นสุดที่จมูกด้านซ้าย 
๒) เส้นปิงคลา
      เป็นเส้นประธานที่มีทางเดินเริ่มจากบริเวณสะดือแล่นลงไปบริเวณหัวเหน่าลงไปตามต้นขาข้างขวาจนถึงหัวเข่าแล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบแนวกระดูกสันหลังด้านขวาแล่นกระหวัดขึ้นบนศีรษะแล้วกลับมาสิ้นสุดที่จมูกด้านขวา
๓) เส้นสุมนา
      เริ่มจากบริเวณสะดือแล้วแล่นตรงขึ้นไปในทรวงอกขั้วหัวใจขึ้นไปตามลำคอสิ้นสุดที่โคนลิ้น
๔) เส้นกาลทารี 
      เริ่มจากบริเวณสะดือแล้วแยกออกเป็น ๔ เส้น โดย ๒ เส้นขึ้นไปตามสีข้าง ต้นแขน ต้นคอ ศีรษะ แล้ววกกลับลงมาตามแนวหลังแขนทั้ง ๒ ข้าง จากนั้นแยกออกไปตามนิ้วมือทั้ง ๒ ข้าง อีก ๒ เส้นลงไปตามหน้าแข้งจนถึงข้อเท้าแล้วแตกออกไปตามนิ้วเท้าทั้ง ๒ ข้าง
๕)  เส้นสหัศรังสี  
      เริ่มจากบริเวณสะดือลงไปต้นขาและแข้งด้านในตลอดไปจนถึงฝ่าเท้า ผ่านต้นนิ้วเท้าซ้ายทั้ง ๕ นิ้ว แล้วย้อนกลับขึ้นมาตามหน้าแข้งของขาข้างซ้าย ไปเต้านมซ้าย เข้าไปใต้คาง ลอดขากรรไกรข้างซ้าย ไปสิ้นสุดที่ตาข้างซ้าย 
๖) เส้นทวารี  
      เริ่มจากบริเวณสะดือลงไปต้นขาและแข้งด้านในตลอดไปจนถึงฝ่าเท้าผ่านต้นนิ้วเท้าขวาทั้ง ๕ นิ้ว แล้วย้อนกลับขึ้นมาตามหน้าแข้งของขาข้างขวา ไปเต้านมขวา เข้าไปใต้คาง ลอดขากรรไกรข้างขวา ไปสิ้นสุดที่ตาข้างขวา
๗) เส้นจันทะภูสัง  
      เริ่มจากบริเวณสะดือขึ้นไปราวนมข้างซ้ายผ่านไปที่คอ คาง และไปสิ้นสุดที่หูข้างซ้าย
๘) เส้นรุชำ  
      ที่เริ่มจากบริเวณสะดือขึ้นไปราวนมข้างขวาผ่านไปที่คอ คาง และไปสิ้นสุดที่หูขวา
๙) เส้นสุขุมัง 
      เริ่มจากบริเวณสะดือไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก
๑๐) เส้นสิกขินี  
      เริ่มจากบริเวณสะดือไปที่หัวเหน่า ทวารเบา และสิ้นสุดที่อวัยวะเพศ

 

การแพทย์แผนไทย
เส้นและจุดสำหรับนวดเพื่อการบำบัดโรคพึงแก้อาการต่าง ๆ (จากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕)

 

๒. การประคบสมุนไพร

      การประคบสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพวิธีหนึ่งซึ่งนอกจากจะแก้ปวดเมื่อยในสตรีหลังคลอดลูกและช่วยแก้นมคัดทำให้น้ำนมเดินสะดวกดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อการผดุงครรภ์ไทย การประคบสมุนไพรยังมักใช้คู่กับการนวดไทยโดยมักใช้หลังการนวดเพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดอาการปวด ลดการเกร็งตัว ของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดการบวมอันเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ 

การแพทย์แผนไทย
การนึ่งลูกประคบให้ร้อน

 

      สมุนไพรที่ใช้เตรียมเป็นลูกประคบได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน การบูร และพิมเสน โดยมีไพลกับการบูรเป็นตัวยาสำคัญที่ขาดไม่ได้ตัวยาที่เป็นส่วนของพืชจะใช้ของสดเพราะให้ผลดีกว่าใช้ของแห้ง วิธีการเตรียมลูกประคบทำได้โดยการเอาตัวยาสมุนไพรมาตำรวมกันพอแหลกใส่การบูรและพิมเสนลงไปคลุกเคล้ากันห่อผ้าขาวรัดด้วยเชือกให้แน่น

การแพทย์แผนไทย
ตัวยาที่ใช้ทำลูกประคบ

 

      เมื่อจะใช้ให้เอาลูกประคบวางไว้บนปากหม้อดินที่มีไอน้ำร้อนจนลูกประคบร้อนตามต้องการแล้วใช้ประคบหลังการนวดหรือสลับกับการนวดในกรณีแก้ปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอกใช้ประคบหลังการนวดซึ่งอาจทำ ๑ วัน เว้น ๒ วัน ส่วนกรณีใช้กับสตรีหลังคลอดลูกใช้ลูกประคบ ๓ ลูก โดยนั่งทับ ๑ ลูก อีก ๒ ลูก ใช้ประคบตามร่างกายและเต้านมประคบทุกวันจนนมหายคัดซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง ๗ วัน

๓. การอบสมุนไพร

      การอบสมุนไพรเป็นการดูแลสุขภาพตามภูมิปัญญาไทยอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งนอกจากจะใช้กับสตรีหลังคลอดลูกเหมือนการประคบสมุนไพรแล้วยังมักใช้ควบคู่กับการนวดไทย หลักการของการอบสมุนไพรคือการต้มสมุนไพรกับน้ำจนเดือดเพื่อให้ไอน้ำหรือน้ำมันหอมระเหยสัมผัสกับผิวหนังและเข้าสู่ร่างกายโดยทางผิวกายและการหายใจ  ไอน้ำร้อนจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ช่วยขยายรูขุมขนทำให้ร่างกายขับเหงื่อและของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกาย ทำให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้น ละลายเสมหะและทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดการอักเสบและบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้นและช่วยลดการระคายเคืองในลำคอ

 

การแพทย์แผนไทย
การอบสมุนไพรในกระโจม มักใช้คู่กับการนวดไทย

 

สมุนไพรที่ใช้ในการอบสมุนไพรแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ  
      (๑) กลุ่มมีน้ำมันหอมระเหย เช่น ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ข่า กระทือ ว่านน้ำ ตะไคร้ กะเพรา ใบหนาด ช่วยให้จมูกโล่ง ขยายหลอดลม และฆ่าเชื้อบางชนิด  
      (๒) กลุ่มมีรสเปรี้ยวซึ่งมักมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย มะกรูด ช่วยชำระสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง  
      (๓) กลุ่มสารระเหิดแล้วมีกลิ่นหอม เช่น พิมเสน การบูร ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและแก้โรคผิวหนังบางชนิด   
      (๔) กลุ่มที่ใช้เพื่อการบำบัดเฉพาะโรคหรืออาการ เช่น ผักบุ้งขัน เหงือกปลาหมอ ผักชีล้อม สำหรับแก้โรคผิวหนัง  

      สำหรับสตรีหลังคลอดลูกการอาบหรืออบสมุนไพรจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นและช่วยขับน้ำคาวปลาเมื่อใช้ร่วมกับการนวดไทยจะช่วยแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ และช่วยคลายเครียด การอบสมุนไพรยังใช้ร่วมกับการนวดในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ดี นอกจากนั้นการอบสมุนไพรยังอาจช่วยควบคุมน้ำหนักช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดอาการเซื่องซึมในผู้ติดยาเสพติด ทั้งนี้การใช้สมุนไพรบางครั้งอาจใช้ทั้งอบและอาบซึ่งจะให้ผลรวดเร็วขึ้น

๔. ฤๅษีดัดตน

      ฤๅษีดัดตนเป็นกายบริหารอันเป็นภูมิปัญญาไทยแขนงหนึ่งอาจจัดอยู่ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนวดไทยเนื่องจากใช้หลักการดัดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและการบริหารลมหายใจเป็นหลักโดยอาจมีการนวดผสมผสานอยู่ด้วยในบางท่า  กายบริหารแบบฤๅษีดัดตนมีท่าต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกายซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าจึงช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ลดความตึงของเอ็น ประสาท และกล้ามเนื้อ ช่วยให้การเคลื่อนไหวของร่างกายคล่องแคล่ว จิตใจสบาย คลายความตึงเครียด
 

การแพทย์แผนไทย
ท่ากายบริหารแบบฤๅษีที่ดัดตนเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนวดไทยที่ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย

 

      ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อบูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทยว่าฤๅษีเป็นนักบวชพวกหนึ่งมีมาก่อนพุทธกาลสละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตเพื่อแสวงหาความสุขสงบตามป่าเขาด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนา การนั่งสมาธิอยู่เป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีอาการปวดเมื่อยการไหลเวียนของ "เลือด" และ "ลม" ตามเส้นต่าง ๆ เกิดติดขัดจนเกิดโรคและอาการต่าง ๆ ตามมา การดัดตนจึงช่วยบรรเทา ผ่อนคลาย และฟื้นฟูสมรรถนะของร่างกายให้เป็นปกติ ศาสตร์ฤๅษีดัดตนของไทยอาจมีส่วนที่คล้ายกับศาสตร์โยคะของอินเดียแต่ท่าฤๅษีดัดตนของไทยส่วนใหญ่เป็นท่าที่สุภาพไม่ผาดโผน หรือฝืนตนจนรุนแรงเกินไป ท่าดัดตนของไทยเหล่านี้มักเป็นท่าดัดตามอิริยาบถของคนไทยซึ่งสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ง่าย

 

การแพทย์แผนไทย
รูปปั้นฤาษีดัดตนที่เขามอ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ

 

      ประวัติความเป็นมาของกายบริหารแบบฤๅษีดัดตนที่ปรากฏนั้นเริ่มเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (ปัจจุบันคือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตำรายาและรูปปั้นฤๅษีท่าดัดตนเพื่อเป็นวิทยาทานแก่พสกนิกรแต่รูปปั้นที่จัดสร้างในคราวนั้นปั้นด้วยดินจึงเสียหายเสื่อมโทรมไปได้ง่าย ต่อมาในพ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปฤๅษีดัดตนด้วยชิน (สังกะสีผสมดีบุก) จำนวน ๘๐ ท่า ตั้งไว้ตามศาลารายให้บุคคลต่าง ๆ ร่วมแต่งโคลงสี่สุภาพบรรยายวิธีดัดตนและประโยชน์จารึกไว้ประกอบท่าฤๅษีดัดตนแต่ละท่าที่ปั้นไว้โดยพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย ๖ บท  การปั้นท่ากายบริหารเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพโดยใช้ "ฤๅษี" เป็นแบบนั้นเพราะคนไทยล้วนรู้ว่าฤๅษีเป็นผู้บำเพ็ญศีลภาวนา ท่าทางที่ฤๅษีบริหารร่างกายจึงน่าเชื่อถือและน่าจะได้ผลดีอีกทั้งศาสตร์ต่าง ๆ ของไทยเคารพนับถือฤๅษีเป็นครู การใช้ฤๅษีเป็นแบบจึงเป็นอุบายที่แยบคายเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและความขลัง 

 

การแพทย์แผนไทย
กายบริหารแบบฤๅษีดัดตน ใช้ "ฤๅษี" เป็นแบบเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow